OCSC Wiki

คลังกลางความรู้ด้าน HR

User Tools

Site Tools


จรรยาบรรณวิชาชีพภาครัฐกับการพัฒนาประเทศ

จรรยาบรรณวิชาชีพภาครัฐกับการพัฒนาประเทศ

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมได้รับอีเมล์พร้อมไฟล์แนบมาฉบับหนึ่ง ที่อธิบายว่าทำไมประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วยนั้น จึงยังไม่สามารถพัฒนาให้ก้าวหน้าเหมือนประเทศตะวันตก ทั้งที่มีศักยภาพที่จะทำได้ เชื่อว่าหลายคนที่รับส่งอีเมล์เป็นประจำอาจจะรู้สึกคุ้นหรือเคยผ่านตาไปแล้วบ้าง ไฟล์นี้มีจุดที่น่าสนใจจึงอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง ให้ผู้อ่านได้รับทราบไปพร้อมๆ กันครับ

ประเด็นแรกที่มีการกล่าวถึงคือ อารยธรรมหรือความเจริญตั้งแต่ยุคโบราณไม่ได้มีผลต่อความระดับของการพัฒนา จะเห็นได้จากอียิปต์หรืออินเดียที่ทุกคนต่างรู้ดีว่าเป็นประเทศที่เก่าแก่ มีอารยธรรมที่เด่นชัดมาอย่างยาวนาน แต่ยังคงเป็นประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนาอยู่เลย แตกต่างจากประเทศที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ อย่างแคนาดา ออสเตรเลีย หรือนิวซีแลนด์ ที่มีอายุไม่กี่ร้อยปี แต่สามารถพัฒนาจนปัจจุบันกลายมาเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยมากของโลกได้

ประเด็นถัดมาคือ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรไม่ได้เป็นตัวกำหนดความสามารถในการพัฒนาของแต่ละประเทศ มีการยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา จึงไม่เหมาะกับการทำเกษตรกรรม และไม่มีทรัพยากรธรรมชาติมากนัก แต่สามารถพัฒนาจนเป็นประเทศส่งออกสินค้าทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกได้ หรือกรณีประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีอากาศหนาวเย็น ไม่สามารถปลูกพืชเขตร้อนอย่างโกโก้ได้ แต่กลับเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในฐานะผู้ส่งออกช็อคโกแลตชั้นนำของโลก

ในอีกด้านหนึ่ง เชื้อชาติและสีผิว ก็ไม่มีผลต่อระดับการพัฒนาของประเทศเช่นกัน มีการพิสูจน์ว่าประเด็นดังกล่าวไม่มีผลต่อสติปัญญา คนเชื้อชาติใดก็สามารถพัฒนาได้เท่าเทียมกัน โดยยกตัวอย่างว่าคนๆ หนึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นได้เมื่อไปอยู่ในอีกสภาพแวดล้อมหนึ่ง

เมื่อประเด็นที่กล่าวมาล้วนไม่มีอิทธิพลต่อระดับการพัฒนา แล้วอะไรคือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความแตกต่าง ข้อสรุปที่ได้คือ ทัศนคติของแต่ละคนที่ผ่านการศึกษาและการอบรม ผู้คนจากชาติที่พัฒนาแล้วจะมีวิถีชีวิตที่ยึดหลักสำคัญๆ เช่น การใช้จริยธรรมนำทาง ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบในงาน การเคารพกฎระเบียบ การประหยัดอดออม ความรักในงานที่ทำ และความทะเยอทะยาน ซึ่งทัศนคติเหล่านี้คนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามักจะถือปฏิบัติหรือไม่ให้ความสนใจ ทัศนคติของแต่ละบุคคลก็เป็นส่วนที่กำหนดศักยภาพในการพัฒนาของประเทศ คำถามสำหรับภาคราชการซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายต่างๆ ของประเทศ จึงอยู่ที่ว่าบุคลากรที่เรามีอยู่ได้มีการปรับทัศนคติให้พร้อมเป็นแรงขับเคลื่อนได้มากเพียงใด สำนักงาน ก.พ. ในฐานะที่เป็นผู้ดูแลทรัพยากรบุคคลในภาคราชการได้มีความพยายามที่จะปลูกฝังทัศนคติและค่านิยมที่ดีในหมู่ข้าราชการมาโดยตลอด โดยเฉพาะด้านจรรยาบรรณ หรือ Ethics ที่เป็นหลักแห่งความประพฤติของผู้ปฏิบัติวิชาชีพ ผ่านการกำหนดแนวทางพื้นฐานในการสร้างความเข้าใจในเนื้อหาและความหมายของจรรยาบรรณ รวมถึงการสร้างการยอมรับและการเกิดจิตสำนึกผูกพันกับจรรยาบรรณที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ ที่ผ่านมาได้มีการกำหนดจรรยาบรรณวิชาชีพ สำหรับผู้ที่ทำงานด้านบริหารทรัพยากรบุคคลที่เป็นเหมือนกลไกสำคัญสำหรับการบริหารกำลังคนของแต่ละหน่วยงานเอาไว้ โดยกำหนดใช้คำว่า TRUSTS เป็นคำกำกับ ซึ่งย่อมาจาก

T = Treating others with Integrity, Legality and Non-Discrimination in HRM

สุจริตใจ ไม่เลือกปฏิบัติ

R = Reliable Proficiency and Continuous Learning in HR Professionals

พัฒนาความสามารถ

U = Upholding Confidentiality and Information Sharing

ไม่ประมาทเรื่องข้อมูลข่าวสาร

S = Stably being Role Model in HR Ethic code

เป็นมาตรฐานด้านจรรยาบรรณ

T = Thoughtfulness in Handling Conflicts of Interests in HRM

ไม่เกี่ยวพันผลประโยชน์สิ่งใด

S = Support Others to Have Balancing of Work & Life

ใส่ใจคุณภาพชีวิตที่ดี

คำว่า TRUSTS มีความหมายว่า ไว้วางใจ ซึ่งสำนักงาน ก.พ. หวังว่า หากข้าราชการสามารถยึดมั่นในหลักจรรยาบรรรณนี้ได้ ก็จะช่วยให้ผู้ที่มาติดต่อด้วย มีความไว้วางใจ และเชื่อมั่น ว่าได้รับการบริการที่ถูกต้อง เป็นธรรม ในขณะที่องค์กรเองก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน คือ การได้รับการยอมรับและความเชื่อถือ รวมทั้งสามารถพัฒนาประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ซึ่งสามารถเอื้อต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตได้

ร.ท. สิทธิชัย ตัณฑสิทธิ์

สำนักตรวจสอบและประเมินผลกำลังคน

มีนาคม 2551

จรรยาบรรณวิชาชีพภาครัฐกับการพัฒนาประเทศ.txt · Last modified: 2018/05/21 09:34 by weshayun