ที่ นร 1006/ว 16
สำนักงาน ก.พ.
ถนนติวานนท์ จังหวัดนนทบุรี 11000
28 กรกฎาคม 2558
เรื่อง การบริหารงานบุคคลในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เรียน (เวียนกระทรวง กรม และจังหวัด)
อ้างถึง
1. หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 1 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2551
2. หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 7 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2552
3. หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0711/ว 12 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2533
4. หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1004/ว 5 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2556
ตามหนังสือที่อ้างถึง 1 และ 2 ก.พ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์การบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ปฏิบัติงานในหน้าที่ประจำในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรณีพิเศษ นั้น
บัดนี้ ก.พ. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการบริหารทรัพยากรบุคคลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของส่วนราชการ และเพื่อสร้างขวัญ กำลังใจ และแรงจูงใจให้แก่ข้าราชการพลเรือนสามัญ ที่ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ปฏิบัติงานในหน้าที่ประจำในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งต้องปฏิบัติงานในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 8 (3) และมาตรา 132 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป ไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ สำหรับพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดสตูล และใน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำนสะบ้าย้อย เพื่อให้ส่วนราชการใช้ถือปฏิบัติเพิ่มเติม ดังนี้
1. ส่วนราชการสามารถพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญที่ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับชำนาญงาน ที่มีคุณวุฒิตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งประเภทวิชาการ แต่มีคุณสมบัติต่างไปจากคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ ในส่วนของการดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ ได้ โดยไม่ต้องดำเนินการตามหนังสือที่อ้างถึง 3 แต่ให้จัดทำข้อเสนอแนวคิด วิธีการพัฒนา/การแก้ปัญหางานที่ดำเนินการอยู่ในพื้นที่ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มาประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งนี้ ผู้นั้นต้องมีคุณสมบัติประการอื่น ได้แก่ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และ/หรือมีคุณวุฒิเพิ่มเติมตามที่ ก.พ. กำหนด (ถ้ามี) ด้วย
2. ส่วนราชการสามารถพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญที่ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงาน ไปดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ ได้ โดยข้าราชการผู้นั้นจะต้องมีผลการสอบแข่งขันได้ในสายงานที่จะแต่งตั้ง หรือมีผลการคัดเลือกในสายงานที่จะแต่งตั้งตามหนังสือที่อ้างถึง 4 ด้วย โดยไม่ต้องรอให้ถือลำดับที่เรียกบรรจุก่อน
ทั้งนี้ การดำเนินการตามข้อ 1 และข้อ 2 ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้
1) ข้าราชการที่จะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง จะต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดสตูล หรือปฏิบัติงานในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย ติดต่อกันมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี
2) ส่วนราชการต้องมีตำแหน่งที่จะแต่งตั้ง และให้สามารถดำเนินการไปจนกว่ากฎ ก.พ. ว่าด้วยการย้าย การโอน หรือการเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งออกตามความในมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 จะใช้บังคับ
3) เมื่อข้าราชการผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแล้วผู้นั้นจะต้องอยู่ปฏิบัติงานในพื้นที่ต่อไปเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี เว้นแต่มีเหตุผลความจำเป็นเป็นพิเศษ
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ ได้แจ้งให้กรมและจังหวัดต่าง ๆ ทราบด้วยแล้ว
ขอแสดงความนับถือ
(นายนนทิกร กาญจนะจิตรา)
เลขาธิการ ก.พ.
สำนักตรวจสอบและประเมินผลกำลังคน
โทร. 0 2547 1000 ต่อ 6307 และ 6704
โทรสาร 0 2547 1603