OCSC Wiki

คลังกลางความรู้ด้าน HR

User Tools

Site Tools


เย็นไว้โยม

เย็นไว้โยม

ท่านผู้อ่านเคยรู้สึกขัดแย้งกับตัวเองไหมครับ เคยรู้สึกสองจิตสองใจตัดสินใจไม่ถูกบ้างหรือไม่ ลองดูภาพด้านล่างนี้นะครับแล้วลองตอบตัวเองดูว่าเป็นภาพของกบหรือม้า

แม้กระทั่งตัวของเราเองเพียงคนเดียวบางทียังไม่สามารถตัดสินใจอะไรที่เด็ดขาดไปได้เลย รู้สึกสับสนว่าจะเลือกทางไหนดี เหตุผลต่าง ๆ นานาผุดขึ้นมาในสมองน้อย ๆ แต่ท้ายที่สุดเราก็จะสามารถตัดสินใจลงไปได้เองว่าเราต้องการจะทำอะไร เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นตั้งแต่สองคนขึ้นไป แน่นอนว่าการตัดสินใจที่จะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งย่อมที่จะยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งนี้ก็เพราะว่ามนุษย์แต่ละคนจะมีความแตกต่างกันทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ ซึ่งความแตกต่างดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นเนื่องจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมที่แต่ละคนผ่านประสบการณ์เหล่านั้นมา โดยที่ความแตกต่างนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้มุมมองของคนแต่ละคนแตกต่างกันไปด้วย

ภายในองค์กรก็เช่นกัน เมื่อคนหลายคนมาทำงานร่วมกันโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะต้องทำให้องค์กรบรรลุพันธกิจที่ตั้งไว้ เมื่อคนที่มีมุมมองแตกต่างกันต้องมาร่วมกันกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ความขัดแย้งย่อมเป็นเรื่องที่มิอาจที่จะหลีกเลี่ยงได้เลย และเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นมาแล้ว ผลกระทบก็ย่อมเกิดอยู่กับองค์กรเป็นแน่แท้ หากว่าไม่ได้รับการแก้ไข หรือหากว่าได้มีการแก้ไขแต่เป็นการแก้ไขที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ได้รับการยอมรับ เป็นการแก้ไขโดยอาศัยอำนาจที่เหนือกว่าของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายแล้ว ความขัดแย้งไม่ลงรอยก็จะทวีคูณกลายเป็นความเกลียดชัง ซึ่งจะทำให้ปัญหาลุกลามบานปลายจนยากเกินกว่าจะแก้ไขได้ แต่ถ้ารู้วิธีที่จะแก้ไขความขัดแย้ง รู้จักนำเอาความขัดแย้งดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ องค์กรก็จะได้รับประโยชน์จากความขัดแย้งนั้นเช่นกัน ทั้งนี้ เนื่องจากทุกสิ่งบนโลกนี้ล้วนมีสองด้าน ความขัดแย้งก็เช่นกัน ที่ไม่ได้มีเพียงข้อเสียเพียงอย่างเดียว ในองค์กรหนึ่งองค์กรใดหากบุคลากรทุกคนมีความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกันทุกเรื่องแล้ว องค์กรนั้นมีโอกาสที่จะประสบความล้มเหลวค่อนข้างสูง เนื่องจากจะเป็นองค์กรที่มีโลกทัศน์แคบ มีมุมมองไม่หลากหลาย มองเห็นโอกาสหรือความผิดพลาดเพียงด้านใดด้านหนึ่ง แต่หากองค์กรนั้น ๆ มีบุคลากรที่มีมุมมองที่หลากหลาย ซึ่งความหลากหลายนั้นอาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมา แต่บนความขัดแย้งนั้น ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรด้วยเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ความขัดแย้งก่อให้เกิดมุมมองที่หลากหลาย ทำให้เห็นถึงข้อดีข้อเสียได้ในหลายมิติ ทำให้การวางแผนวางนโยบายในการทำงานเป็นไปโดยรอบคอบมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดแรงกระตุ้นในการทำงานของแต่ละบุคคลเพื่อที่จะหาเหตุผล หลักการ และวิธีการต่างๆมาสนับสนุนแนวความคิดของตนเองซึ่งจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คำถามที่ตามมาก็คือ เมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้นมาแล้ว จะมีวิธีการอย่างไรเพื่อที่จะยุติความขัดแย้งนั้นได้โดยที่ทุกฝ่ายยอมรับ และสามารถแปรเปลี่ยนความขัดแย้งดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

วิธีการแก้ไขความขัดแย้งในเชิงของการบริหารงานบุคคลนั้นมีมากมายหลากหลายวิธี

ทั้งของไทยเองหรือแม้กระทั่งของต่างประเทศ แต่ละวิธีก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย บางวิธีอาจจะสามารถนำมาปรับใช้กับองค์กรหนึ่งได้ แต่ไม่เหมาะสมที่จะนำมาปรับใช้กับอีกองค์กรหนึ่ง ซึ่งการที่จะฟันธงไปเลยว่าวิธีการแก้ไขความขัดแย้งแบบไหนเป็นวิธีการที่ดีสุดสำหรับองค์กรหนึ่งองค์กรใดเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย แต่ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า มีวิธีการที่น่าจะได้ผลจีรังยั่งยืนที่สุด ที่สามารถนำมาปรับใช้แก่องค์กรต่าง ๆ ได้ ซึ่งบางทีพวกเรากลับลืมนึกถึงไป ทั้งที่เป็นแนวทางที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วเป็นร้อยเป็นพันปีแล้วว่ามีประสิทธิภาพ และสามารถนำมาปฏิบัติได้จริง วิธีที่ว่านั้นก็คือการแก้ไขความขัดแย้งตามแนวทางของพระพุทธศาสนา

ผู้เขียนเคยได้ฟังคำสอนของท่าน ว.วชิรเมธี เกี่ยวกับหลักธรรมสำคัญที่ควรนำมาเป็นเข็มทิศในการวิวาทะอย่างอารยะ (อารยวิวาทะ) แล้ว เห็นว่าหากสามารถนำมาปรับใช้กับตัวเองและกับองค์กรได้แล้ว ก็น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากในการดำรงตนและการทำงาน โดยท่านให้ยึดแนวทาง สันติ โดยกระทำการทุกขั้นตอนบนพื้นฐานของสันติวิธี ขันติ อย่าตกเป็นทาสของอารมณ์, อย่าลุแก่อำนาจ, อย่าลุแก่โทสะ เมตตา มองดูฝ่ายที่เห็นต่างจากเราด้วยสายตาแห่งไมตรีจิตมิตรภาพ สุทธิ มีความบริสุทธิ์ใจต่อการแก้ปัญหาทุกขั้นตอน อหิงสา อย่าปฏิบัติการเบียดเบียน ทำร้ายผู้อื่น ปัญญา ใช้หลักการและเหตุผลในการแก้วิกฤตการณ์, หลีกเลี่ยงการชักจูงให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่ผู้ร่วมงาน ปิยวาจา สื่อสารต่อกันและกันและต่อสาธารณะด้วยการพูดอย่างมีสติ มัชฌิมาปฏิปทา ไม่มุ่งสู่ภาวะตีบตันสุดโต่งในทุกๆ ด้านจนไร้ทางออก สติ ขอให้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา

ทีนี้เรามาลองทำแบบทดสอบจำลองสถานการณ์กันดูนะครับว่าถ้าเจอเหตุการณ์ดังต่อไปนี้ ท่านจะนำแนวทางที่ท่านว.วชิรเมธี สอนไว้ มาแก้ไขความขัดแย้งและเปลี่ยนความขัดแย้งนั้นนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับองค์กรของท่านได้อย่างไร

ท่านกับนายชอบคิดและนางช่างถามได้รับมอบหมายให้คิดแผนการขายผลิตภัณฑ์ ให้ได้มากขึ้น 10 % ภายในระยะเวลา 2 เดือน นายชอบคิดเสนอให้เพิ่มงบประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่างๆเพิ่มขึ้นอีก 10 % นางช่างถามไม่เห็นด้วยเนื่องจากหากทำเช่นนั้นบริษัทก็จะไม่ได้อะไรขึ้นมาเลยเนื่องจากเงินที่ได้จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นจะหมดไปกับงบประชาสัมพันธ์ ทั้งสองคนต่างถกเถียงกันถึงข้อดีข้อเสีย ตามแนวทางที่ตนเองนำเสนอ หากท่านจะแก้ไขความขัดแย้งดังกล่าวท่านจะนำคำสอนข้อใดมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้ดีที่สุด หากท่านได้คำตอบแล้วลองไปให้คนข้างท่านลองทำดูแล้วลองเปรียบเทียบดูนะครับว่าได้รับคำตอบตรงกันหรือไม่ แล้วลองส่งต่อให้คนต่อไปลองหาคำตอบดูด้วยนะครับ แตกต่างใช่ไหมครับ แต่ไม่แตกแยก เพราะตอนนี้สติเต็มร้อย เมตตาก็เต็มเปี่ยม พูดจาไพเราะตามแบบฉบับปิยวาจา

รู้สึกใช่ไหมครับว่าถ้านำเอาหลักธรรมคำสอนข้างต้นมาปรับใช้แล้วเกิดประโยชน์มากแค่ไหน ดังนั้น ถ้าหากว่าทุกคนรู้จักนำหลักธรรมคำสอนตามหลักศาสนา (ทุกศาสนา) มาประยุกต์ใช้ทั้งกับตนเองและผู้อื่นแล้ว ตัวท่านเอง องค์กรของท่าน สังคมและรวมถึงประเทศชาติก็จะเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข ไม่มีเหลือง ไม่มีแดง มีแต่เพื่อนสนิท มิตรสหาย อมิตตาพุธ

อำนวยชัย โฆษิตพานิชยกุล

สำนักพิทักษ์ระบบคุณธรรม สำนักงาน ก.พ.

มกราคม 2553

เย็นไว้โยม.txt · Last modified: 2018/05/22 09:49 by weshayun