OCSC Wiki

คลังกลางความรู้ด้าน HR

User Tools

Site Tools


90years:d1:2476:บทบาท_ก.พ

บทบาท ก.พ. ด้วยสำนึกในหน้าที่

จากพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๗๖ กำหนดให้ ก.พ. มีบทบาทหน้าที่เพิ่มขึ้นจาก ก.ร.พ. หลายประการ นอกจากมีหน้าที่ในการกำหนดหลักสูตรและวิธีการสอบแข่งขัน วิธีไต่สวนพิจารณาและอบรมข้าราชการพลเรือน และจัดการศึกษาของนักเรียนทุนรัฐบาลฝ่ายพลเรือนที่ส่งไปเล่าเรียน ณ ต่างประเทศ แล้ว ก.พ. ยังมีหน้าที่ในการกำหนดเงินเดือนขั้นต่ำและขั้นสูงของตำแหน่งต่าง ๆ ออกข้อบังคับกำหนดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนรัฐพาณิชย์และข้าราชการพลเรือนในพระองค์ กำหนดวิธีคัดเลือกในตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ซึ่งมิอาจบรรจุจากผู้สอบแข่งขันได้ พิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีและปลัดกระทรวง ออกข้อบังคับว่าด้วยการแต่งตั้ง เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือน และการออกจากตำแหน่งของข้าราชการรัฐพาณิชย์ อนุมัติให้บรรจุข้าราชการพลเรือนวิสามัญ

ต่อมาพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๗๙ ได้เพิ่มเติมหน้าที่ของ ก.พ. จากเดิม อีก ๓ ประการ คือ

  • เปลี่ยนระบบกำหนดเงินเดือนข้าราชการจากที่เคยกำหนดตามตำแหน่งมากำหนดตามชั้น ซึ่งกำหนดให้มีประจำตัวข้าราชการเป็นชั้นจัตวา – ตรี – โท – เอก และชั้นพิเศษ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามชั้นที่กำหนดให้
  • ให้ ก.พ. มีหน้าที่กำหนดจำนวนแห่งอัตราเงินเดือนในแต่ละกรมว่ามีอัตราชั้นเท่าใด
  • กระจายอำนาจปฏิบัติการในการบริหารงานบุคคลไปยังกระทรวง ทบวง กรมให้มากขึ้น โดย ก.พ. มีบทบาทหน้าที่เน้นหนักไปในทางออกกฎ หลักเกณฑ์ และวิธีการต่าง ๆ ส่วนการพิจารณาอนุมัติและปฏิบัติการบางอย่างได้กระจายอำนาจไปให้กระทรวง ทบวง กรม และจังหวัด เช่น การสอบแข่งขันวิชาข้าราชการพลเรือน ซึ่งเดิมให้ ก.พ. ดำเนินการ เปลี่ยนเป็นให้ อ.ก.พ. กระทรวง กรม และ อ.ก.พ. จังหวัด เป็นผู้จัดสอบ ส่วน ก.พ. เพียงแต่กำหนดหลักสูตรและวิธีการสอบ เป็นต้น
90years/d1/2476/บทบาท_ก.พ.txt · Last modified: 2018/03/20 10:16 by buntarika.i