OCSC Wiki

คลังกลางความรู้ด้าน HR

User Tools

Site Tools


90years:d3

ทศวรรษที่ ๓ (พ.ศ. ๒๔๙๑ – ๒๕๐๐)

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๙๕

ได้เปลี่ยนหลักการให้ ก.พ. มีบทบาทหน้าที่หนักไปในทางออกกฎ และกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการต่าง ๆ เพื่อให้กระทรวง ทบวง กรม ปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ ยังมีสาระสำคัญในเรื่องการเพิ่มประเภทข้าราชการพลเรือนอีก ๒ ประเภท คือ ข้าราชการตำรวจ และข้าราชการครู และกำหนดให้การตั้งกรรมการ ก.พ. ผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี ซึ่งเดิมกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๔๗๖ กำหนดให้ ก.พ. ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่า ๕ คน แต่ไม่เกิน ๗ คน ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นด้วยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนมีการปรับปรุงให้ ก.พ. ไม่ต้องมีหน้าที่ในการกำหนดจำนวนแห่งอัตราเงินเดือนในกระทรวงต่าง ๆ ดังแต่ก่อน แต่ให้มีอำนาจในการกำหนดว่า ตำแหน่งใด ควรจะได้รับเงินเดือนในชั้นใด อันดับใด เว้นแต่ตำแหน่งที่แต่งตั้งจาก ข้าราชการชั้นพิเศษ ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนด

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๙๗

เพิ่มหน้าที่ของ ก.พ. โดยให้มีอำนาจในการตีความวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ อันเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้บังคับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน รายงานนายกรัฐมนตรีในกรณีที่ปรากฏว่า กระทรวง ทบวง กรม ไม่ได้ปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่เหมาะสม เพื่อนายกรัฐมนตรีจะได้มีคำสั่งให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง นอกจากนี้ ยังให้มี อ.ก.พ. ภาค เพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่ตั้งภาคขึ้น รวมทั้งเพิ่มข้าราชการประจำต่างประเทศพิเศษอีกประเภทหนึ่ง

ส่วนหน้าที่พิจารณาจัดแบ่งส่วนราชการตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายนั้น ก.พ. คงปฏิบัติอยู่ตามเดิม และเพิ่มหน้าที่การพิจารณาอนุมัติบุคคลในอัตราว่างประจำแผนกและเสมียนที่คณะรัฐมนตรีมีมติห้ามบรรจุอีกด้วย

90years/d3.txt · Last modified: 2018/03/19 09:42 by buntarika.i