ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้มีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๙๗ โดยได้ปรับปรุงให้หัวหน้าส่วนราชการส่วนกลางเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาสั่งเลื่อนอันดับและขั้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสำหรับในส่วนภูมิภาค แทนผู้ว่าราชการจังหวัดได้ ซึ่งต่างไปจากเดิมที่กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณาและสั่งเลื่อน เนื่องจากได้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการงบประมาณใหม่ โดยตั้งงบประมาณไว้ที่ราชการส่วนกลาง
นอกจากนี้ ยังได้โอนหน้าที่พิจารณาการจัดแบ่งส่วนราชการและการอนุมัติให้บรรจุบุคคลในอัตราว่าง ไปให้คณะที่ปรึกษาระเบียบบริหารที่คณะรัฐมนตรีตั้งขึ้น แต่คณะที่ปรึกษาระเบียบบริหารดังกล่าวไม่มีเจ้าหน้าที่ของตัวเอง ต้องใช้เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ก.พ. และเจ้าหน้าที่ของสำนักงบประมาณร่วมกันเป็นผู้วิเคราะห์และเสนอแนะผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาการจัดแบ่งส่วนราชการ ก่อนเสนอคณะที่ปรึกษาระเบียบบริหาร
ส่วนหน้าที่พิจารณาตั้งอัตราเงินเดือนเพิ่มใหม่นั้น บางขณะก็ให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง บางขณะก็ให้เป็นหน้าที่ของ ก.พ. บางขณะก็ให้พิจารณาร่วมกัน แต่เมื่อตั้งสำนักงบประมาณขึ้นแล้ว ก็พ้นจากหน้าที่ของ ก.พ. ตกเป็นหน้าที่ของสำนักงบประมาณแห่งเดียว
ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้มีการปรับปรุงพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๙๗ อีกครั้งหนึ่ง ในส่วนของการปรับปรุงบัญชีอัตราเงินเดือนให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น เช่น ข้าราชการชั้นเอก อันดับ ๑ รับเงินเดือนในอัตรา ๒,๗๕๐ – ๓,๓๕๐ บาท เป็นต้น