ทศวรรษแห่งการส่งเสริมจริยธรรม
สังคมไทยในอดีต มีการปลูกฝังอบรมกล่อมเกลา คุณธรรม จริยธรรมผ่านสถาบันหลักๆ ที่รู้จักกันดีในนามของ “บวร” หรือ บ้าน วัด โรงเรียน แต่เมื่อสังคมขยายใหญ่ขึ้น ภาระของการสร้างบรรทัดฐานในสังคม จึงขยายไปสู่สถาบันสื่อมวลชน องค์กร และสถาบันอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ตระหนักถึงปัญหาด้านจริยธรรมมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผลการสำรวจวิจัยทัศนคติเรื่องการโกง อีกส่วนหนึ่งมาจากผลการสำรวจขององค์กรด้านความโปร่งใสนานาชาติ รวมทั้งปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่ได้ประสบมาจากสภาพความเป็นจริงในสังคม
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สังคมไทยมีการรวมตัวกันระหว่างข้าราชการ ประชาชน สื่อมวลชนและองค์กรเพื่อรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ภายใต้มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่ศูนย์ส่งเสริมจริยธรรม สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงาน ก.พ. จังหวัดนนทบุรี
ในช่วงเดือนธันวาคม 2552 มูลนิธิฯ ได้จัดงานนิทรรศการ โดยมี 26 โรงเรียนในกรุงเทพฯ ร่วมจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการทำความดีเพื่อพ่อของแผ่นดิน หนึ่งในกิจกรรมการส่งเสริมจริยธรรมที่น่าสนใจ คือกิจกรรมของโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ หอวัง นนทบุรี ซึ่งมีโครงการ ธนาคารความดี โดยการบันทึกความดีไว้ในสมุดธนาคารเช่นเดียวกับสมุดเงินฝากธนาคารทั่วไป แต่แทนที่จะฝากเงิน เป็นการฝากความดี ซึ่งในสลิปใบฝากความดีได้จำแนกประเภทความดีไว้ 5 ประเภทคือ
01 มีวินัย มีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา รู้หน้าที่ วิถีประชาธิปไตย ปฏิบัติตามหลักธรรมเบื้องต้นแต่ละศาสนา
02 คือ เมตตา กรุณา มีน้ำใจ ซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน อดทน กตัญญู
03 คน ประหยัด อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
04 คือ มีมารยาทแบบไทย เชิดชูวัฒนธรรมไทย นิยมไทย
05 คือ ความใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ริเริ่มสร้างสรรค์ มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่สมบูรณ์ ไม่พัวพันกับยาเสพติด
โดยแยกคะแนนเพื่อตนเองได้ 1 คะแนน ทำเพื่อคนรอบข้างได้ 2 คะแนน ทำเพื่อสังคมส่วนรวมได้ 3 คะแนน เมื่อผู้ฝากมีคะแนนสะสมความดีตามเกณฑ์ที่กำหนด จะได้รับการประกาศเชิดชู ยกย่องและทุนการศึกษา “คนดีศรีหอวังนนท์” ปีละครั้ง หลายโรงเรียนทำกิจกรรมเช่นนี้ในโรงเรียนตัวเอง ด้วยรูปแบบและเกณฑ์ที่แตกต่างกันไป แต่มีลักษณะเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน เช่น วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง ลดโลกร้อน ธนาคารขยะ ธนาคารขวด นวัตกรรมบนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ
สำหรับโครงการ “ธนาคารความดี” นี้ นอกจากส่วนหนึ่งจะเป็นการส่งเสริมจริยธรรมแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นการวัดจริยธรรมระดับบุคคลแบบง่าย ที่เห็นได้ชัดเจนตรงไปตรงมา ผลจากการสัมภาษณ์นักเรียน พบว่า โครงการที่มีลักษณะเช่นนี้เป็นที่สนใจของนักเรียนเป็นอย่างดีโดยเฉพาะระดับประถมถึงมัธยมต้น สามารถกระตุ้นการทำความดี ให้กำลังใจและเป็นตัวอย่างของเด็กนักเรียน โดยมีกิจกรรมอื่นๆ ประกอบด้วย ทั้งการสร้างหลักสูตรในแบบเรียน วิชาศาสนา สังคม การบำเพ็ญประโยชน์ แต่สำหรับนักเรียนระดับมัธยมปลาย ระดับมหาวิทยาลัย และคนทำงานหลังจากจบการศึกษา อาจจะต้องมีวิธีการอบรมกล่อมเกลาที่แตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสมของแต่ละกลุ่ม เนื่องจากเป้าหมายและมุมมองของแต่ละคนมีความแตกต่างกันไป การให้คะแนนหรือการทำความดีเพื่อหวังผลตอบแทนอาจไม่ใช่เป้าหมายที่สำคัญที่สุด ทำให้ภาคสังคมเข้ามามีบทบาทรับช่วงต่อจากโรงเรียน โดยสถาบันสื่อมวลชน องค์กรและสถาบัน ในการสร้างบรรทัดฐาน กล่อมเกลาปลูกฝังจริยธรรมให้เกิดในสังคม ในต่างประเทศก็มีตัวอย่างของการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม เช่น เกาหลี ซึ่งมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงในปัจจุบัน ผลงานวิจัยเรื่องความขัดแย้งในสังคม ของ Prof. Jaeyeol Yee (2009) ระบุว่า แม้สังคมเกาหลีจะมีความสามารถในระดับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ยังคงมีปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องความพึงพอใจในชีวิต โดยสังคมเกาหลีมีความรู้สึกไว้ใจคนในครอบครัวมากที่สุด รองลงมาคือ ญาติพี่น้อง หน่วยงาน โรงเรียน เจ้าของร้านขายของ สังคมเกาหลีเอง สังคมโลก ประธานาธิบดีของเขา ระบบยุติธรรม คนงานต่างชาติ รัฐบาล และรัฐสภา และคนแปลกหน้า ตามลำดับ ปัญหาจากความทันสมัย ทำให้เกิดผลกระทบในทางผิดพลาดคือ เกิดความตึงเครียด ความรุนแรง และความแปลกแยกในสังคม
ความไม่ไว้ใจทางสังคม รวมถึงความขัดแย้งทางสังคมเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความไว้วางใจโดยทั่วไปกับความโปร่งใสมักจะไปในทิศทางเดียวกัน และสะท้อนถึงการบริหารจัดการของรัฐบาล โดยเกาหลีมีการจัดทำดัชนีชี้วัดจริยธรรมเป็นประจำทุกปี เพื่อสำรวจสถานภาพที่แท้จริงของการคอร์รัปชันและความโปร่งใสภายในประเทศ โดยออกแบบสอบถามเก็บข้อมูลจากประชาชนและข้าราชการ มีคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรม ทัศนคติ การรับรู้ และประสบการณ์ในการคอร์รัปชัน เช่น เคยจ่ายสินบนกี่ครั้ง จำนวนเท่าไร เพื่อการใด เพื่อกระตุ้นให้ส่วนราชการตระหนักถึงความโปร่งใสในสังคมมากขึ้น
เช่นเดียวกับในประเทศไทย โดยเฉพาะในส่วนราชการ มีการสำรวจมาตรฐานความโปร่งใสของส่วนราชการต่างๆ รวมทั้งการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนเงินเดือนในแต่ละปี ซึ่งเป็นการวัดจริยธรรมรายบุคคล และวัดมาตรฐานความโปร่งใสในรายองค์กร รวมทั้งยังกำลังมีการสำรวจสถานภาพของจริยธรรมในส่วนราชการปัจจุบัน ที่แสดงถึงสภาพความเป็นจริงของสังคมอีกด้วย
สังคมไทย อาจจะถึงเวลาเปลี่ยนทัศนคติจากเดิมที่เคยช่วยกันสอดส่องดูผู้กระทำผิด และเกิดความท้อแท้ต่อสถานภาพ หันมายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้องและยกย่องดูแลผู้ที่กระทำในสิ่งที่ถูกต้องเป็นธรรมมากขึ้น และร่วมกันให้กำลังใจหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่กำลังต้านทานการทุจริตและรักษาคุณธรรมจริยธรรมอย่างจริงจัง และขอให้ยืนหยัดความเชื่อมั่นว่า “ธรรมย่อมรักษาและคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม” ความเชื่อมั่นของประเทศจะกลับคืนมาอย่างแน่นอน
ดร. ขนิษฐา สารพิมพา
ศูนย์ส่งเสริมจริยธรรม สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงาน ก.พ.
มีนาคม 2553