บริหารคน บนกระแสโลกาภิวัตน์ (สูตร 1) : Why + How = Wow!
บนสังคมความรู้ ยุคสมัยที่ “คน” “ความรู้” และ “เครือข่าย” เป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จ ทั้ง Jonas Ridderstrale และ Mark Wilcox สองกูรูด้านการบริหารและการพัฒนาคนจากทวีปยุโรป เจ้าของผลงานหนังสือเล่มล่าสุด Re-energizing The Corporation: How Leaders Make Change Happen ต่างมีความเห็นร่วมกันว่า นิยามแห่งการบริหารคนดีมีความสามารถ (Talent Management) ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้ว
การเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้นทั้งสองกูรูได้หมายถึง กลยุทธ์ของการบริหารคนบนกระแสโลกาภิวัตน์เพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงแข่งขันขององค์การที่ประสบความสำเร็จในวันพรุ่งนี้ อาจเป็นเรื่องของการสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมในการทำงาน สร้างให้องค์การมีสถานะแห่งการเป็นหน่วยงานทางเลือกของคนรุ่นใหม่ (Employer Of Choice)
“ในบริบทการแข่งขันบนโลกยุคใหม่ที่ไร้พรมแดน หมอกควันจากสงครามแย่งชิงคนเก่งคนดี (War For Talent) ระหว่างองค์การในภาคส่วนต่างๆ เริ่มจางลง องค์การหลายแห่งเริ่มได้รับบทเรียนกันแล้วว่า การตั้งเงินเดือนสูงๆ เพื่อใช้เป็นอาวุธฟาดฟัน แข่งขันกับหน่วยงานอื่นๆ ในการแย่งชิงคนเก่ง อาจเป็นนโยบายการบริหารคนที่ไม่มีวันชนะ” Ridderstrale และ Wilcox ต่างแสดงความเห็นในบทสัมภาษณ์ โดย Rebecca Johnson จาก People Management magazine ฉบับเดือนมีนาคม เผยแพร่ในเว็บไซต์ http://www.peoplemanagement.co.uk ซึ่ง กระแสคน กระแสโลก ขอถอดรหัสแนวคิดจากบทสัมภาษณ์ดังกล่าว มานำเสนอให้ท่านได้เห็นถึงอีกหนึ่งแนวคิดเกี่ยวกับการบริหารคนยุคโลกาภิวัตน์ ที่การนำไปปฏิบัติอาจช่วยพลิกฟื้น เศรษฐกิจ สังคม และธุรกิจ ให้กลับคืนสู่ความเข้มแข็งขึ้นอีกครั้งไม่มากก็น้อย
“ถ้าคุณสร้างมัน พวกจะมาเอง” พวกเขาใช้คำพูดล้อเลียนประโยคเด็ดจากภาพยนตร์ Field Of Dreams ที่มีเควิน คอสเนอร์ แสดงเป็นเจ้าของไร่ข้าวโพดเป็นหนี้ท่วมหัว ผู้ตัดสินใจถางไร่ของเขาจนเตียนเพื่อสร้างสนามเบสบอลด้วยความหวังว่านักเบสบอลในความฝันของเขาจะได้มาใช้เล่นกันอย่างสนุกสนาน และเป็นอิสระ “คนทำงานรุ่นใหม่ ชอบที่จะได้อยู่ในสภาพการทำงานที่แวดล้อมด้วยกลุ่มคนเก่งๆ ในบรรยากาศที่ต่างคนต่างเคารพและให้เกียรติในความสามารถของกันและกัน”
ไม่ต่างจากแนวคิดหลักที่นำเสนอไว้อย่างต่อเนื่องในหนังสือสองเล่มของพวกเขาที่ขายดีติดอันดับทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา หนึ่งในนั้นคือหนังสือ Funky Business : Talent Makes Capital Dance (2001) ที่เสนอว่า ในการก้าวสู่มิติใหม่ของการทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ผู้บริหารต้องโยนทิ้งกฎเกณฑ์ สูตรสำเร็จเกี่ยวกับศาสตร์ของการบริหารงานและการบริหารคนแบบเก่าออกไป เพราะในโลกยุคปัจจุบัน ความสามารถและความได้เปรียบเชิงแข่งขัน มิได้เกิดขึ้นจาก “การสร้างมาตรฐาน” แต่หากเกิดขึ้นจากความสามารถในการสร้างความแตกต่าง การแปลงพลังความคิดให้เป็นทุน การเปิดมุมมองใหม่ในสินค้าและบริการในแบบที่เป็นเอกลักษณ์ สนุกสนาน และท้าทาย โดยมีวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตเพื่อความสำเร็จ ไม่ใช่เรื่องของสิ่งของ แต่เป็นเรื่องของ “คน” และ “วิธีคิดของคน”
หนังสือติดอันดับขายดีเล่มที่สอง Karaoke Capitalism : Daring to Be Different in a Copycat World (2004) ที่เขียนเสียดสี เปรียบเปรยโลกธุรกิจได้อย่างเห็นภาพว่า ในปัจจุบันนี้ น้อยนักที่เราจะเห็นนวัตกรรมทางการบริหารในการนำองค์การ เพราะการแข่งขันในโลกธุรกิจ กลับไม่ต่างอะไรจากการแข่งขันร้องคาราโอเกะ ที่เราพบแต่ความสำเร็จแบบฉาบฉวย และไม่มีวันพบกับคำว่า ความสำเร็จอย่างแท้จริงได้ ตราบที่เราไม่ได้เล่นและร้องเพลงที่เป็นของเราเอง
เมื่ออนาคต ล้วนเต็มไปด้วยเรื่องที่ “เกินคาดเดา” ซึ่งพร้อมจะพลิกผันสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ในตลอดเวลาในแบบที่ไม่มีใครอาจหยั่งรู้คาดเดาได้อย่างแท้จริงว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปจากนี้ผู้นำองค์การส่วนใหญ่ อาจคิดว่า อาจไม่ง่ายนักในการตอบคำถามที่ว่า “จะเตรียมตัว เตรียมคน เตรียมองค์การ สำหรับอนาคตกันอย่างไร ในเมื่อเราไม่อาจรู้เลยว่า อนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร”
แต่กระนั้น สิ่งเลวร้ายยิ่งกว่าที่เกิดขึ้นในองค์การก็คือ การที่ผู้นำองค์การส่วนใหญ่ กลับพยายามประคับประคององค์การให้มีสภาพที่หยุดนิ่ง ควบคุม จัดการระบบการบริหารภายในไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง Ridderstrale และ Wilcox กลับมีความเห็นในทางตรงข้าม และเสนอแนวความคิดของเขาว่า ในบริบทของการเปลี่ยนแปลงที่มีความไม่แน่นอนและมีสิ่งที่ไม่อาจคาดเดาเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เรากลับต้องเร่งสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นภายในองค์การ เปิดพื้นที่ภายใน สร้างความยืดหยุ่น ความคล่องตัว เตรียมพร้อมรองรับกับการเปลี่ยนแปลงภายนอกที่เราไม่รู้ว่าจะมีอะไรมา เมื่อไร ? อย่างไร ? โดยอาศัยพลังความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ค่านิยม วัฒนธรรมความเชื่อใหม่ ที่ขับเคลื่อนโลกอยู่ในขณะนี้ ซึ่งถ้าผู้นำองค์การไม่รู้จักใช้พลังเหล่านี้ขับเคลื่อนตัวเอง ขับเคลื่อนคน ขับเคลื่อนองค์การ เพื่อความก้าวหน้าอย่างมีสมดุล พลังเหล่านี้ก็จะกลับกลายเป็นตัวขับเคลื่อนคนและองค์การให้กลายเป็นเหยื่อของกระแสอยู่ตลอดไป
การฉกฉวยโอกาสจากคุณลักษณะของสังคมความรู้ พัฒนาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และแนวโน้มของการปรับเปลี่ยนค่านิยมทางการบริหารจัดการที่มุ่งสู่ทิศทางของการกระจายอำนาจ นำไปสู่รูปแบบการบริหารจัดการแบบใหม่ ที่เห็นความสำคัญและยอมรับในคุณค่าของ “คน” ในองค์การอย่างแท้จริง บทบาทหน้าที่ใหม่ของผู้นำองค์การ จึงไม่ใช่เรื่องของ “การสั่งการ”
ให้คนทำงานทำอะไรต่อมิอะไร (What) อีกต่อไปแต่หากเป็นเรื่องของ “การสื่อสาร” สร้างความเข้าใจ สร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันว่า ทำไม (Why) เรา (องค์การ) จึงต้องทำเช่นนั้น และด้วยเหตุผลในการทำเช่นนั้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายทุกระดับจะได้อะไร คู่ขนานไปกับการเร่งสร้างกลไกสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนา กลไกเครื่องมือ สภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสมภายใต้นโยบายของการกระจายอำนาจการบริหาร ความสำเร็จอย่างแท้จริงขององค์การก็จะเกิดขึ้น จนคุณต้องร้อง Wow!! ก็เมื่อผู้นำสามารถทำให้คนในองค์การผสมผสานคำว่า “ทำไม (Why)” กับคำว่า “อย่างไร (How)” บังเกิดเป็นวิธีคิด วิธีการทำงานแบบใหม่ นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมของคนทำงานและองค์การ ที่สามารถตอบสนองลูกค้าผู้รับบริการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความสำเร็จและความล้มเหลวขององค์การได้อย่างลงตัว
ม.ล. พัชรภากร เทวกุล
พฤษภาคม 2551