“ผู้นำ” พัฒนาได้… เริ่มต้นง่ายนิดเดียว
เมื่อกล่าวถึง “ผู้นำ” หลายๆ คนอาจนึกไปถึงภาพของผู้นำที่มีชื่อเสียง อาทิเช่น อเล็กซานเดอร์ ผู้ยิ่งใหญ่ มหาตะมะคานธี มาร์กาเร็ต เทชเชอร์ ริชาร์ด แบรนสัน หรือบารัก โอบาม่า ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนปัจจุบัน และมองว่าการเป็นผู้นำนั้นคงเป็นเรื่องยากและห่างไกลจากชีวิตของเรา แต่… ท่านเคยลองย้อนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองหรือไม่ว่า “เราสามารถเป็นผู้นำได้ หรือไม่?” บางท่านอาจตอบทันทีว่า “ปัจจุบัน..ก็เป็นผู้นำอยู่แล้ว” บางท่านอาจบอกว่า “ได้แน่นอน..หากผู้บริหารแต่งตั้งให้” และบางท่านอาจตอบว่า “น่าจะได้..แต่ขอเวลาพัฒนาก่อน” หรือ “น่าจะได้..แต่ต้องรออาวุโสก่อน” ซึ่งไม่ว่าคำตอบของท่านจะเป็นอย่างไร ข่าวดีอย่างหนึ่ง คือ ทุกคนสามารถเป็นผู้นำได้โดยไม่ต้องรอตำแหน่ง ไม่ต้องรออาวุโส
เพียงแค่ท่านมี “ความอยาก” ที่จะเป็น และมี “ความกล้า” ที่จะเดินออกจากกรอบของคำว่า “ไม่ได้” ในความเป็นจริง การเป็นผู้นำไม่ใช่เรื่องยาก ไม่จำเป็นต้องมีสถานภาพสูง ไม่ต้องมีตำแหน่งใหญ่โต “ความเป็นผู้นำ” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและแสดงออกมาจากภายในคนแต่ละคน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่และทุกสถานการณ์ทั้งในสถานที่ทำงาน ในครอบครัว หรือแม้แต่ในกลุ่มเพื่อนฝูง แต่ไม่ว่า ความเป็นผู้นำจะถูกแสดงออกเมื่อใด สิ่งหนึ่งที่จะสะท้อนให้เห็นถึง “การเป็นผู้นำ” ได้อย่างชัดเจน คือ “การมีผู้ตาม” หรือมีผู้ที่ยอมตามหรือคล้อยตามในสิ่งที่ผู้นำคิดหรือหรือผู้นำทำและยินดีและกระตือรือร้นให้การสนับสนุนการทำงานหรือการทำกิจกรรมต่างๆ ให้บรรลุผลสำเร็จอย่างเต็มที่
ในบางครั้ง เราอาจสงสัยว่า ทำไมบางคนที่ไม่ได้เป็นคนเก่ง ไม่ได้มีความสามารถพิเศษ โดดเด่นเกินกว่าคนอื่น แต่กลับเป็นคนที่สามารถชักจูง โน้มน้าวให้ผู้บริหาร หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน และคนที่อยู่รอบข้าง หรือแม้กระทั่งคนที่เก่งกว่าเห็นด้วย คล้อยตาม และยินดีให้ความร่วมมือหรือให้ความช่วยเหลือในการทำงานต่างๆ ให้สำเร็จ สิ่งหนึ่งที่สามารถให้คำตอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้ คือ คนๆ นั้นมี ความเป็นผู้นำ ซึ่งเป็นความเหนือกว่าในด้านระบบคิด จิตวิทยา บุคลิกภาพ ปฏิภาณไหวพริบ และการควบคุมตนเองที่ทำให้บุคคลหนึ่งมีอิทธิพลต่อบุคคลอื่น
หากจะถามว่า “ผู้นำควรมีคุณลักษณะหรือมีหน้าตาเป็นแบบไหน?” ในชั่วขณะหนึ่ง เราอาจอธิบายออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ แต่เราอาจรับรู้ได้เมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นว่า “แบบนี้แหละ … ผู้นำ” อย่างไรก็ตาม หากเราลองไปดูบทความหรืองานวิชาการเกี่ยวกับผู้นำก็อาจพบว่ามีรายการคุณสมบัติของผู้นำจำนวนมากที่สามารถนำมาเรียงต่อกันจนยาวเป็นหางว่าว และบางครั้ง ก็อาจพบว่ารายการคุณสมบัติผู้นำได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามเวลาและสถานการณ์ คุณลักษณะบางอย่างอาจหายไป ในขณะที่บางอย่างถูกเสริมเพิ่มเข้ามา… ในอดีต คนที่จะเป็นผู้นำได้ จะต้องเป็นผู้มีความรู้ มีความเฉลียวฉลาดทางสติปัญญา มีความมั่งคั่ง มีอำนาจ มีบารมี มีความเด็ดขาดและน่าเกรงขาม แต่ในปัจจุบันซึ่งเป็นโลกแห่งการแข่งขันแบบไร้พรมแดนที่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
คนที่จะเป็นผู้นำได้ อาจต้องมี “4 รู้” เป็นพื้นฐาน
รู้ที่หนึ่ง คือ “รู้คิด” คือ ต้องมีวิสัยทัศน์ รู้จักมองไปข้างหน้า รู้จักคิดริเริ่ม คิดสร้างสรรค์ คิดอย่างเป็นองค์รวม สามารถกำหนดทิศทางการก้าวย่างของทีมหรือของหน่วยงานได้อย่างชัดเจน และสามารถใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่นำพาทีมและองค์กรไปสู่เป้าหมายได้
รู้ที่สอง คือ “รู้ทัน” หรือ รู้เท่าทันโลกและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รู้เท่าทันบุคคล คือ มองคนอื่นให้เป็น รู้ถึงจุดดีจุดด้อยของเขา และที่สำคัญคือต้องรู้เท่าทันตนเองโดยต้องรู้ว่าเราเก่งอะไรไม่เก่งอะไร มีความหนักแน่นทางอารมณ์ และต้องมีสติพร้อมตั้งรับกับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างดี
รู้ที่สาม คือ “รู้ทำ” รู้วิธีทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย รู้จักทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี มีความมุ่งมั่นตั้งใจ มีความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ อดทน น่าเชื่อถือ พึ่งพาได้ และต้องมีความสามารถในการจับใจความ ถ่ายทอด สื่อสารและโน้มน้าว เป็นทั้งผู้ฟังที่ดีและผู้พูดที่ดี
และ รู้สุดท้าย คือ “รู้จักบริหาร” คือ รู้จักบริหารตนเอง รู้จักการบริหารเวลาและจัดลำดับความสำคัญของงาน รู้จักการบริหารทีมงาน โดยสร้างบรรยากาศการทำงานร่วมกัน ส่งเสริมการมีส่วนร่วม และสร้างทายาทมารับช่วงต่อ รวมทั้งต้องรู้จักการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
นอกจากนี้ คนที่จะเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพในยุคปัจจุบันได้ยังควรมีทัศนคติแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ มีความกล้าหาญ ยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีคุณธรรมจริยธรรม และที่สำคัญต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตนด้วย เพื่อที่จะพัฒนาให้ตนเองกลายเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพนั้น ประการแรก เราต้องทำความรู้จักตนเองให้ถ่องแท้ก่อนโดยลองวิเคราะห์ว่าตัวเรานั้นมีจุดแข็งและมีจุดที่ต้องการพัฒนาอะไรบ้าง และเปิดโอกาสให้คนรอบข้างช่วยมองและสะท้อนความเป็นตัวคุณออกมา และโดยที่การพัฒนาศักยภาพ ความเป็นผู้นำไม่สามารถทำได้ภายในชั่วข้ามคืนเดียวแต่ต้องอาศัยเวลาในการฝึกฝนและพัฒนา
ดังนั้น ประการที่สอง เราต้องสร้างโอกาสในการพัฒนาให้ตัวเราสามารถแสดงศักยภาพความเป็นผู้นำที่มีอยู่ออกมาอย่างเต็มที่ ซึ่งอาจเริ่มต้นจากการปรับพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ หรือ นิสัยที่ทำเป็นประจำในทุกวัน เช่น ปรับเปลี่ยนทัศนคติและกระบวนทัศน์ให้คิดในเชิงบวกอยู่เสมอ ฝึกจัดระบบความคิดโดยใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น mind mapping ฝึกแยกแยะและจดจำข่าวสารที่เป็นประโยชน์แล้วมุ่งใช้ข้อมูลที่รวบรวมมาได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ฝึกคิด ฝึกวางแผนและจัดลำดับความสำคัญของงาน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ ฝึกบริหารจัดการกับเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเมื่อได้ทำการงานใดเสร็จสิ้นแล้วให้ลองคิดว่าเราสามารถทำให้ดีกว่าเดิมได้อย่างไร และให้นำคำตอบนั้นไปปรับปรุงงานให้ดีขึ้นในทันที ประการที่สาม เนื่องจาก ในการทำงานต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ความรู้และประสบการณ์ถือเป็น “ต้นทุน” ที่สำคัญที่เราจะต้องเสริมสร้างและเพิ่มพูนอยู่เสมอ ดังนั้น เราจึงต้องพยายามสะสมและตักตวง องค์ความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ที่อยู่รอบตัว โดยอาจเริ่มต้นเรียนรู้จากประสบการณ์ทั้งที่สำเร็จและล้มเหลวของตนเองและผู้อื่น พยายามซึมซับจากตัวแบบผู้นำที่ดี
หาโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประการสุดท้าย การเป็นผู้นำที่สมบูรณ์จะต้องสร้างและพัฒนาทีมงานของตนให้เข้มแข็งและเติบโตไปพร้อมกัน โดยต้องฝึกสังเกต เรียนรู้ และทำความรู้จักลักษณะพื้นฐาน ความรู้ อุปนิสัยของสมาชิกในทีมแล้วมอบงานชอบหรือถนัดให้ พัฒนา เสริมสร้างแรงจูงใจและสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกทีม ต้องส่งเสริมและผลักดันลูกทีมให้มีความก้าวหน้าโดยให้คำปรึกษา แนะนำ ให้แนวทาง ให้โอกาส เห็นคุณค่าและ กล่าวชมเชยเมื่อเขาทำงานสำเร็จ ส่งเสริม กระตุ้นและจูงใจให้สมาชิกในทีมมีส่วนร่วม สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิกในทีม และให้ความสำคัญกับสุขภาพกายและสุขภาพจิตของสมาชิก
จะเห็นได้ว่า การที่คนๆ หนึ่งจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำได้ ไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่ง ไม่ต้องมีการแต่งตั้ง ไม่จำเป็นต้องรออาวุโส การเป็นผู้นำสามารถเกิดขึ้นและพัฒนาได้จากภายในตัวคนทุกคน สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเวลา ทุกสถานการณ์ ดังนั้น เพียงแค่เรามี “ความอยาก” ที่จะเป็น มีความกล้าที่จะเดินออกจากพื้นที่คุ้นเคยของตัวเรา และลองเริ่มต้นจากการปรับพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ หรือ นิสัยที่ทำเป็นประจำในทุกวัน เส้นทางสู่ “การเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ” ก็คงไม่ห่างไกลจากความเป็นจริง…
วิภาดา ลิ่วเฉลิมวงศ์
สำนักพัฒนาระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทน
พฤษภาคม 2553