“รู้จักการสอบภาค ก. กันดีกว่า”
การได้มาซึ่งบุคลากรภาครัฐด้วยวิธีการสรรหาและเลือกสรรผ่านกระบวนการทดสอบนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ได้แปลกใหม่ในหลักวิชาการบริหารทรัพยากรมนุษย์ หากแต่เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถบริหารจัดการกับทั้งคนจำนวนมากและจำนวนน้อยได้ดีทีเดียว ซึ่งการทดสอบข้อเขียนก็ถือว่าเป็นเครื่องมือหรือวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการประเมินบุคคลอย่างเป็นระบบ เพื่อประเมินถึงความแตกต่างของแต่ละคนว่ามีความรู้ ความสามารถ และเหมาะสมกับตำแหน่งงานนั้นๆหรือไม่
การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งดำเนินการโดย ก.พ. นั้น เป็นการประเมินบุคคลด้วยการสอบข้อเขียน ซึ่งถือว่าเป็นการประเมินบุคคลในขั้นตอนแรก หากแต่ยังมีทั้งการประเมินความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง และการประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่งอีกเช่นกัน
สืบเนื่องจากมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ได้บัญญัติว่า “การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด ให้บรรจุและแต่งตั้งจากผู้สอบแข่งขันได้ในตำแหน่งนั้น โดยบรรจุและแต่งตั้งตามลำดับที่ในบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ การสอบแข่งขัน การขึ้นบัญชีผู้สอบได้ และรายละเอียดเกี่ยวกับการสอบแข่งขันให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ ก.พ. กำหนด”
การดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญในตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงาน และตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการนั้น ก.พ. ได้พิจารณาให้มีการสอบ 3 ภาค คือ ภาคความรู้ความสามารถทั่วไป ภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง และภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง โดยมีผู้ดำเนินการดังนี้
• ก.พ. เป็นผู้ดำเนินการสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป ในกรณีที่ ก.พ. ไม่ได้ดำเนินการสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป ก.พ. อาจมอบหมายให้ส่วนราชการเป็นผู้ดำเนินการสอบก็ได้
• ส่วนราชการดำเนินการสอบภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง และภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง เพื่อบรรจุในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง โดยรับสมัครจากผู้สอบผ่านภาคความรู้ความสามารถทั่วไป ของ ก.พ. สำหรับในวุฒิการศึกษาที่ ก.พ. ยังมิได้ดำเนินการสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป ให้ส่วนราชการดำเนินการสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป ภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง และภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง เพื่อบรรจุในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง โดยใช้ข้อสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป ของ ก.พ.
• ในกรณีที่เห็นสมควร ก.พ. อาจดำเนินการสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป ภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง และภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง สำหรับตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งหรือหลายตำแหน่งก็ได้
สำหรับการสอบข้อเขียนในการประเมินภาคความรู้ความสามารถทั่วไป เป็นแบบวัดความสามารถทั่วไป (General Ability Tests) ซึ่งจะวัดความสามารถทางสมองที่กว้างๆ เช่น ภาษา ตัวเลข และทักษะการใช้เหตุผล ทักษะเหล่านี้มีความจำเป็นและเป็นพื้นฐานสำหรับความสำเร็จในหลายๆ ตำแหน่งงาน อนึ่ง การสอบข้อเขียนในการประเมินภาคความรู้ความสามารถทั่วไป ซึ่ง ก.พ. เป็นผู้ดำเนินการนั้น เป็นแบบทดสอบที่วัดความสามารถทางสมองที่กว้างๆ เช่นกัน ซึ่งจะช่วยเป็นตัวทำนายถึงความสำเร็จสำหรับงานอาชีพต่างๆ อีกทั้งการใช้แบบทดสอบข้อเขียนในลักษณะเช่นนี้จะช่วยให้การดำเนินการสอบเกิดความคล่องตัวมากขึ้น
โดยเฉพาะกับการสอบเข้ารับราชการที่มีผู้สมัครเป็นจำนวนนับแสนราย ถือว่าเป็นการคัดกรองในเบื้องต้นโดยใช้การสอบข้อเขียน หลักสูตรการสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป ของ ก.พ. มีการกำหนดรายละเอียดของหลักสูตรและวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงาน และตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ ดังนี้ การทดสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.) ให้ใช้วิธีการสอบข้อเขียน ซึ่งประกอบด้วย
• วิชาความสามารถทั่วไป: ทดสอบความสามารถทางด้านการคิดคำนวณ การประยุกต์ใช้ความคิดรวบยอดทางคณิตศาสตร์เบื้องต้น การวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของจำนวนหรือปริมาณ การแก้ปัญหาเชิงปริมาณ และข้อมูลต่างๆ อีกทั้ง ทดสอบความสามารถด้านเหตุผล การคิดหาความสัมพันธ์เชื่อมโยงของคำ ข้อความ หรือรูปภาพ การหาข้อยุติ หรือข้อสรุปอย่างสมเหตุสมผลจากข้อความ สัญลักษณ์ สถานการณ์หรือแบบจำลองต่างๆ
• วิชาภาษาไทย: ทดสอบความเข้าใจภาษา ความสามารถในการอ่านและการทำความเข้าใจกับบทความ หรือข้อความที่กำหนดให้แล้วตอบคำถามที่ตามมาในแต่ละบทความ หรือข้อความ รวมทั้งการสรุปความและตีความ อีกทั้ง ทดสอบการใช้ภาษา การเลือกใช้คำหรือกลุ่มคำ การเขียนประโยคได้ถูกต้องตามหลักภาษาและการเรียงข้อความ
อย่างไรก็ตามการประเมินบุคคลด้วยการใช้การทดสอบข้อเขียน ดังเช่น การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งดำเนินการโดย ก.พ. นั้น นับเป็นสนามสอบที่ใหญ่มากทีเดียวเมื่อเทียบกับจำนวนผู้สมัครนับแสนราย การคัดกรองคนด้วยการใช้แบบทดสอบในลักษณะที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จึงถือว่าเป็นเครื่องมือเบื้องต้นในการร่อนตะแกรงหาคนที่สามารถทำนายถึงพฤติกรรมและความสำเร็จในการทำงานได้เช่นกัน เพื่อที่จะเข้าสู่การประเมินในขั้นต่อๆไป…
นางสาวภมรพรรณ วงศ์เงิน
นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ
ศูนย์สรรหาและเลือกสรร สำนักงาน ก.พ.
พฤษภาคม 2553