สาระการรวมกลุ่มของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศอังกฤษ
แนวทางเกี่ยวกับการรวมกลุ่มของลูกจ้าง/แรงงานในประเทศอังกฤษซึ่งประเทศอังกฤษถือเป็นประเทศที่มีการรวมกลุ่มของแรงงานภาครัฐและภาคเอกชนที่ใช้กฎหมายร่วมกันอยู่หลายฉบับซึ่งมีรูปแบบการจัดตั้งองค์กรแรงงานเป็นสหภาพแรงงาน กรอบกฎหมายทางการจ้างงานและการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐของอังกฤษนั้นเป็นไปตามกรอบกฎหมายการจ้างงานทั้งของสหภาพยุโรปและของอังกฤษเอง ซึ่งมีผลบังคับใช้สำหรับบุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชน ยกเว้นทหารและตำรวจ กรอบกฎหมายนี้ครอบคุลมทั้งการจ้างงานในระดับบุคคลและระดับกลุ่ม ในระดับบุคคลนั้นจะเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเป็นรายบุคคล อันมีสัญญาจ้างงานมากำหนดและปกป้องสิทธิคนงาน และระบุเงื่อนไขการสิ้นสุดสัญญาจ้าง ในขณะที่ในระดับกลุ่มนั้นจะเกี่ยวข้องกับการเจรจาต่อรองร่วม ข้อพิพาทแรงงาน การยอมรับสิทธิของสหภาพแรงงาน สถานะและสมาชิกภาพแรงงาน เป็นต้น
สิทธิในการรวมกลุ่มของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ
แรงงานอังกฤษทุกคนไม่ว่าจะในภาครัฐหรือภาคเอกชน (ยกเว้นทหาร) มีสิทธิรวมตัวหรือสมัครเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานได้ กฎหมายของอังกฤษนั้นค่อนข้างเปิดกว้างและให้เสรีภาพแก่สหภาพแรงงานในการบริหารจัดการตราบใดที่ไม่ขัดต่อกฎหมายบ้านเมืองของประเทศอังกฤษ
กฎหมายอังกฤษที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรวมกลุ่มของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐนี้ ได้แก่ กฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human Right Act) อันกล่าวถึงสิทธิในการรวมตัวกันอย่างสงบและสิทธิในการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน กฎหมายสหภาพแรงงานและแรงงานสัมพันธ์ (Trade Union and Labor Relations (Consolidation) Act 1992) ซึ่งกำหนดสิทธิและขั้นตอนการดำเนินงานของสหภาพแรงงานและแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ (Employment Relation Act 2004) ซึ่งกำหนดสิทธิของสหภาพแรงงาน สิทธิของสมาชิกและที่ไม่ใช่สมาชิก และกิจกรรมแรงงานสัมพันธ์ ข้าราชการ / เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีสิทธิรวมกลุ่ม
กฎหมายสหภาพแรงงานและแรงงานสัมพันธ์ (Trade Union and Labor Relations (Consolidation) Act 1992) ได้นิยามคำว่า สหภาพแรงงาน (Trade Union) ไว้ หมายถึง องค์กรของคนงาน (ทั้งแบบชั่วคราวและถาวร) ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ทำงานให้กับองค์กรอย่างน้อยหนึ่งองค์กร มีเป้าหมายหลักเพื่อวางกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนงานกับนายจ้างหรือสมาคมนายจ้าง บุคคลที่ทำงานให้หน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวง ทบวง กรม โดยไม่รวมทหารนั้น มาตรา 296 ของกฎหมายนี้เรียกว่า ลูกจ้าง (Worker) อันหมายถึงบุคคลที่ทำงานภายใต้สัญญาจ้างงาน
สิทธิและหน้าที่ขององค์กรแรงงานสหภาพของข้าราชการ
สหภาพแรงงานนั้นถือเป็นนิติบุคคล ตามมาตรา 10 (1) ของกฎหมายสหภาพแรงงานและแรงงานสัมพันธ์ (Trade Union and Labor Relations (Consolidation) Act 1992) เป็นองค์กรของลูกจ้าง ซึ่งทำหน้าที่อำนวยความสะดวกและการบริการต่าง ๆ ที่จำเป็นแก่สมาชิกและครอบครัว นอกจากนี้ยังเป็นตัวแทนของสมาชิกในการร้องทุกข์ เจรจาต่อรอง ปรึกษาหารือร่วมกับตัวแทนของนายจ้างในเรื่องสิทธิของสหภาพแรงงานและผู้แทนสหภาพแรงงานด้วย
ในแง่ของสิทธิการยื่นข้อเรียกร้องและเจรจาต่อรองนั้น มาตรา 178 (2) ของกฎหมายสหภาพแรงงานและแรงงานสัมพันธ์ ครอบคลุมในเรื่องเนื้อหาและเงื่อนไขในการจ้างงาน การสิ้นสุดหรือการหยุดชั่วคราวของการจ้างงาน การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของลูกจ้าง กฎระเบียบข้อบังคับ การเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานของลูกจ้าง การอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงาน และกลไกการเจรจาต่อรอง ให้คำปรึกษา และขั้นตอนต่าง ๆ ที่สหภาพแรงงานจะนำเสนอแก่ลูกจ้าง
ส่วนสิทธิและบทบาทของสหภาพแรงงานในการบริหารงานทรัพยากรบุคคลนั้นอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายที่เรียกว่า Civil Service Management Code ซึ่งสหภาพแรงงานมีสิทธิเป็นผู้แทนร้องทุกข์เกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ สิทธิให้ความช่วยเหลือข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในกระบวนการไต่สวน สิทธิเรื่องการหักค่าสมาชิก และการจัดการเรื่องค่าชดเชยในการบังคับให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเกษียณก่อนกำหนดอันต้องคำนึงถึงหลักการแรงงานสัมพันธ์ที่ดี
ดร.มาฆะ ภู่จินดา มกราคม 2553