OCSC Wiki

คลังกลางความรู้ด้าน HR

User Tools

Site Tools


องค์การแห่งคุณธรรม_จะเริ่มจากตรงไหน

องค์การแห่งคุณธรรม : จะเริ่มจากตรงไหน

เมื่อประมาณกลางเดือนสิงหาคม 2552 ผู้เขียนได้เข้าฟังการบรรยายเรื่อง “การบริหารสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมให้เกิดคุณธรรม จริยธรรม” บรรยายโดยคุณอภิชาติ การุณกรสกุล ประธานกรรมการบริษัทเอเซีย พรีซิชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยานพาหนะ และอะไหล่เครื่องจักรกล การฟังการบรรยายในวันนั้น ทำให้ผู้เขียนรู้สึกชื่นชม และประทับใจ เนื่องจากไม่คิดว่า จะมีเจ้าของธุรกิจใดที่ยังอยู่ในวัยสร้างเนื้อสร้างตัว ที่มีแนวคิดแนวปฏิบัติที่มุ่งเน้นคุณธรรมมากกว่าผลกำไร คุณอภิชาติเล่าว่า เขาได้เริ่มก่อตั้งเอเชีย พรีซิชั่น จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2538 พอปี พ.ศ. 2540 ก็เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ “ ต้มยำกุ้ง”

บริษัทจึงต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ ความลำบากร่วมกันของคนในองค์การ ก่อให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจและเป็นที่มาแห่ง “ โรงงานคุณธรรม ” การที่เขาเริ่มธุรกิจได้เพียง 2 ปี แล้วต้องประสบปัญหาครั้งใหญ่ แต่กลับแก้ไขโดยสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นในโรงงาน ไม่น่าจะใช่แนวทางการแก้ปัญหาสำหรับคนหนุ่มที่เริ่มทำธุรกิจ ซึ่งโดยทั่วไป ย่อมมุ่งแต่จะทำกำไรให้มากสุด โดยมีค่าใช้จ่ายน้อยสุด เนื่องจากผลกำไรจะแสดงถึงความสามารถและความสำเร็จของผู้ประกอบการ ผู้เขียนจึงเกิดความสงสัยว่า อะไรคือแรงบันดาลใจ ที่ทำให้คุณอภิชาติเลือกแนวทางที่จะสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นในโรงงาน แทนที่จะพยายามลดคน ลดค่าใช้จ่าย เพื่อให้เกิดผลกำไร จากพื้นฐานความคิดที่ดีงาม คุณอภิชาติ มิได้คิด หรือเรียกร้องที่ จะให้บุคลากรรักองค์กร แต่กลับคิดว่า จะทำองค์กรให้เป็นที่รักและศรัทธาของบุคลากรได้อย่างไร จึงต้องเริ่มพิจารณาที่ตัวองค์กรก่อนว่าองค์กรแบบไหน จึงจะทำให้บุคลากรรัก ซึ่งคุณอภิชาติเห็นว่า การจะทำให้องค์กรเป็นที่รักและศรัทธาของบุคลากรได้จะต้องเริ่มจากการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งต้องเป็นเป้าหมายที่อยู่เหนือประโยชน์ส่วนตน จึงจะมีพื้นที่ให้คนในองค์กรอยู่ร่วมกันได้ หากเป้าหมายมุ่งไปที่กำไรหรือผลประโยชน์ อาจไม่มีพื้นที่เพียงพอที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข หรือมีแต่ก็น้อย

การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของคนจำนวนมากภายในองค์กร ที่มีที่มาที่แตกต่างกัน ความต้องการ ความรัก ความชอบไม่เหมือนกัน แล้วจะอยู่ร่วมกันอย่างไรให้มีความสุข

หากนำไปเปรียบเทียบกับทฤษฎีลำดับความต้องการของอับราฮัม มาสโลว์

ซึ่งมองว่าความต้องการสูงสุดของมนุษย์ คือความสมหวังในชีวิต สำหรับความต้องการทางร่างกายเป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน แต่คุณอภิชาติกลับมองว่ามนุษย์โดยทั่วไปต้องการความสำเร็จ - ความมั่นคงทางการเงินเป็นลำดับแรก ความสุข-สงบจะมาเป็นลำดับสุดท้ายเมื่อได้สนองความต้องการในลำดับอื่น ๆ ได้แล้ว เขาจึงคิดต่อไปว่า หากกลับหัวปิรามิดลง เอาความสุข – สงบมาเป็นลำดับความต้องการแรกจะได้หรือไม่ ไม่เพียงแต่คิด แต่เขาได้นำมาใช้ในโรงงานของเขา

นอกจากนี้ เขาได้ร้อยรวมบุคลากรในโรงงานเข้าด้วยกัน บนหลักการที่ว่า คนเราต้องอยู่ร่วมกันด้วย “ความดี ความพากเพียร ความประหยัด ความซื่อสัตย์ และมีน้ำใจ” โดยมีคุณสมบัติพึงประสงค์ 5 ประการ แบ่งเป็น 2 ระดับ ดังนี้

การเลือกเอา “ กตัญญู ” เป็นฐานลำดับแรก เนื่องจากเขาเชื่อว่าความกตัญญูจะทำให้คนเราทำเพื่อผู้อื่นได้ง่ายขึ้น

จากประสบการณ์ของผู้บริหารภาคเอกชน เป็นเครื่องชี้ว่า การสร้างความดี จะต้องเริ่มไปจากจุดเล็ก ๆ ใกล้ๆ ตัวก่อน เพื่อเป็นพื้นฐานที่จะช่วยให้สามารถทำสิ่งดีๆ ที่ไกลตัว ที่ทำได้ยาก คือทำเพื่อผู้อื่น ให้ทำได้ง่ายขึ้น เขาได้คิดกิจกรรม โครงการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้บุคลากรของเขาซึมซับการทำดีไปเรื่อย ๆ ยกตัวอย่าง เช่น การมอบผ้าขนหนูให้พนักงานนำกลับไปมอบให้พ่อ-แม่ในวันสงกรานต์ ทำให้เพิ่มความสัมพันธ์ในครอบครัว นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้พนักงานเสนอโครงการเพื่อขอทุนไปพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง หรือการที่พนักงานสละเงินโบนัสส่วนหนึ่งไปซื้อเสื้อหนาวให้แก่เด็ก และ การให้พนักงานมาลงชื่อทำความดี โดยจะมีกระดานให้ลงชื่อว่าจะทำความดีอะไร เช่น ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เล่นการพนัน ถ้าทำสำเร็จจะได้เงินเรื่องละ 30 บาทต่อเดือน บางคนทำไม่สำเร็จก็จะมาลบชื่อออกเองพนักงานใส่ความดีมากเท่าไร ยอดเงินก็จะสูงมากขึ้นและเมื่อมีจำนวนมากพอก็จะร่วมกันนำเงินนั้นไปทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นต่อไป

ด้วยแนวคิดที่จะเป็นโรงงานคุณธรรม ไม่มุ่งหวังแต่ผลกำไร เป็นผู้ให้และรับแต่พอเพียง จึงทำให้บริษัทของคุณอภิชาติรอดพ้นภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ และเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรงงานของเขาเป็น “ โรงงานคุณธรรม ” สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าผู้นำองค์กรไม่มีคุณธรรมอย่างแท้จริง เพราะเพียงการพูด หรือบอกว่ามี ไม่สามารถที่จะทำให้องค์กรเป็นองค์กรแห่งคุณธรรมได้ อีกทั้ง ไม่สามารถสร้างพลังศรัทธา พลังความรัก ความร่วมแรงร่วมใจจากผู้ใต้บังคับบัญชาได้ เมื่อผู้นำหรือผู้บริหารไม่ได้รับสิ่งเหล่านี้จากผู้ใต้บังคับบัญชา แล้วจะสร้างองค์กรให้เข็มแข็งได้อย่างไร โรงงานแห่งนี้ จึงเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า องค์การแห่งคุณธรรม จะต้องเริ่มจากผู้นำที่มีคุณธรรม และลงมือปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงเท่านั้น

กุมภาพันธ์ 2553

องค์การแห่งคุณธรรม_จะเริ่มจากตรงไหน.txt · Last modified: 2018/05/22 14:28 by weshayun