โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 31 (5) มาตรา 123 มาตรา 124 และมาตรา 125 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ก.พ.ค. จึงออก กฎ ก.พ.ค. ไว้ ดังต่อไปนี้
กฎ ก.พ.ค. นี้เรียกว่า “กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552”
1) กฎ ก.พ.ค. นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ให้ยกเลิกความในข้อ 7 ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 7 ภายใต้บังคับข้อ 6 ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีความคับข้องใจ อันเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชา และเป็นกรณีที่ไม่อาจอุทธรณ์ ตามหมวด 9 การอุทธรณ์ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ได้ ผู้นั้นมีสิทธิร้องทุกข์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ.ค. นี้ การปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชา ซึ่งทำให้เกิดความคับข้องใจ อันเป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์นั้น ต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
(1) ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติอื่นใดโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดขึ้นเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
(2) ไม่มอบหมายงานให้ปฏิบัติ
(3) ประวิงเวลา หรือหน่วงเหนี่ยวการดำเนินการบางเรื่องอันเป็นเหตุให้เสียสิทธิ หรือไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ในเวลาอันสมควร
(4) ไม่เป็นไปตาม หรือขัดกับระบบคุณธรรม ตามมาตรา 42”
ให้ยกเลิกความในข้อ 24 วรรคหนึ่ง ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 24 ให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับคำร้องทุกข์ แต่ถ้ามีความจำเป็นไม่อาจพิจารณา ให้แล้วเสร็จภายในเวลาดังกล่าว ให้ขยายเวลาได้อีกไม่เกินสามสิบวัน และให้บันทึกแสดงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องขยายเวลาไว้ด้วย”
ให้ยกเลิกความในข้อ 44 ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์ และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 44 เมื่อได้มีการสั่งรับคำร้องทุกข์ไว้พิจารณาแล้ว ให้กรรมการเจ้าของสำนวนมีคำสั่งให้คู่กรณีในการร้องทุกข์ทำคำแก้คำร้องทุกข์ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งหรือภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยส่งสำเนาคำร้องทุกข์และสำเนาหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปให้ด้วย ในกรณีที่เห็นสมควร กรรมการเจ้าของสำนวนจะกำหนดประเด็น ที่คู่กรณีในการร้องทุกข์ต้องชี้แจงหรือกำหนดให้จัดส่งพยานหลักฐานที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาวินิจฉัยร้องทุกข์ไปให้ด้วยก็ได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่กำหนดไว้ในข้อ 49”
ให้ยกเลิกความในข้อ 49 ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 49 เมื่อรับคำร้องทุกข์ไว้พิจารณาดำเนินการแล้ว หากกรรมการเจ้าของสำนวนเห็นว่าสามารถวินิจฉัยได้จากข้อเท็จจริงในคำร้องทุกข์นั้น โดยไม่ต้องดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงอีกหรือเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ได้จากคำแก้คำร้องทุกข์ เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเรื่องนั้นหรือข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการแสวงหาเพิ่มเติม (ถ้ามี) เพียงพอต่อการวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์นั้นแล้ว ให้กรรมการเจ้าของสำนวนทำบันทึกของกรรมการเจ้าของสำนวนสรุปเสนอองค์คณะวินิจฉัยเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป บันทึกสรุปสำนวนตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องประกอบด้วย
(1) ชื่อผู้ร้องทุกข์และคู่กรณีในการร้องทุกข์
(2) สรุปคำร้องทุกข์
(3) สรุปคำแก้คำร้องทุกข์ (ถ้ามี)
(4) สรุปข้อเท็จจริงที่กรรมการเจ้าของสำนวนแสวงหาเพิ่มเติม (ถ้ามี)
(5) ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง
(6) ความเห็นของกรรมการเจ้าของสำนวนเกี่ยวกับประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย และคำขอของผู้ร้องทุกข์
ให้กรรมการเจ้าของสำนวนเสนอบันทึกสรุปสำนวนตามวรรคหนึ่งและสำนวนพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับเรื่องร้องทุกข์นั้นทั้งหมดให้องค์คณะวินิจฉัยพิจารณาวินิจฉัยต่อไป”
ให้ยกเลิกความในข้อ 55 ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 55 การพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ ที่ร้องต่อ ก.พ.ค. ให้องค์คณะวินิจฉัยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับคำร้องทุกข์ ถ้ามีความจำเป็นไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเวลาดังกล่าวได้ ให้ขยายเวลาได้อีกสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน โดยให้บันทึกเหตุผลความจำเป็นไว้ด้วย แต่ถ้าขยายเวลาแล้วก็ยังไม่แล้วเสร็จ ให้ประธาน ก.พ.ค. พิจารณากำหนดมาตรการที่จะทำให้การพิจารณาวินิจฉัยแล้วเสร็จโดยเร็ว และบันทึกไว้เป็นหลักฐาน”
กรณีที่ได้ดำเนินการตามกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 มาแล้วโดยชอบให้เป็นอันใช้ได้ สำหรับกรณีที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้พิจารณาดำเนินการตามกฎ ก.พ.ค. นี้
ให้ไว้ ณ วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2552
ศราวุธ เมนะเศวต
ประธานกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม
กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552