โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ให้เหมาะสมชัดเจนยิ่งขึ้น
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 31 (5) มาตรา 123 มาตรา 124 และมาตรา 125 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 31 มาตรา 33 มาตรา 43 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ก.พ.ค. จึงออกกฎ ก.พ.ค. ไว้ดังต่อไปนี้
กฎ ก.พ.ค. นี้เรียกว่า “กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2556”
1) กฎ ก.พ.ค. นี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ให้ยกเลิกความในข้อ 3 ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 3 ในกฎ ก.พ.ค. นี้
“คู่กรณี” หมายความว่า ผู้ร้องทุกข์และคู่กรณีในการร้องทุกข์
“ผู้ร้องทุกข์” หมายความว่า ผู้มีสิทธิร้องทุกข์ตามกฎหมาย และให้หมายความรวมถึงผู้ที่ได้รับมอบหมายด้วย
“คู่กรณีในการร้องทุกข์” หมายความว่า ผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์
“พนักงานผู้รับคำร้องทุกข์” หมายความว่า เจ้าหน้าที่ที่สำนักงาน ก.พ. มอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการรับคำร้องทุกข์ การตรวจคำร้องทุกข์ และการดำเนินงานธุรการอย่างอื่นตามกฎ ก.พ.ค. นี้ และให้หมายความรวมถึงเจ้าหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาหรือของผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ หรือของผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ ที่มีหน้าที่รับหนังสือตามระเบียบว่าด้วยงานสารบรรณ ด้วย
“พนักงานผู้รับผิดชอบสำนวน” หมายความว่า เจ้าหน้าที่ที่สำนักงาน ก.พ. และ ก.พ.ค. มอบหมายให้รับผิดชอบสำนวนเรื่องร้องทุกข์
“องค์คณะวินิจฉัย” หมายความว่า ก.พ.ค. หรือกรรมการ ก.พ.ค. คนหนึ่ง หรือคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ ก.พ.ค. ตั้ง เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ ในกรณีที่เป็นคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ต้องมีกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์อย่างน้อยสองคนจึงจะเป็นองค์คณะวินิจฉัย
“กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์” หมายความว่า บุคคลหนึ่งบุคคลใดในองค์คณะวินิจฉัย
“กรรมการเจ้าของสำนวน” หมายความว่า บุคคลหนึ่งบุคคลใดในองค์คณะวินิจฉัยที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนเรื่องร้องทุกข์
“ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์” หมายความว่า องค์คณะวินิจฉัย และให้หมายความรวมถึงผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามกฎ ก.พ.ค. นี้ ด้วย”
ให้ยกเลิกความในข้อ 11 ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 11 ภายใต้บังคับข้อ 8 คู่กรณีอาจมีหนังสือแต่งตั้งให้ทนายความหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กำหนดแทนตนในกระบวนพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ขั้นตอนใด ๆ ก็ได้ โดยให้แนบหนังสือแต่งตั้ง หลักฐานแสดงตนของทนายความหรือบุคคลผู้ได้รับแต่งตั้งพร้อมคำร้องทุกข์หรือจะยื่นในภายหลังก่อนการดำเนินการในขั้นตอนนั้น ๆ ก็ได้”
ให้ยกเลิกความในข้อ 42 ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 42 ห้ามมิให้รับคำร้องทุกข์ดังต่อไปนี้ไว้พิจารณา
(1) เป็นคำร้องทุกข์ที่ไม่อยู่ในอำนาจการวินิจฉัยของ ก.พ.ค. ตามข้อ 7
(2) ผู้ร้องทุกข์มิใช่เป็นผู้มีสิทธิร้องทุกข์ตามข้อ 7
(3) ผู้ร้องทุกข์มิใช่เป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากผู้มีสิทธิร้องทุกข์แทนตามข้อ 10
(4) เป็นคำร้องทุกข์ที่ร้องทุกข์เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันตามข้อ 8 เว้นแต่ ก.พ.ค. เห็นควรรับไว้พิจารณาเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
(5) เป็นเรื่องที่ได้เคยมีการร้องทุกข์และได้มีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว
(6) เป็นกรณีตามข้อ 41 (2)”
ให้ยกเลิกความในข้อ 43 (1) ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(1) ถ้าเห็นว่าเป็นคำร้องทุกข์ที่รับไว้พิจารณาไม่ได้ตามข้อ 42 ก็ให้มีคำวินิจฉัยไม่รับเรื่องร้องทุกข์นั้นไว้พิจารณาและสั่งจำหน่ายเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าวออกจากสารบบ หรือให้มีคำวินิจฉัยยกเลิกกระบวนพิจารณาเรื่องร้องทุกข์นั้น และสั่งจำหน่ายเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าวออกจากสารบบ
คำวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ หรือกรรมการ ก.พ.ค. เจ้าของสำนวนตามวรรคหนึ่ง ให้นำเสนอ ก.พ.ค. เพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไปด้วย”
ให้ยกเลิกความในข้อ 51 วรรคหนึ่ง ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 51 ในการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ ให้องค์คณะวินิจฉัยจัดให้มีการพิจารณาหรือประชุมพิจารณาเรื่องร้องทุกข์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง เพื่อให้ผู้ร้องทุกข์หรือคู่กรณีในการร้องทุกข์มีโอกาสมาแถลงด้วยวาจาต่อหน้าองค์คณะวินิจฉัย เว้นแต่ในกรณีที่องค์คณะวินิจฉัยเห็นว่าเรื่องร้องทุกข์นั้นมีข้อเท็จจริงชัดเจนเพียงพอต่อการพิจารณาวินิจฉัยแล้วหรือมีข้อเท็จจริงและประเด็นวินิจฉัยไม่ซับซ้อน และการมาแถลงด้วยวาจาไม่จำเป็นแก่การพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ จะให้งดการแถลงด้วยวาจาเสียก็ได้”
ให้ยกเลิกความในข้อ 54 ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 54 คำวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ขององค์คณะวินิจฉัย ให้นำความในข้อ 16 หมวด 1 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
คำวินิจฉัยขององค์คณะวินิจฉัย ให้นำเสนอ ก.พ.ค. เพื่อพิจารณา เมื่อ ก.พ.ค. มีความเห็นประการใดแล้ว ให้องค์คณะวินิจฉัยดำเนินการเพื่อให้มีคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. ต่อไป
การเยียวยา หรือการดำเนินการอื่นใด เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ระหว่างที่ยังไม่มีระเบียบ ก.พ.ค. ในเรื่องดังกล่าว ให้นำความในข้อ 26 มาใช้บังคับโดยอนุโลมไปพลางก่อน”
ให้ยกเลิกความในข้อ 57 ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 57 คำวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ให้ผูกพันคู่กรณีในการร้องทุกข์และผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคำวินิจฉัย หรือปฏิบัติตามคำวินิจฉัยในโอกาสแรกที่สามารถทำได้นับแต่ได้รับคำวินิจฉัย”
เรื่องร้องทุกข์เรื่องใดที่ได้มีการพิจารณาดำเนินการโดยถูกต้องตามกฎ ก.พ.ค.ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552 เสร็จไปแล้วก่อนวันที่ กฎ ก.พ.ค. ฉบับนี้ใช้บังคับ ให้การพิจารณาดำเนินการดังกล่าวเป็นอันใช้ได้ ถ้าเรื่องร้องทุกข์ใดอยู่ในระหว่างดำเนินการ ให้พิจารณาดำเนินการตามกฎ ก.พ.ค. ฉบับนี้
ให้ไว้ ณ วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2556
ศราวุธ เมนะเศวต
ประธานกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม
กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2556