OCSC Wiki

คลังกลางความรู้ด้าน HR

User Tools

Site Tools


องค์ความรู้กฎหมาย:กฎหมายลำดับรอง:กฎ_ก.พ.ค._ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์_พ.ศ._2551

Table of Contents

กฎ ก.พ.ค.ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 31 (5) มาตรา 123 มาตรา 124 และมาตรา 125 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ก.พ.ค. จึงออกกฎ ก.พ.ค. ไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1

กฎ ก.พ.ค. นี้เรียกว่า “กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551”

ข้อ 2

1) กฎ ก.พ.ค. นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3

ในกฎ ก.พ.ค. นี้

“คู่กรณี” หมายความว่า ผู้ร้องทุกข์และคู่กรณีในการร้องทุกข์

“คู่กรณีในการร้องทุกข์” หมายความว่า ผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์

“พนักงานผู้รับคำร้องทุกข์” หมายความว่า เจ้าหน้าที่ที่สำนักงาน ก.พ. มอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการรับคำร้องทุกข์ การตรวจคำร้องทุกข์ และการดำเนินงานธุรการอย่างอื่นตามกฎ ก.พ.ค. นี้ และให้หมายความรวมถึงเจ้าหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาหรือของผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ หรือของผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ที่มีหน้าที่รับหนังสือตามระเบียบว่าด้วยงานสารบรรณ ด้วย

“พนักงานผู้รับผิดชอบสำนวน” หมายความว่า เจ้าหน้าที่ที่สำนักงาน ก.พ. มอบหมายให้รับผิดชอบสำนวนเรื่องร้องทุกข์

“องค์คณะวินิจฉัย” หมายความว่า ก.พ.ค. หรือกรรมการ ก.พ.ค. คนหนึ่ง หรือคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ ก.พ.ค. ตั้ง เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ ในกรณีที่เป็นคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ต้องมีกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์อย่างน้อยสองคนจึงจะเป็นองค์คณะวินิจฉัย

“กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์” หมายความว่า บุคคลหนึ่งบุคคลใดในองค์คณะวินิจฉัย

“กรรมการเจ้าของสำนวน” หมายความว่า บุคคลหนึ่งบุคคลใดในองค์คณะวินิจฉัยที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนเรื่องร้องทุกข์

“ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์” หมายความว่า องค์คณะวินิจฉัย และให้หมายความรวมถึงผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามกฎ ก.พ.ค. นี้ ด้วย

ข้อ 4

ให้ประธาน ก.พ.ค. รักษาการตามกฎ ก.พ.ค. นี้ และให้มีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎ ก.พ.ค. นี้

ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎ ก.พ.ค. นี้ ประธาน ก.พ.ค. อาจหารือที่ประชุม ก.พ.ค. เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยก็ได้ คำวินิจฉัยนั้นให้เป็นที่สุด

หมวด 1

บททั่วไป

ข้อ 5

การร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ของข้าราชการพลเรือนสามัญให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ.ค. นี้

ข้อ 6

เพื่อให้เกิดความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างกัน ควรจะได้ปรึกษาหารือทำความเข้าใจกัน ฉะนั้น เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใด มีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชา หากแสดงความประสงค์จะปรึกษาหารือกับผู้บังคับบัญชา ให้ผู้บังคับบัญชานั้น ให้โอกาสและรับฟัง หรือสอบถามเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวเพื่อเป็นทางแห่งการทำความเข้าใจและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชั้นต้น

ถ้าข้าราชการพลเรือนสามัญผู้มีความคับข้องใจนั้น ไม่ประสงค์จะปรึกษาหารือ หรือปรึกษาหารือแล้วไม่ได้รับคำชี้แจง หรือได้รับคำชี้แจงแล้วไม่เป็นที่พอใจ ก็ให้ร้องทุกข์ตามกฎ ก.พ.ค. นี้

ข้อ 7

ภายใต้บังคับข้อ 6 ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชา และเป็นกรณีที่ไม่อาจอุทธรณ์ตามหมวด ๙ การอุทธรณ์ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ได้ ผู้นั้นมีสิทธิร้องทุกข์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ.ค. นี้

การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชาซึ่งทำให้เกิดความคับข้องใจอันเป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ นั้น ต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังนี้

  • (1) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการนั้น หรือโดยไม่สุจริต
  • (2) เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดขึ้นเกินสมควร
  • (3) เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
  • (4) ประวิงเวลา หรือหน่วงเหนี่ยวการดำเนินการบางอย่างอันเป็นเหตุให้เสียสิทธิหรือไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ในเวลาอันสมควร
  • (5) ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอื่นใดที่ไม่เป็นไปตามระบบคุณธรรมตามมาตรา 42

ข้อ 8

การร้องทุกข์ให้ร้องได้สำหรับตนเองเท่านั้น จะร้องทุกข์สำหรับผู้อื่นไม่ได้ และให้ทำคำร้องทุกข์เป็นหนังสือยื่นต่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์ตามข้อ 7

คำร้องทุกข์ให้ใช้ถ้อยคำสุภาพและอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังนี้

  • (1) ชื่อ ตำแหน่ง สังกัด และที่อยู่สำหรับการติดต่อเกี่ยวกับการร้องทุกข์ของผู้ร้องทุกข์
  • (2) การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์
  • (3) ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ผู้ร้องทุกข์เห็นว่าเป็นปัญหาของเรื่องร้องทุกข์
  • (4) คำขอของผู้ร้องทุกข์
  • (5) ลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์ หรือผู้ได้รับมอบหมายให้ร้องทุกข์แทนกรณีที่จำเป็นตามข้อ 10

ข้อ 9

ในการยื่นคำร้องทุกข์ให้แนบหลักฐานที่เกี่ยวข้องพร้อมคำร้องทุกข์ด้วย กรณีที่ไม่อาจแนบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้ เพราะพยานหลักฐานอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานทางปกครอง เจ้าหน้าที่ ของรัฐ หรือบุคคลอื่น หรือเพราะเหตุอื่นใด ให้ระบุเหตุที่ไม่อาจแนบพยานหลักฐานไว้ด้วย

ให้ผู้ร้องทุกข์ทำสำเนาคำร้องทุกข์และหลักฐานที่เกี่ยวข้อง โดยให้ผู้ร้องทุกข์รับรองสำเนาถูกต้อง 1 ชุด แนบพร้อมคำร้องทุกข์ด้วย กรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องมอบหมายให้บุคคลอื่นร้องทุกข์แทนตามข้อ 10 ก็ดี กรณีที่มีการแต่งตั้งทนายความหรือบุคคลอื่นดำเนินการแทนในขั้นตอนใด ๆ ในกระบวนการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามข้อ 11 ก็ดี ให้แนบหลักฐานการมอบหมายหรือหลักฐานการแต่งตั้ง ทั้งนี้ ตามที่กฎ ก.พ.ค. นี้ กำหนด

ถ้าผู้ร้องทุกข์ประสงค์จะแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นพิจารณาของผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ให้แสดงความประสงค์ไว้ในคำร้องทุกข์ด้วย หรือจะทำเป็นหนังสือต่างหากก็ได้แต่ต้องยื่นหนังสือก่อนที่ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์เริ่มพิจารณา

ข้อ 10

ผู้มีสิทธิร้องทุกข์จะมอบหมายให้บุคคลอื่นร้องทุกข์แทนได้ ในกรณีมีเหตุจำเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

  • (1) เจ็บป่วยจนไม่สามารถร้องทุกข์ได้ด้วยตนเอง
  • (2) อยู่ในต่างประเทศและคาดหมายได้ว่าไม่อาจร้องทุกข์ได้ทันภายในเวลาที่กำหนด
  • (3) มีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์เห็นสมควร

การมอบหมายตามวรรคหนึ่ง จะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้มีสิทธิร้องทุกข์ พร้อมทั้งหลักฐานแสดงเหตุจำเป็นข้างต้น ถ้าไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้พิมพ์ลายนิ้วมือโดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรองอย่างน้อยสองคน

ข้อ 11

คู่กรณีอาจมีหนังสือแต่งตั้งให้ทนายความหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กำหนดแทนตนในกระบวนพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ขั้นตอนใด ๆ ก็ได้ โดยให้แนบหนังสือแต่งตั้งหลักฐานแสดงตนของทนายความหรือบุคคลผู้ได้รับแต่งตั้ง พร้อมคำร้องทุกข์หรือจะยื่นในภายหลังก่อนการดำเนินการในขั้นตอนนั้น ๆ

ข้อ 12

คำร้องทุกข์ให้ยื่นต่อพนักงานผู้รับคำร้องทุกข์ ในการนี้ อาจยื่นคำร้องทุกข์โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้ และให้ถือว่าวันที่ยื่นคำร้องทุกข์ต่อพนักงานผู้รับคำร้องทุกข์หรือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ ต้นทางประทับตรารับที่ซองหนังสือร้องทุกข์ แล้วแต่กรณี เป็นวันยื่นคำร้องทุกข์

ข้อ 13

เพื่อประโยชน์ในการนับระยะเวลาร้องทุกข์ การนับวันทราบหรือถือว่าทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์นั้น ให้ถือปฏิบัติดังนี้

  • (1) ในกรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากการที่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งเป็นหนังสือ ให้ถือว่าวันที่ผู้มีสิทธิร้องทุกข์ลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งเป็นวันทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์
  • (2) ในกรณีที่ไม่มีการลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งตาม (1) แต่มีการแจ้งคำสั่งให้ทราบพร้อมสำเนาคำสั่ง และทำบันทึกวันเดือนปี เวลา สถานที่ที่แจ้ง โดยลงลายมือชื่อผู้แจ้งพร้อมทั้งพยานรู้เห็นไว้เป็นหลักฐานแล้ว ให้ถือวันที่แจ้งนั้นเป็นวันทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์
  • (3) ในกรณีที่ไม่อาจแจ้งคำสั่งตาม (2) และได้แจ้งเป็นหนังสือส่งสำเนาคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ณ ที่อยู่ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ ให้ส่งสำเนาคำสั่งไปสองฉบับเพื่อให้เก็บไว้เป็นหลักฐานหนึ่งฉบับ และให้ลงลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับทราบคำสั่งแล้วส่งกลับคืนเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานหนึ่งฉบับ กรณีเช่นนี้เมื่อล่วงพ้นสามสิบวันนับแต่วันที่ปรากฏในใบตอบรับทางไปรษณีย์ลงทะเบียนว่ามีผู้รับแล้ว แม้ยังไม่ได้รับสำเนาคำสั่งฉบับที่ให้ลงลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับทราบคำสั่งกลับคืนมา ก็ให้ถือว่าผู้มีสิทธิร้องทุกข์ได้รับทราบคำสั่งอันเป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์แล้ว
  • (4) ในกรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาโดยไม่มีคำสั่งเป็นหนังสือ ให้ถือวันที่มีหลักฐานยืนยันว่าผู้มีสิทธิร้องทุกข์รับทราบหรือควรรับทราบคำสั่งที่ไม่เป็นหนังสือนั้น เป็นวันทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์
  • (5) ในกรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากการปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาโดยไม่ได้มีคำสั่งอย่างใด ให้ถือวันที่ผู้ร้องทุกข์ควรได้ทราบถึงการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาดังกล่าว เป็นวันทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์

ข้อ 14

ผู้ร้องทุกข์อาจถอนคำร้องทุกข์ที่ยื่นไว้แล้วในเวลาใด ๆ ก่อนที่ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์จะมีคำวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดในเรื่องร้องทุกข์นั้น ก็ได้

การถอนคำร้องทุกข์ต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้ร้องทุกข์ แต่ถ้าผู้ร้องทุกข์ถอนคำร้องทุกข์ด้วยวาจาต่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ ให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์บันทึกไว้ และให้ผู้ร้องทุกข์ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน

เมื่อมีการถอนคำร้องทุกข์ ให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์อนุญาต และสั่งจำหน่ายคำร้องทุกข์ออกจากสารบบ

ข้อ 15

ในการพิจารณาวินิจฉัยร้องทุกข์ ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์มีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงได้ตามความเหมาะสม ในกรณีนี้ ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์อาจแสวงหาข้อเท็จจริงจากพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานหลักฐานอื่นนอกเหนือจากพยานหลักฐานของคู่กรณีที่ปรากฏในคำร้องทุกข์คำแก้คำร้องทุกข์ ก็ได้ ในการแสวงหาข้อเท็จจริงเช่นว่านี้ ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์อาจดำเนินการตามที่กำหนดในหมวด 3 ส่วนที่ 2 หรือตามที่เห็นสมควร

ในกรณีที่ข้อเท็จจริงซึ่งได้มาจากการแสวงหาเพิ่มเติมตามวรรคหนึ่งอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ต้องให้คู่กรณีได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน

ข้อ 16

คำวินิจฉัยในเรื่องร้องทุกข์ของผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ อย่างน้อยต้องประกอบด้วย

  • (1) ชื่อผู้ร้องทุกข์
  • (2) ชื่อคู่กรณีในการร้องทุกข์
  • (3) สรุปคำร้องทุกข์และคำขอของผู้ร้องทุกข์
  • (4) สรุปคำแก้คำร้องทุกข์
  • (5) ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย
  • (6) คำวินิจฉัยของผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์พร้อมทั้งเหตุผล
  • (7) สรุปคำวินิจฉัยหรือคำสั่งที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติหรือดำเนินการต่อไป
  • (8) ข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยหรือคำสั่งนั้น (ถ้ามี)

คำวินิจฉัยในเรื่องร้องทุกข์ตามวรรคหนึ่งต้องลงลายมือชื่อของผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ที่วินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์นั้น ถ้าผู้ใดมีเหตุจำเป็นไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้จดแจ้งเหตุดังกล่าวไว้ในคำวินิจฉัยนั้น ด้วย

ข้อ 17

ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในกฎ ก.พ.ค. นี้ เมื่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์เห็นสมควรหรือเมื่อคู่กรณีมีคำขอ ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์มีอำนาจย่นหรือขยายระยะเวลาได้ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

ข้อ 18

การนับระยะเวลาตามกฎ ก.พ.ค. นี้ สำหรับเวลาเริ่มต้นให้นับวันถัดจากวันแรกแห่งเวลานั้นเป็นวันเริ่มนับระยะเวลา ส่วนเวลาสิ้นสุด ถ้าวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาตรงกับวันหยุดราชการ ให้นับวันเริ่มเปิดทำการใหม่เป็นวันสุดท้ายแห่งระยะเวลา

ข้อ 19

หลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในหมวด 1 ให้ใช้บังคับกับการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ในหมวดอื่นด้วย เว้นแต่จะมีหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น

หมวด 2

การร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไป

ข้อ 20

การร้องทุกข์ที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากผู้บังคับบัญชา และกฎหมาย ไม่ได้บัญญัติให้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. แต่ให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปตามลำดับ นั้น ให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาดังนี้

  • (1) ในกรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากผู้บังคับบัญชาในราชการบริหารส่วนภูมิภาคที่ต่ำกว่าผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ร้องทุกข์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์
  • (2) ในกรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากผู้บังคับบัญชาในราชการบริหารส่วนกลางที่ต่ำกว่าอธิบดี ให้ร้องทุกข์ต่ออธิบดี และให้อธิบดีเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์
  • (3) ในกรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากผู้ว่าราชการจังหวัดหรืออธิบดี ให้ร้องทุกข์ต่อปลัดกระทรวงซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ร้องทุกข์ และให้ปลัดกระทรวงเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์

ข้อ 21

การยื่นคำร้องทุกข์อาจยื่นผ่านผู้บังคับบัญชาหรือผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ก็ได้ และให้นำความในข้อ 12 หมวด 1 มาใช้บังคับกับการยื่นคำร้องทุกข์ดังกล่าวด้วย

ข้อ 22

เมื่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ได้รับคำร้องทุกข์แล้ว ให้มีหนังสือแจ้งพร้อมทั้งส่งสำเนาคำร้องทุกข์ให้ผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ทราบโดยเร็ว และให้ผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์นั้นส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และคำชี้แจงของตน (ถ้ามี) ให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ประกอบการพิจารณาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องทุกข์

ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาได้รับคำร้องทุกข์ ให้ผู้บังคับบัญชานั้นส่งคำร้องทุกข์พร้อมทั้งสำเนาต่อไปยังผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องทุกข์

เมื่อผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ได้รับคำร้องทุกข์ที่ยนผ่านตามข้อ 21 หรือ ส่งตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้จัดส่งคำร้องทุกข์พร้อมทั้งสำเนาและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และคำชี้แจงของตน (ถ้ามี) ไปยังผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องทุกข์

ข้อ 23

การพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์พิจารณาจากเรื่องราวการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์ของผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ ในกรณีที่จำเป็นและสมควร อาจจะขอเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม รวมทั้งคำชี้แจงจากหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ ห้างหุ้นส่วน บริษัท ข้าราชการ หรือบุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำหรือชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณาได้

ในกรณีที่ผู้ร้องทุกข์ขอแถลงการณ์ด้วยวาจา หากผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์เห็นว่าการแถลงการณ์ด้วยวาจาไม่จำเป็นแก่การพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ จะไม่ให้แถลงการณ์ด้วยวาจาก็ได้ แต่ให้บันทึกเหตุผลไว้ด้วย

ในกรณีที่นัดให้ผู้ร้องทุกข์มาแถลงการณ์ด้วยวาจา ให้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ทราบด้วยว่า ถ้าประสงค์จะแถลงแก้ก็ให้มาแถลงหรือมอบหมายเป็นหนังสือ ให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องเป็นผู้แทนมาแถลงแก้ด้วยวาจาในการพิจารณาครั้งนั้นได้ ทั้งนี้ ให้แจ้งล่วงหน้าตามควรแก่กรณี และเพื่อประโยชน์ในการแถลงแก้ดังกล่าว ให้ผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์หรือผู้แทน (ถ้ามี) เข้าฟังการแถลงการณ์ด้วยวาจาของผู้ร้องทุกข์ได้

ข้อ 24

ให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับคำร้องทุกข์และเอกสารหลักฐานตามข้อ 22 แต่ถ้ามีความจำเป็นไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเวลาดังกล่าว ให้ขยายเวลาได้อีกไม่เกินสามสิบวัน และให้บันทึกแสดงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องขยายเวลาไว้ด้วย

ในกรณีที่ขอขยายเวลาตามวรรคหนึ่งแล้วการพิจารณายังไม่แล้วเสร็จ ให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ขยายเวลาพิจารณาได้อีกไม่เกินสามสิบวัน และให้พิจารณากำหนดมาตรการที่จะทำให้การพิจารณาแล้วเสร็จโดยเร็วและบันทึกไว้เป็นหลักฐาน และให้ส่งหลักฐานดังกล่าวไปยังผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปของผู้ร้องทุกข์ภายในสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดขยายเวลาตามวรรคหนึ่ง เพื่อที่ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปจะได้ติดตามแนะนำและชี้แจงให้การพิจารณาแล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ถ้าปลัดกระทรวงเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยร้องทุกข์ ให้ส่งหลักฐานดังกล่าวไปยังเลขาธิการ ก.พ. ในฐานะเลขานุการของ ก.พ.ค. เพื่อดำเนินการต่อไป

ข้อ 25

ในการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ ให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ มีอำนาจไม่รับเรื่องร้องทุกข์ ยกคำร้องทุกข์ หรือมีคำวินิจฉัยให้แก้ไขหรือยกเลิกคำสั่ง และให้เยียวยาความเสียหาย ให้ผู้ร้องทุกข์ หรือให้ดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม โดยให้นำระเบียบที่ ก.พ.ค. กำหนดในเรื่องเดียวกันนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

เมื่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ได้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ประการใดแล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยนั้นในโอกาสแรกที่ทำได้ และเมื่อได้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว ให้แจ้งให้ผู้ร้องทุกข์ทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว

คำวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ของผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ให้เป็นที่สุด ในกรณีที่ผู้ร้องทุกข์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยนั้น มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองต่อไปได้

ข้อ 26

ในกรณีที่ยังไม่มีระเบียบ ก.พ.ค. เรื่องการเยียวยาความเสียหายให้ผู้ร้องทุกข์หรือให้ดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมใช้บังคับ ให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์สั่งการในเรื่องการเยียวยาและดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมไปพลางก่อนตามที่เห็นสมควรได้โดยให้นำประโยชน์ของทางราชการมาประกอบการพิจารณาด้วย

เมื่อมีระเบียบ ก.พ.ค. ในเรื่องเดียวกันนี้ใช้บังคับแล้ว หากการดำเนินการตามที่ได้สั่งการไปนั้นมีมาตรฐานต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดในระเบียบ ก.พ.ค. ก็ให้ดำเนินการเพิ่มเติมให้ครบถ้วนเท่าที่ทำได้ และให้ถือว่าเป็นการเยียวยาหรือดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามระเบียบ ก.พ.ค. แล้ว

ข้อ 27

ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์อาจถูกคัดค้านได้ โดยให้นำความในหมวด 3 ข้อ 58 มาใช้บังคับกับเหตุแห่งการคัดค้านและการยื่นคำคัดค้าน โดยอนุโลม

ข้อ 28

ในกรณีที่ผู้ร้องทุกข์คัดค้านผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ ให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ร้องทุกข์เหนือผู้ถูกคัดค้านเป็นผู้พิจารณาคำคัดค้าน ถ้าเห็นว่าคำคัดค้านไม่มีเหตุผลก็ให้มีคำสั่งยกคำคัดค้าน คำสั่งดังกล่าวให้เป็นที่สุด และแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อดำเนินการต่อไป แต่ถ้าเห็นว่าคำคัดค้านมีเหตุผลรับฟังได้ให้แจ้งให้ผู้ถูกคัดค้านกับผู้ร้องทุกข์ทราบ กรณีนี้ให้ผู้พิจารณาคำคัดค้านเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์แทน และให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการในเรื่องการพิจารณาวินิจฉัยร้องทุกข์ข้างต้น มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ข้อ 29

ในกรณีที่ปลัดกระทรวงเป็นผู้ถูกคัดค้าน ให้ส่งคำคัดค้านไปที่เลขาธิการ ก.พ. ในฐานะเลขานุการ ก.พ.ค. และให้ ก.พ.ค. เป็นผู้พิจารณาคำคัดค้าน ถ้าเห็นว่าคำคัดค้านไม่มีเหตุผลก็ให้มีคำสั่งยกคำคัดค้าน คำสั่งดังกล่าวให้เป็นที่สุด และแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อดำเนินการต่อไป แต่ถ้าเห็นว่าคำคัดค้านมีเหตุผลรับฟังได้ก็ให้แจ้งให้ผู้ร้องทุกข์ทราบและแนะนำผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ประกอบด้วยผู้แทนผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์หนึ่งคน ผู้แทนผู้ร้องทุกข์หนึ่งคน ผู้แทนผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์หนึ่งคน ทั้งนี้ ให้เลขาธิการ ก.พ. ตั้งข้าราชการสำนักงาน ก.พ. หนึ่งคนร่วมเป็นกรรมการ ด้วย และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการดังกล่าวประชุมและเลือกกันเองคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ และให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต้นสังกัดเป็นเลขานุการและจะให้มีผู้ช่วยเลขานุการ ก็ได้

เมื่อคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งพิจารณามีมติประการใด ให้เสนอต่อปลัดกระทรวงผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยตามที่เห็นสมควร และการทำคำวินิจฉัยในกรณีนี้ ให้นำข้อ 16 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ข้อ 30

เมื่อผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ได้พจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์เสร็จสิ้นลงแล้ว ให้รายงานผลการดำเนินการตามคำวินิจฉัยพร้อมทั้งสำเนาคำวินิจฉัยไปยัง ก.พ.ค. ภายในสิบห้าวันนับแต่ได้รับแจ้งผลการดำเนินการตามคำวินิจฉัยนั้นแล้ว เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยและพัฒนาระบบพิทักษ์ระบบคุณธรรม ต่อไป

หมวด 3

การร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค.

ส่วนที่ 1

การยื่นคำร้องทุกข์ การตรวจคำร้องทุกข์ การตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์

การจ่ายสำนวน และการสั่งรับหรือไม่รับคำร้องทุกข์ไว้พิจารณา

ข้อ 31

ในกรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือต่อรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง รัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือนายกรัฐมนตรี ให้ร้องทุกข์ตอ ก.พ.ค. โดยยื่นคำร้องทุกข์ต่อพนักงานผู้รับคำร้องทุกข์ที่สำนักงาน ก.พ. หรือจะส่งคำร้องทุกข์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังสำนักงาน ก.พ. ก็ได้

ข้อ 32

คำร้องทุกข์ที่ยื่นที่สำนักงาน ก.พ. ให้พนักงานผู้รับคำร้องทุกข์ออกใบรับคำร้องทุกข์ และลงทะเบียนรับคำร้องทุกข์ไว้เป็นหลักฐานในวันที่รับคำร้องทุกข์ตามระเบียบว่าด้วยงานสารบรรณ และให้ถือวันที่รับคำร้องทุกข์ตามหลักฐานดังกล่าวเป็นวันยื่นคำร้องทุกข์

ข้อ 33

คำร้องทุกข์ที่พนักงานผู้รับคำร้องทุกข์ได้รับไว้แล้ว ให้ลงทะเบียนเรื่องร้องทุกข์ในสารบบ และตรวจคำร้องทุกข์ในเบื้องต้น

  • (1) ถ้าเห็นว่าเป็นคำร้องทุกข์ที่มีการดำเนินการโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหมวด 1 ให้เสนอคำร้องทุกข์ดังกล่าวต่อประธาน ก.พ.ค. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
  • (2) ถ้าเห็นว่าเป็นคำร้องทุกข์ที่มีการดำเนินการโดยไม่สมบูรณ์ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหมวด 1 ให้พนักงานผู้รับคำร้องทุกข์แนะนำให้ผู้ร้องทุกข์แก้ไขให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด
  • (3) ถ้าเห็นว่าเป็นคำร้องทุกข์ที่ไม่อยู่ในอำนาจของ ก.พ.ค. จะรับไว้พิจารณาได้ หรือเป็นกรณี ตาม (2) แต่ผู้ร้องทุกข์ไม่แก้ไขภายในเวลาที่กำหนด ให้บันทึกไว้แล้วเสนอคำร้องทุกข์ดังกล่าวต่อประธาน ก.พ.ค. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

ข้อ 34

ให้ ก.พ.ค. ตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะเป็นองค์คณะวินิจฉัยก็ได้ แต่ละคณะประกอบด้วยกรรมการ ก.พ.ค. คนหนึ่งเป็นประธาน และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์อีกสองคนเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยร้องทุกข์ โดยจะกำหนดให้ประธาน ก.พ.ค. หรือกรรมการ ก.พ.ค. คนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์หลายคณะพร้อมกันก็ได้ และให้มีเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ. ที่ได้รับมอบหมายเป็นเลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการได้ตามความจำเป็น ในกรณีที่มีความจำเป็น ก.พ.ค. อาจแต่งตั้งให้คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์คนใดทำหน้าที่วินิจฉัยเรื่องอุทธรณ์ก็ได้

ข้อ 35

เมื่อได้มีการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์และได้มีการจ่ายสำนวนแล้ว ให้ประธานกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์แจ้งคำสั่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ให้ผู้ร้องทุกข์ทราบ โดยให้ผู้ร้องทุกข์ลงลายมือชื่อและวันที่รับทราบไว้เป็นหลักฐาน แล้วมอบสำเนาคำสั่งให้ไว้หนึ่งฉบับ หรือจะส่งสำเนาคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปให้ผู้ร้องทุกข์ ณ ที่อยู่ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการก็ได้ ในกรณีนี้เมื่อล่วงพ้นสิบห้าวันนับแต่วันส่งสำเนาคำสั่งดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ร้องทุกข์ได้รับทราบคำสั่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์แล้ว

ให้นำความตามวรรคหนึ่งใช้บังคับกับกรณีที่กรรมการ ก.พ.ค. คนหนึ่งเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ด้วย

ข้อ 36

เมื่อประธาน ก.พ.ค. ได้รับคำร้องทุกข์แล้ว ให้พิจารณาจ่ายสำนวนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 37 ถึงข้อ 43

ข้อ 37

ในกรณีที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นว่าคำร้องทุกข์ใดมีปัญหาข้อกฎหมายที่สำคัญ หรือผลการวินิจฉัยอาจกระทบต่อวิถีทางปฏิบัติราชการ หรือจะเป็นการวางบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการ หรือเป็นกรณีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับระบบคุณธรรมที่ ก.พ.ค. สมควรเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยเอง ก็ให้จ่ายสำนวนคำร้องทุกข์นั้นให้ ก.พ.ค. เป็นองค์คณะวินิจฉัย โดยให้ประธาน ก.พ.ค. ตั้งกรรมการ ก.พ.ค. คนหนึ่งเป็นกรรมการเจ้าของสำนวน และมีพนักงานผู้รับผิดชอบสำนวนเป็นผู้ช่วย

ข้อ 38

ในกรณีที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นว่าคำร้องทุกข์ใดเป็นกรณีทั่วไปที่ไม่มีลักษณะตามข้อ 37 ให้จ่ายสำนวนคำร้องทุกข์นั้นให้กรรมการ ก.พ.ค. คนหนึ่งหรือคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์คณะหนึ่งคณะใดเป็นองค์คณะวินิจฉัยก็ได้

ในกรณีที่กรรมการ ก.พ.ค. คนหนึ่งเป็นองค์คณะวินิจฉัย ให้ผู้นั้นเป็นกรรมการเจ้าของสำนวน และมีพนักงานผู้รับผิดชอบสำนวนเป็นผู้ช่วย

ในกรณีที่คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์คณะหนึ่งคณะใดเป็นองค์คณะวินิจฉัย ให้ประธานกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์คณะนั้นตั้งกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ในคณะคนหนึ่งเป็นกรรมการเจ้าของสำนวน และมีพนักงานผู้รับผิดชอบสำนวนเป็นผู้ช่วย

ข้อ 39

ในกรณีที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นว่าคำร้องทุกข์เรื่องใดเป็นร้องทุกข์ที่ไม่อาจรับไว้พิจารณาได้ ให้จ่ายสำนวนคำร้องทุกข์นั้นให้กรรมการ ก.พ.ค. คนหนึ่งเป็นกรรมการเจ้าของสำนวน หรือจะจ่ายให้คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์คณะหนึ่งทำหน้าที่เป็นองค์คณะวินิจฉัย ก็ได้

ข้อ 40

ในกรณีที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นว่าคำร้องทุกข์เรื่องใดเป็นร้องทุกข์ที่รับไว้พิจารณาได้ ให้จ่ายสำนวนคำร้องทุกข์ให้แก่กรรมการ ก.พ.ค. คนหนึ่ง หรือคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ เป็นองค์คณะวินิจฉัย หากมีการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ขึ้นหลายคณะ ให้ประธาน ก.พ.ค. จ่ายสำนวนตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

  • (1) ถ้ามีการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ แยกตามความเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ ให้จ่ายสำนวนให้ตรงกับความเชี่ยวชาญของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ตั้งไว้
  • (2) ถ้ามีการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ แยกตามกลุ่มของส่วนราชการหรือพื้นที่ตั้งของส่วนราชการใด ให้จ่ายสำนวนให้ตรงกับกลุ่มหรือพื้นที่ตั้งของส่วนราชการนั้น
  • (3) ในกรณีที่ไม่มีการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตาม (1) หรือ (2) หรือมีการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตาม (1) หรือ (2) ในลักษณะเดียวกันหลายคณะ หรือคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตาม (1) หรือ (2) มีคำร้องทุกข์ค้างการพิจารณาอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากจ่ายสำนวนให้แก่คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์นั้นอีก จะทำให้การพิจารณาล่าช้าหรือกระทบต่อความยุติธรรม ให้จ่ายสำนวนคำร้องทุกข์ตามที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นสมควร

ข้อ 41

กรรมการเจ้าของสำนวนอาจกำหนดประเด็นให้พนักงานผู้รับผิดชอบสำนวนวิเคราะห์และพิจารณาทำความเห็นเสนอในเบื้องต้นประกอบการพิจารณาขององค์คณะวินิจฉัย เพื่อพิจารณาสั่งรับหรือไม่รับคำร้องทุกข์ไว้พิจารณาดังนี้

  • (1) ถ้าเห็นว่าเป็นคำร้องทุกข์ที่มีการดำเนินการโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหมวด 1 และเป็นคำร้องทุกข์ที่รับไว้พิจารณาได้ ก็ให้องค์คณะวินิจฉัยมีคำสั่งรับคำร้องทุกข์นั้นไว้พิจารณา แล้วดำเนินการตามกระบวนพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ต่อไป
  • (2) ถ้าเห็นว่าเป็นคำร้องทุกข์ที่ยังไม่ชัดเจนหรือที่ยังมีการดำเนินการโดยไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหมวด 1 ก็ให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องทุกข์ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็ให้เสนอองค์คณะวินิจฉัยเพื่อพิจารณามีคำวินิจฉัยต่อไป
  • (3) ถ้าเห็นว่าเป็นคำร้องทุกข์ที่ไม่อาจรับไว้พิจารณาได้ตามข้อ 42 ก็ให้เสนอองค์คณะวินิจฉัย เพื่อพิจารณามีคำวินิจฉัยต่อไป

ข้อ 42

ห้ามมิให้รับคำร้องทุกข์ดังต่อไปนี้ไว้พิจารณา

  • (1) เป็นกรณีที่ไม่อาจร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ได้ตามข้อ 7
  • (2) ผู้ร้องทุกข์มิใช่เป็นผู้มีสิทธิร้องทุกข์ตามข้อ 7
  • (3) ผู้ร้องทุกข์มิใช่เป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากผู้มีสิทธิร้องทุกข์แทนตามข้อ 10
  • (4) เป็นคำร้องทุกข์ที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ 8
  • (5) เป็นเรื่องที่ได้เคยมีการร้องทุกข์และได้มีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว
  • (6) เป็นกรณีตามข้อ 41 (2)

ข้อ 43

เมื่อได้รับความเห็นของกรรมการเจ้าของสำนวนตามข้อ 41 (2) หรือ (3) ให้องค์คณะวินิจฉัยพิจารณามีคำวินิจฉัยดังนี้

  • (1) ถ้าเห็นว่าเป็นคำร้องทุกข์ที่รับไว้พิจารณาไม่ได้ตามข้อ 42 ก็ให้มีคำวินิจฉัยไม่รับเรื่องร้องทุกข์นั้นไว้พิจารณาและสั่งจำหน่ายเรื่องร้องทุกข์นั้นออกจากสารบบ
  • ในกรณีที่กรรมการ ก.พ.ค. เป็นกรรมการเจ้าของสำนวนหรือคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์เป็นองค์คณะวินิจฉัย เมื่อดำเนินการตามวรรคหนึ่งเสร็จสิ้นแล้ว ให้รายงาน ก.พ.ค. เพื่อทราบต่อไปด้วย
  • (2) ถ้าเห็นว่าเป็นคำร้องทุกข์ที่อาจรับไว้พิจารณาได้ ก็ให้มีคำสั่งให้กรรมการเจ้าของสำนวนดำเนินการตามกระบวนพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ต่อไป

ส่วนที่ 2

กระบวนพิจารณาเรื่องร้องทุกข์

ข้อ 44

เมื่อได้มีการสั่งรับคำร้องทุกข์ไว้พิจารณาแล้ว ให้กรรมการเจ้าของสำนวนมีคำสั่งให้คู่กรณีในการร้องทุกข์ทำคำแก้คำร้องทุกข์ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งหรือภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยส่งสำเนาคำร้องทุกข์และสำเนาหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปให้ด้วย

ในกรณีที่เห็นสมควร กรรมการเจ้าของสำนวนจะกำหนดประเด็นที่คู่กรณีในการร้องทุกข์ต้องชี้แจงหรือกำหนดให้จัดส่งพยานหลักฐานที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาวินิจฉัยร้องทุกข์ไปให้ด้วยก็ได้

ข้อ 45

ให้คู่กรณีในการร้องทุกข์ทำคำแก้คำร้องทุกข์และคำชี้แจงตามประเด็นที่กำหนดให้โดยชัดแจ้งและครบถ้วน พร้อมส่งพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และหลักฐานการรับทราบหรือควรได้ทราบเหตุของการร้องทุกข์ โดยจัดทำสำเนาคำแก้คำร้องทุกข์ สำเนาคำชี้แจง และสำเนาพยานหลักฐานตามจำนวนที่กรรมการเจ้าของสำนวนกำหนด ยื่นภายในระยะเวลาตามข้อ 44 วรรคหนึ่ง

ข้อ 46

ในกรณีที่กรรมการเจ้าของสำนวนเห็นว่าคำแก้คำร้องทุกข์หรือคำชี้แจงของคู่กรณีในการร้องทุกข์ หรือพยานหลักฐานที่ส่งมาให้ยังไม่ครบถ้วนหรือชัดเจนเพียงพอ ให้สั่งให้คู่กรณีในการร้องทุกข์แก้ไขเพิ่มเติมคำแก้คำร้องทุกข์หรือจัดทำคำชี้แจงเพิ่มเติม หรือส่งพยานหลักฐานเพิ่มเติมมาให้ภายในระยะเวลาที่กำหนด

ข้อ 47

ในกรณีที่คู่กรณีในการร้องทุกข์มิได้จัดทำคำแก้คำร้องทุกข์และคำชี้แจงตามประเด็นที่กำหนดให้ชัดเจน พร้อมทั้งพยานหลักฐานยื่นต่อกรรมการเจ้าของสำนวนในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าคู่กรณีในการร้องทุกข์ยอมรับข้อเท็จจริงตามข้อร้องทุกข์ของผู้ร้องทุกข์ และให้กรรมการเจ้าของสำนวนพิจารณาดำเนินการต่อไปตามที่เห็นเป็นการยุติธรรม

ข้อ 48

การพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ให้กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์พิจารณาจากพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินเรื่องนั้น ประกอบกับคำร้องทุกข์และคำแก้คำร้องทุกข์ ในกรณีจำเป็นและสมควร ให้กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์มีอำนาจดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 117 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ส่วนที่ 3

การสรุปสำนวน และการประชุมวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์

ข้อ 49

ในกรณีที่กรรมการเจ้าของสำนวนพิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้มาจากคำร้องทุกข์ คำแก้คำร้องทุกข์ เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเรื่องนั้น และข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม (ถ้ามี) แล้วเห็นว่ามีข้อเท็จจริงเพียงพอต่อการวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์นั้นแล้ว ให้จัดทำบันทึกสรุปสำนวนของกรรมการเจ้าของสำนวน ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย

  • (1) ชื่อผู้ร้องทุกข์และคู่กรณีในการร้องทุกข์
  • (2) สรุปคำร้องทุกข์
  • (3) สรุปคำแก้คำร้องทุกข์
  • (4) สรุปข้อเท็จจริงที่กรรมการเจ้าของสำนวนแสวงหาเพิ่มเติม (ถ้ามี)
  • (5) ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง
  • (6) ความเห็นของกรรมการเจ้าของสำนวนเกี่ยวกับประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยและคำขอของผู้ร้องทุกข์

ให้กรรมการเจ้าของสำนวนเสนอบันทึกสรุปสำนวนตามวรรคหนึ่งและสำนวนพร้อมเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องร้องทุกข์ทั้งหมดให้องค์คณะวินิจฉัยพิจารณาวินิจฉัยต่อไป

ข้อ 50

เมื่อองค์คณะวินิจฉัยได้พิจารณาบันทึกสรุปสำนวนของกรรมการเจ้าของสำนวน หากเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ได้มายังไม่เพียงพอหรือมีข้อที่ควรปรับปรุง ก็ให้กรรมการเจ้าของสำนวนรับไปดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมหรือดำเนินการปรับปรุงตามความเห็นขององค์คณะวินิจฉัย แล้วนำผลการดำเนินการเสนอให้องค์คณะวินิจฉัยเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

ในกรณีที่องค์คณะวินิจฉัยพิจารณาตามวรรคหนึ่งแล้ว เห็นว่าข้อเท็จจริงที่ได้มาเพียงพอต่อการวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์นั้น ก็ให้ดำเนินการตามข้อ 51 ต่อไป

ข้อ 51

ในการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ ให้องค์คณะวินิจฉัยจัดให้มีการประชุมพิจารณาเรื่องร้องทุกข์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง เพื่อให้คู่กรณีมีโอกาสมาแถลงด้วยวาจาต่อหน้าองค์คณะวินิจฉัย เว้นแต่ในกรณีที่องค์คณะวินิจฉัยเห็นว่าเรื่องร้องทุกข์นั้นมีข้อเท็จจริงชัดเจนเพียงพอต่อการพิจารณาวินิจฉัยแล้วหรือมีข้อเท็จจริงและประเด็นวินิจฉัยไม่ซับซ้อน และการมาแถลงด้วยวาจาไม่จำเป็นแก่การพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ จะให้งดการแถลงด้วยวาจาเสียก็ได้

ในกรณีที่มีการประชุมและให้มีการแถลงตามวรรคหนึ่ง เมื่อองค์คณะวินิจฉัยได้กำหนดวันประชุมพิจารณาเรื่องร้องทุกข์แล้ว ให้กรรมการเจ้าของสำนวนแจ้งกำหนดวันประชุมพิจารณาเรื่องร้องทุกข์พร้อมทั้งส่งสรุปคำร้องทุกข์และสรุปคำแก้คำร้องทุกข์ ตลอดจนสรุปข้อเท็จจริงที่กรรมการเจ้าของสำนวนแสวงหาเพิ่มเติม (ถ้ามี) ให้แก่คู่กรณีทราบล่วงหน้าก่อนวันประชุมพิจารณาไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เพื่อเปิดโอกาสให้คู่กรณีได้แถลงสรุปคำร้องทุกข์และคำแก้คำร้องทุกข์ของตน ทั้งนี้ คู่กรณีจะไม่มาในวันประชุมพิจารณาก็ได้ หากในกรณีที่ผู้ร้องทุกข์หรือคู่กรณีในการร้องทุกข์ไม่มาในวันประชุมพิจารณา ก็ให้พิจารณาลับหลังไปได้และให้บันทึกไว้เป็นหลักฐานด้วย

ข้อ 52

ในกรณีที่มีการประชุมพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ตามข้อ 51 วรรคหนึ่ง เมื่อเริ่มการประชุม ให้กรรมการเจ้าของสำนวนเสนอสรุปข้อเท็จจริงและประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย แล้วให้ผู้ร้องทุกข์และคู่กรณีในการร้องทุกข์แถลงด้วยวาจาเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัย

คำแถลงด้วยวาจาของผู้ร้องทุกข์และของคู่กรณีในการร้องทุกข์ต้องกระชับและอยู่ในประเด็น โดยไม่อาจยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอื่นนอกจากที่ปรากฏในคำร้องทุกข์และคำแก้คำร้องทุกข์ได้

ส่วนที่ 4

การทำคำวินิจฉัย

ข้อ 53

ในการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ ให้องค์คณะวินิจฉัยมีคำวินิจฉัยไม่รับเรื่องร้องทุกข์ไว้พิจารณาตามข้อ 43 (1) หรือมีคำวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น ดังนี้ ยกคำร้องทุกข์ หรือมีคำวินิจฉัยให้แก้ไขหรือยกเลิกคำสั่ง และให้เยียวยาความเสียหายให้ผู้ร้องทุกข์ หรือให้ดำเนินการอื่นใด เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามระเบียบที่ ก.พ.ค. กำหนด

ข้อ 54

คำวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ขององค์คณะวินิจฉัย ให้นำความในข้อ 16 หมวด 1 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีที่คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ หรือกรรมการ ก.พ.ค. เจ้าของสำนวน เป็นองค์คณะวินิจฉัย และได้จัดทำคำวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งเสร็จสิ้นแล้ว ให้รายงาน ก.พ.ค. เพื่อทราบ หากมีข้อแนะนำหรือข้อควรปรับปรุงประการใด ให้แก้ไขปรับปรุงตามความเห็นของ ก.พ.ค. ต่อไป

ในกรณีที่องค์คณะวินิจฉัยพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์แล้วเห็นสมควรให้มีการเยียวยาแก่ผู้ร้องทุกข์ หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และอยู่ในระหว่างที่ยังไม่ได้มีระเบียบ ก.พ.ค.ในเรื่องดังกล่าวใช้บังคับ ให้นำความตามข้อ 26 มาใช้บังคับโดยอนุโลมไปพลางก่อน

ข้อ 55

การพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามกฎ ก.พ.ค. นี้ ให้องค์คณะวินิจฉัยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับคำร้องทุกข์และเอกสารหลักฐานตามข้อ 45 แต่ถ้ามีความจำเป็นไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเวลาดังกล่าว ก็ขยายเวลาได้โดยเสนอประธาน ก.พ.ค. เพื่อพิจารณาตามควรแก่กรณี และให้บันทึกเหตุขัดข้องให้ปรากฏด้วย

ข้อ 56

เมื่อได้วินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์และดำเนินการตามข้อ 54 วรรคสองแล้ว ให้แจ้งให้คู่กรณีทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว คำวินิจฉัยนั้นให้เป็นที่สุด

ในกรณีที่ผู้ร้องทุกข์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามวรรคหนึ่ง มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองต่อไปได้

ข้อ 57

คำวินิจฉัยร้องทุกข์ให้ผูกพันคู่กรณีในการร้องทุกข์และผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะต้องปฏิบัติตามนับแต่วันที่กำหนดไว้ในคำวินิจฉัยร้องทุกข์นั้น

ส่วนที่ 5

การคัดค้านกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์

ข้อ 58

ผู้ร้องทุกข์หรือคู่กรณีในการร้องทุกข์อาจคัดค้านกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ถ้าผู้นั้นมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

  • (1) เป็นผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุให้เกิดความคับข้องใจ หรือเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้บังคับบัญชาดังกล่าว
  • (2) มีส่วนได้เสียในเรื่องที่ร้องทุกข์
  • (3) มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ร้องทุกข์
  • (4) มีความเกี่ยวพันทางเครือญาติหรือทางสมรสกับบุคคลตาม (1) (2) หรือ (3) อันอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ร้องทุกข์

การคัดค้านดังกล่าวต้องทำเป็นหนังสือยื่นต่อประธาน ก.พ.ค. ภายในเจ็ดวันนับแต่วันรับทราบหรือถือว่าทราบคำสั่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ โดยแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งการคัดค้านไว้ในหนังสือคัดค้านว่า จะทำให้การพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ไม่ได้รับความจริงและความยุติธรรมอย่างไรด้วย

ข้อ 59

เมื่อมีการยื่นคำคัดค้านกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์คนใด ให้ประธาน ก.พ.ค. แจ้งให้กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ถูกคัดค้านงดการปฏิบติหน้าที่ไว้จนกว่าประธาน ก.พ.ค. จะได้มีการชี้ขาดในเรื่องการคัดค้านนั้นแล้ว

ในการพิจารณาคำคัดค้านให้ประธาน ก.พ.ค. พิจารณาจากคำคัดค้านและบันทึกชี้แจงของกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ผู้ถูกคัดค้าน หากประธาน ก.พ.ค. เห็นว่ามิได้เป็นไปตามคำคัดค้านและมีเหตุผลสมควรที่จะให้ผู้ถูกคัดค้านปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ให้นำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ก.พ.ค. เพื่อพิจารณา ถ้าที่ประชุมมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการที่ไม่ถูกคัดค้าน ก็ให้กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ มติดังกล่าวให้กระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ แล้วให้เป็นที่สุด

ในกรณีที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นว่าคำคัดค้านฟังขึ้น หรือมีเหตุผลพอที่จะฟังได้ว่าหากให้ผู้ถูกคัดค้านปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอาจทำให้การพิจารณาไม่ได้ความจริงและความยุติธรรม ให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกคัดค้านพ้นจากการเป็นกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์เรื่องนั้น แล้วแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบด้วย

ในกรณีที่ประธาน ก.พ.ค. สั่งให้กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ถูกคัดค้านถอนตัวจากการพิจารณา ให้ประธาน ก.พ.ค. แต่งตั้งกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์จากคณะหนึ่งคณะใดหรือตนเองปฏิบัติหน้าที่แทนตามความจำเป็น

ข้อ 60

กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ผู้ใดเห็นว่าตนมีกรณีอันอาจถูกคัดค้านได้ตามข้อ 40 หรือเห็นว่ามีเหตุอื่นที่อาจจะมีการกล่าวอ้างในภายหลังได้ว่า ตนไม่อยู่ในฐานะที่จะปฏิบัติหน้าที่โดยเที่ยงธรรม ให้แจ้งต่อประธาน ก.พ.ค. และถอนตัวจากการพิจารณาวินิจฉัยร้องทุกข์ และให้นำข้อ 58 และข้อ 59 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ข้อ 61

การที่กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ผู้ถูกคัดค้านที่ถูกสั่งให้งดการปฏิบัติหน้าที่หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ถูกสั่งให้ถอนตัวเพราะมีเหตุอันอาจถูกคัดค้านนั้น ย่อมไม่กระทบถึงการกระทำใด ๆ ที่ได้กระทำไปแล้ว แม้ว่าจะได้ดำเนินการหลังจากที่ได้มีการยื่นคำคัดค้าน

ส่วนที่ 6

การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานผู้รับคำร้องทุกข์และพนักงานผู้รับผิดชอบสำนวน

ข้อ 62

ให้เลขาธิการ ก.พ. แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ก.พ. เป็นพนักงานผู้รับคำร้องทุกข์ เพื่อปฏิบัติงานเกี่ยวกับการรับคำร้องทุกข์ การตรวจคำร้องทุกข์ และการดำเนินการทางธุรการอย่างอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 63

ให้เลขาธิการ ก.พ. แต่งตั้งพนักงานผู้รับผิดชอบสำนวนทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของกรรมการเจ้าของสำนวน เกี่ยวกับการพิจารณาวินิจฉัยร้องทุกข์และปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย

ประกาศ ณ วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ศราวุธ เมนะเศวต

ประธานกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม

หมายเหตุ :-

เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ.ค. ฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 123 และมาตรา 125 กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปตามลำดับ หรือ ก.พ.ค. แล้วแต่กรณี ในกรณีที่เกิดความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชา และเป็นกรณีที่ไม่อาจอุทธรณ์ตามหมวด 9 การอุทธรณ์ ได้ และบัญญัติให้คัดค้านกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ได้ด้วย ทั้งนี้ โดยให้การร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ การยื่นคัดค้าน และการพิจารณาคำคัดค้าน ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.ค. จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ.ค. นี้

กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวิินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551

แก้คำผิดในกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551

1)
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนที่ 129 ก หน้า 30 วันที่ 11 ธันวาคม 2551
องค์ความรู้กฎหมาย/กฎหมายลำดับรอง/กฎ_ก.พ.ค._ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์_พ.ศ._2551.txt · Last modified: 2017/10/27 14:37 by puirui