OCSC Wiki

คลังกลางความรู้ด้าน HR

User Tools

Site Tools


องค์ความรู้กฎหมาย:กฎหมายลำดับรอง:กฎ_ก.พ.ค._ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์_พ.ศ._2551

Table of Contents

กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. 2551

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์ และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 31 (5) มาตรา 114 วรรคสอง มาตรา 115 และมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ก.พ.ค. จึงออกกฎ ก.พ.ค. ไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1

กฎ ก.พ.ค. นี้เรียกว่า “กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. 2551”

ข้อ 2

1) กฎ ก.พ.ค. นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3

ในกฎ ก.พ.ค. นี้

“ผู้อุทธรณ์” หมายความว่า ผู้มีสิทธิอุทธรณ์ และผู้ที่รับมอบหมายให้อุทธรณ์แทน

“คู่กรณี” หมายความว่า ผู้อุทธรณ์และคู่กรณีในอุทธรณ์

“คู่กรณีในอุทธรณ์” หมายความว่า ผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษทางวินัยหรือสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา 110 (1) (3) (5) (6) (7) และ (8) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่เป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์

“พนักงานผู้รับอุทธรณ์” หมายความว่า เจ้าหน้าที่ที่สำนักงาน ก.พ. ได้มอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการรับอุทธรณ์ การตรวจหนังสืออุทธรณ์

“นิติกรผู้รับผิดชอบสำนวน” หมายความว่า นิติกรที่สำนักงาน ก.พ. ได้มอบหมายให้รับผิดชอบสำนวนเรื่องอุทธรณ์

“นิติกรผู้แถลง” หมายความว่า นิติกรผู้แถลงประจำสำนวนที่สำนักงาน ก.พ. ได้มอบหมายให้เป็นผู้แถลงเรื่องอุทธรณ์ต่อองค์คณะวินิจฉัย

“กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์” หมายความว่า กรรมการ ก.พ.ค. และบุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งจาก ก.พ.ค. เพื่อเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์

“องค์คณะวินิจฉัย” หมายความว่า ก.พ.ค. หรือคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ ก.พ.ค. ตั้งเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องอุทธรณ์ และต้องมีกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์อย่างน้อยสองคนจึงจะเป็นองค์คณะวินิจฉัย

“กรรมการเจ้าของสำนวน” หมายความว่า กรรมการ ก.พ.ค. กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และประธานกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากประธาน ก.พ.ค. ให้เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนเรื่องอุทธรณ์

ข้อ 4

ให้ประธาน ก.พ.ค. รักษาการตามกฎ ก.พ.ค. นี้ และให้มีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎ ก.พ.ค. นี้

ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎ ก.พ.ค. นี้ ประธาน ก.พ.ค. อาจหารือที่ประชุม ก.พ.ค. เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยก็ได้

หมวด 1

บททั่วไป

ข้อ 5

วิธีพิจารณาอุทธรณ์ของ ก.พ.ค. เป็นวิธีพิจารณาโดยใช้ระบบไต่สวนตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.ค. นี้

ในกรณีที่กฎหมายหรือระเบียบตามวรรคหนึ่ง มิได้กำหนดเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

ข้อ 6

ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในกฎ ก.พ.ค. นี้หรือตามที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นสมควรหรือคู่กรณีมีคำขอ ประธาน ก.พ.ค มีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

ข้อ 7

ในกรณีที่มิได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ.ค. ในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนพิจารณาในการเสนอเรื่องอุทธรณ์และตรวจอุทธรณ์ การแสวงหาข้อเท็จจริง การสรุปสำนวน การรับฟังพยานหลักฐาน หรือในการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างอื่นก่อนมีคำวินิจฉัย เมื่อองค์คณะวินิจฉัยเห็นสมควรหรือเมื่อคู่กรณีฝ่ายที่เสียหายเนื่องจากการที่มิได้ปฏิบัติเช่นว่านั้นมีคำขอ องค์คณะวินิจฉัยมีอำนาจ สั่งยกเลิกกระบวนพิจารณาที่ผิดกฎ ก.พ.ค. นั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่เห็นสมควร

ข้อความดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง คู่กรณีฝ่ายที่เสียหายอาจยกขึ้นได้ไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนมีคำสั่งหรือคำวินิจฉัย แต่ต้องไม่เกินแปดวันนับแต่วันที่ทราบถึงเหตุดังกล่าว หรือมิได้ให้สัตยาบันแก่การนั้น

การยกเลิกกระบวนพิจารณาตามวรรคหนึ่ง อันมิใช่เรื่องที่คู่กรณีละเลยไม่ดำเนินกระบวนพิจารณาเรื่องนั้นภายในระยะเวลาที่กฎหมาย กฎ ก.พ.ค. หรือที่องค์คณะวินิจฉัยกำหนดไว้ ไม่ตัดสิทธิคู่กรณีนั้นในอันที่จะดำเนินกระบวนพิจารณานั้นใหม่ให้ถูกต้องได้ ==== ข้อ 8 ====

การทำคำขอหรือคำร้องต่อ ก.พ.ค. ในกระบวนการพิจารณาของ ก.พ.ค. ให้ทำเป็นหนังสือ เว้นแต่ ก.พ.ค. จะอนุญาตให้ทำด้วยวาจา ในกรณีเช่นนี้ให้ ก.พ.ค. พิจารณาจดแจ้งข้อความนั้นไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา

ข้อ 9

ให้มีการจดแจ้งรายงานการไต่สวน การนั่งพิจารณาหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ไว้ในรายงานกระบวนพิจารณารวมไว้ในสำนวนเรื่องอุทธรณ์ทุกครั้ง

รายงานกระบวนพิจารณานั้น ให้มีรายละเอียดเกี่ยวกับเลขเรื่องที่ ชื่อองค์คณะวินิจฉัย ชื่อคู่กรณี สถานที่ วันและเวลาที่ดำเนินการ ข้อความโดยย่อเกี่ยวกับเรื่องที่กระทำ และลายมือชื่อองค์คณะวินิจฉัย ในกรณีที่กระบวนพิจารณาใดกระทำต่อหน้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือพยาน ให้คู่กรณีหรือพยานดังกล่าวลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาด้วย

ข้อ 10

ถ้าคู่กรณี พยาน หรือบุคคลใด จะต้องลงลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได หรือเครื่องหมายอย่างอื่นแทนการลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณา บันทึก หรือเอกสารใดเพื่อแสดงการรับรู้รายงานหรือบันทึกนั้น หรือเพื่อรับรองการอ่านหรือส่งเอกสารนั้น หากกระทำโดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนแล้ว ให้ถือเสมอกับการลงลายมือชื่อ แต่ถ้ากระทำต่อหน้าองค์คณะวินิจฉัยไม่จำต้องมีลายมือชื่อของพยานสองคนรับรอง

ถ้าคู่กรณี พยาน หรือบุคคลที่จะต้องลงลายมือชื่อในรายงาน บันทึก หรือเอกสารดังกล่าว ลงลายมือชื่อไม่ได้หรือไม่ยอมลงลายมือชื่อ ให้จดแจ้งเหตุที่ไม่มีลายมือชื่อเช่นว่านั้นไว้

ข้อ 11

การยื่นเอกสารหรือพยานหลักฐานต่อ ก.พ.ค. คู่กรณีจะยื่นด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นยื่นต่อ ก.พ.ค. หรือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของ ก.พ.ค. หรือจะส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้ ในกรณีที่ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ให้ถือว่าวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางประทับตรารับที่ซองส่งเอกสารเป็นวันที่ยื่นเอกสารหรือพยานหลักฐานต่อ ก.พ.ค.

การมอบฉันทะให้ผู้อื่นยื่นเอกสารหรือพยานหลักฐาน ให้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้มอบ ผู้รับมอบ และพยาน

ข้อ 12

ในกรณีที่ ก.พ.ค. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของ ก.พ.ค. ต้องแจ้งข้อความ หรือต้องส่งเอกสารใดให้แก่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ถ้าผู้นั้นหรือผู้แทนของผู้นั้นมิได้รับทราบข้อความหรือมิได้รับเอกสารจาก ก.พ.ค. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของ ก.พ.ค. ให้แจ้งข้อความเป็นหนังสือหรือส่งเอกสารทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ เว้นแต่ ก.พ.ค. จะมีคำสั่งให้แจ้งข้อความหรือส่งเอกสารโดยวิธีอื่น

ในกรณีที่คู่กรณีหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องยื่นคำขอต่อ ก.พ.ค. เพื่อขอให้มีการแจ้งข้อความหรือส่งเอกสารโดยวิธีอื่น คู่กรณีหรือบุคคลซึ่งยื่นคำขอต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการแจ้งข้อความหรือส่งเอกสารโดยวิธีดังกล่าว

ข้อ 13

การแจ้งข้อความเป็นหนังสือหรือส่งเอกสารทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้ถือว่าวันที่ระบุในใบตอบรับเป็นวันที่ได้รับแจ้ง หากไม่ปรากฏวันที่ในใบตอบรับ ให้ถือว่าวันที่ครบกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันส่งเป็นวันที่ได้รับแจ้ง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าได้รับก่อนหรือหลังจากวันนั้น หรือไม่ได้รับ

การแจ้งข้อความหรือส่งเอกสารโดยวิธีอื่นตามคำสั่ง ก.พ.ค. ให้ ก.พ.ค. กำหนดวันที่ถือว่าผู้รับได้รับแจ้งไว้ด้วย

ข้อ 14

การแจ้งข้อความเป็นหนังสือหรือส่งเอกสารโดยวิธีให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของ ก.พ.ค. หรือบุคคลอื่นนำไปส่ง ถ้าผู้รับไม่ยอมรับหรือถ้าในขณะนำไปส่งไม่พบผู้รับ ให้วางหรือปิดหนังสือหรือเอกสารนั้นไว้ในที่ซึ่งเห็นได้ง่าย ณ สถานที่นั้นต่อหน้าเจ้าพนักงานตำรวจ ข้าราชการอื่น พนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และให้ถือว่าผู้รับได้รับแจ้งในวันที่วางหรือปิดหนังสือหรือเอกสารนั้น

ในกรณีที่ไม่พบผู้รับ จะส่งหนังสือหรือเอกสารแก่บุคคลอื่นซึ่งบรรลุนิติภาวะที่อยู่หรือทำงานในสถานที่นั้นก็ได้ และให้ถือว่าผู้รับได้รับแจ้งในวันที่ได้ส่งหนังสือหรือเอกสารให้แก่บุคคลนั้น

การดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ส่ง วาง หรือปิดหนังสือ หรือเอกสารในเวลากลางวันระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของ ก.พ.ค. หรือบุคคลผู้นำไปส่ง มอบใบรับลงลายมือชื่อผู้รับ หรือมอบรายการส่งหนังสือหรือเอกสารลงลายมือชื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของ ก.พ.ค. หรือบุคคลผู้นำไปส่ง แล้วแต่กรณี ต่อ ก.พ.ค. เพื่อรวมไว้ในสำนวน

ใบรับหรือรายงานตามวรรคสาม ต้องระบุวิธีส่ง เวลา วัน เดือน ปีที่ส่งหนังสือหรือเอกสาร รวมทั้งชื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของ ก.พ.ค. หรือบุคคลผู้นำไปส่ง ใบรับหรือรายงานดังกล่าวจะทำโดยวิธีจดลงไว้ที่หนังสือหรือเอกสารต้นฉบับซึ่งยื่นต่อ ก.พ.ค. ก็ได้

ข้อ 15

เอกสารหรือพยานหลักฐานที่คู่กรณียื่นต่อ ก.พ.ค. หรือที่ ก.พ.ค. ได้มา ให้เปิดโอกาสให้คู่กรณีขอตรวจดู ทราบ คัดสำเนา หรือขอสำเนาอันรับรองถูกต้อง และ ก.พ.ค. อาจส่งสำเนาให้คู่กรณีตามกฎ ก.พ.ค. นี้ เว้นแต่กรณีที่มีกฎหมายคุ้มครองให้ไม่ต้องเปิดเผย หรือกรณีที่ ก.พ.ค. เห็นว่าจำเป็นต้องไม่เปิดเผยเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่การดำเนินงานของรัฐ

ในกรณีที่เอกสารหรือพยานหลักฐานมีการกำหนดชั้นความลับไว้ มีข้อความที่ไม่เหมาะสม หรือมีข้อความที่อาจเป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทบุคคลใด ให้อยู่ในดุลพินิจของ ก.พ.ค. ที่จะไม่เปิดโอกาสให้คู่กรณีขอตรวจดู ทราบ คัดสำเนา ขอสำเนาอันรับรองถูกต้อง หรือไม่ส่งสำเนาให้คู่กรณี ทั้งนี้ ไม่เป็นการตัดอำนาจ ก.พ.ค. ที่จะจัดให้มีการทำสรุปเรื่องและเปิดโอกาสให้คู่กรณีขอตรวจดู ทราบ หรือคัดสำเนาสรุปเรื่อง หรือขอสำเนาอันรับรองถูกต้องของสรุปเรื่อง หรือส่งสำเนาสรุปเรื่องดังกล่าวให้คู่กรณี

ข้อ 16

พยานเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการให้ถ้อยคำของตนในสำนวน หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียอาจยื่นคำขอต่อ ก.พ.ค. เพื่อขอตรวจดูเอกสารทั้งหมดหรือบางฉบับในสำนวน หรือขอคัดสำเนาหรือขอสำเนาอันรับรองถูกต้องก็ได้ แต่ทั้งนี้ ห้ามอนุญาตเช่นว่านั้นแก่

  • (1) บุคคลภายนอก ในสำนวนที่พิจารณาโดยไม่เปิดเผย
  • (2) พยานหรือบุคคลภายนอก ในสำนวนที่ ก.พ.ค. ห้ามการตรวจหรือคัดสำเนาเอกสารในสำนวนทั้งหมดหรือบางฉบับ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือประโยชน์สาธารณะ
  • (3) พยานหรือบุคคลภายนอก ในกรณีที่กฎหมายคุ้มครองให้ไม่ต้องเปิดเผย หรือกรณี ที่ ก.พ.ค. เห็นว่าจำเป็นต้องไม่เปิดเผย เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่การดำเนินการของรัฐ

ข้อ 17

คู่กรณี พยาน หรือบุคคลภายนอกไม่อาจขอตรวจดูหรือขอคัดสำเนาเอกสารที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของ ก.พ.ค. นิติกรผู้รับผิดชอบสำนวน นิติกรผู้แถลง กรรมการเจ้าของสำนวน หรือองค์คณะวินิจฉัยจัดทำขึ้น เพื่อใช้เป็นการภายในทั้งไม่อาจขอสำเนาอันรับรองถูกต้องของเอกสารนั้น

ข้อ 18

การตรวจดูหรือการคัดสำเนาเอกสารในสำนวนให้ผู้ขอตามข้อ 15 หรือข้อ 16 หรือบุคคลซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้ขอเป็นผู้ตรวจดูหรือคัด ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่ประธาน ก.พ.ค. กำหนด เพื่อความสะดวกหรือเพื่อความปลอดภัยของเอกสารนั้น

ห้ามคัดสำเนาคำวินิจฉัยหรือคำสั่งขององค์คณะวินิจฉัยก่อนที่จะมีการแจ้งคำวินิจฉัยหรือคำสั่งนั้น

การรับรองสำเนาเอกสาร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่ ก.พ.ค. กำหนด เป็นผู้รับรอง

ข้อ 19

ถ้าสำนวน เอกสารของคู่กรณี พยานหลักฐาน รายงานกระบวนพิจารณาคำวินิจฉัย หรือเอกสารอื่นใดที่รวมไว้ในสำนวนซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา หรือรอการดำเนินการตามคำวินิจฉัยสูญหายไป หรือบุบสลายทั้งหมดหรือบางส่วน และกรณีดังกล่าวเป็นการขัดข้องต่อการพิจารณาวินิจฉัย การมีคำสั่ง หรือการดำเนินการตามคำวินิจฉัย เมื่อ ก.พ.ค. เห็นสมควรหรือคู่กรณีฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีคำขอ ให้ ก.พ.ค. สั่งให้คู่กรณีหรือบุคคลผู้ถือเอกสารนั้นนำสำเนาที่รับรองถูกต้องมาส่งต่อ ก.พ.ค. ถ้าสำเนาเช่นว่านั้นทั้งหมดหรือบางส่วนหาไม่ได้ ก.พ.ค. อาจมีคำวินิจฉัยให้พิจารณาอุทธรณ์นั้นใหม่ หรือมีคำสั่งอย่างอื่นตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

ข้อ 20

เพื่อให้กระบวนพิจารณาเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม องค์คณะวินิจฉัย หรือกรรมการเจ้าของสำนวนอาจมีคำสั่งให้การติดต่อสื่อสารระหว่างองค์คณะวินิจฉัย หรือกรรมการเจ้าของสำนวนด้วยกันกระทำโดยโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น แทนการติดต่อโดยทางไปรษณีย์หรือประกอบกันก็ได้ โดยคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วนและความเหมาะสมแก่ลักษณะเนื้อหาของเรื่องที่ทำการติดต่อ รวมทั้งจำนวนและลักษณะของเอกสารหรือวัตถุอื่นที่เกี่ยวข้อง

เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คู่กรณี พยาน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ก.พ.ค. อาจมีคำสั่งให้การแจ้งข้อความหรือการส่งเอกสารระหว่าง ก.พ.ค. กับคู่กรณี พยาน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง กระทำโดยวิธีการตามวรรคหนึ่งก็ได้ โดยให้ ก.พ.ค. กำหนดวันที่ถือว่าได้รับแจ้งข้อความหรือเอกสารไว้ด้วย

ข้อ 21

สำนวน เอกสารของคู่กรณี พยานหลักฐาน รายงานกระบวนพิจารณา คำวินิจฉัย คำสั่ง หรือเอกสารอื่นใดที่รวมไว้ในสำนวน ไม่ว่าจะเป็นเอกสารต้นฉบับหรือสำเนาคู่ฉบับ ถ้าองค์คณะวินิจฉัยเห็นสมควร จะมีคำสั่งให้ส่งคืน เก็บรักษาหรือนำเสนอในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

หมวด 2

การยื่นอุทธรณ์ และการตรวจอุทธรณ์

ข้อ 22

ผู้อุทธรณ์ ต้องเป็นผู้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน และที่กำหนดไว้ในกฎ ก.พ.ค. ฉบับนี้

ข้อ 23

กรณีที่ผู้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนถึงแก่ความตายก่อนที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ ทายาทผู้มีสิทธิรับบำเหน็จตกทอดของผู้นั้น มีสิทธิอุทธรณ์แทนได้

ในกรณีที่มีทายาทหลายคนก็ดี ทายาทเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถก็ดี หากทายาทเหล่านั้นประสงค์จะอุทธรณ์แทนตามวรรคแรก ให้นำกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยความสามารถ มาเทียบเพื่อการใช้บังคับ แล้วแต่กรณี โดยอนุโลม

ข้อ 24

ผู้มีสิทธิอุทธรณ์จะมอบหมายให้ทนายความ หรือบุคคลอื่นซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วทำการอุทธรณ์แทนได้ ด้วยเหตุจำเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

  • (1) เจ็บป่วยจนไม่สามารถอุทธรณ์ด้วยตนเองได้
  • (2) อยู่ในต่างประเทศและคาดหมายได้ว่าไม่อาจอุทธรณ์ด้วยตนเองได้ทันเวลาที่กำหนด
  • (3) มีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่ ก.พ.ค. หรือองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นสมควร

ข้อ 25

ผู้อุทธรณ์อาจมอบหมายให้ทนายความ หรือบุคคลอื่น ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วเป็นผู้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดในกระบวนการอุทธรณ์แทนก็ได้ แต่ต้องแจ้งล่วงหน้าเพื่อตรวจสอบความถูกต้องก่อน

ในการชี้แจงหรือให้ถ้อยคำต่อองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์หรือต่อกรรมการเจ้าของสำนวน คู่กรณีมีสิทธินำทนายความ หรือที่ปรึกษาของตนเข้ามาฟังการพิจารณาได้

ข้อ 26

การมอบหมายตามกฎ ก.พ.ค. ฉบับนี้ ให้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้มอบและผู้รับมอบ ถ้าผู้มอบไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ หรือแกงได โดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรองอย่างน้อยสองคน และให้มีหลักฐานแสดงตัวผู้ได้รับมอบหมายด้วย

ข้อ 27

การอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือถึงประธาน ก.พ.ค. โดยใช้ถ้อยคำสุภาพ และมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

  • (1) ชื่อตำแหน่ง สังกัด และที่อยู่สำหรับการติดต่อเกี่ยวกับการอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์
  • (2) คำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์ และวันที่รับทราบคำสั่ง
  • (3) ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ผู้อุทธรณ์ยกขึ้นเป็นข้อคัดค้านคำสั่งที่เป็นเหตุ แห่งการอุทธรณ์
  • (4) คำขอของผู้อุทธรณ์
  • (5) ลายมือชื่อของผู้อุทธรณ์

ถ้าเป็นการอุทธรณ์โดยทายาท หรือผู้ได้รับมอบหมายให้อุทธรณ์แทน ให้ปรับสาระสำคัญในหนังสืออุทธรณ์ให้เหมาะสม โดยอย่างน้อยควรมีสาระสำคัญให้สามารถเข้าใจได้ตามหัวข้อที่กล่าวในวรรคหนึ่ง

ข้อ 28

ให้ผู้อุทธรณ์จัดทำสำเนาหนังสืออุทธรณ์ และสำเนาพยานหลักฐานที่ผู้อุทธรณ์รับรองสำเนาถูกต้อง ยื่นพร้อมกับหนังสืออุทธรณ์ด้วย กรณีที่ไม่อาจแนบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้เพราะพยาน หลักฐานอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลอื่นหรือเพราะเหตุอื่นใด ให้ระบุเหตุที่ไม่อาจแนบพยานหลักฐานไว้ด้วย และถ้ามีการมอบหมายให้ดำเนินการแทน ก็ให้แนบหนังสือมอบหมายตามข้อ 26 แล้วแต่กรณี พร้อมหนังสืออุทธรณ์ด้วย

ข้อ 29

การอุทธรณ์ต้องยื่นภายในกำหนดระยะเวลาดังนี้

  • (1) สามสิบวันนับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์ สำหรับผู้ที่ถูกสั่งลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้ หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ ตามมาตรา 110 (1) (3) (5) (6) (7) และ (8)
  • (2) เก้าสิบวันนับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์ หรือหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ถูกสั่งลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ ตามมาตรา 110 (1) (3) (5) (6) (7) และ (8) ถึงแก่ความตาย สำหรับทายาทตามที่กำหนดไว้ในข้อ 35

ข้อ 30

การยื่นหนังสืออุทธรณ์ ให้ยื่นต่อพนักงานผู้รับอุทธรณ์ที่สำนักงาน ก.พ. หรือจะส่งหนังสืออุทธรณ์โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้ และเพื่อประโยชน์ในการนับระยะเวลาอุทธรณ์ในกรณีมายื่นอุทธรณ์ต่อพนักงานผู้รับอุทธรณ์ ให้ถือวันที่รับหนังสือตามหลักฐานการลงทะเบียนรับหนังสือตามระเบียบ ว่าด้วยงานสารบรรณเป็นวันยื่นหนังสืออุทธรณ์ ส่วนกรณีส่งหนังสืออุทธรณ์ทางไปรษณีย์ ให้ถือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางประทับตรารับที่ซองหนังสืออุทธรณ์เป็นวันยื่นหนังสืออุทธรณ์

ข้อ 31

เพื่อประโยชน์ในการนับระยะเวลาอุทธรณ์ ให้ถือวันที่ผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัย หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่ง เป็นวันรับทราบคำสั่ง

ถ้าผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งลงโทษหรือคำสั่งให้ออกจากราชการ และมีการแจ้งคำสั่งลงโทษ หรือคำสั่งให้ออกจากราชการ ให้ผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการทราบกับมอบสำเนาคำสั่งลงโทษ หรือสำเนาคำสั่งให้ออกจากราชการให้ผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการแล้ว ทำบันทึก ลงวัน เดือน ปี เวลา และสถานที่ที่แจ้งและลงลายมือชื่อผู้แจ้ง พร้อมทั้งพยานรู้เห็นไว้เป็นหลักฐานแล้ว ให้ถือวันที่แจ้งนั้นเป็นวันรับทราบคำสั่ง

ถ้าไม่อาจแจ้งให้ผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งได้โดยตรง และได้แจ้งเป็นหนังสือส่งสำเนาคำสั่งลงโทษ หรือสำเนาคำสั่งให้ออกจากราชการทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปให้ผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ ณ ที่อยู่ของผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการโดยส่งสำเนาคำสั่งไปให้สองฉบับ เพื่อให้ผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการเก็บไว้หนึ่งฉบับ และให้ผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการลงลายมือชื่อและวัน เดือน ปี ที่รับทราบคำสั่งลงโทษหรือคำสั่งให้ออกจากราชการ ส่งกลับคืนมาเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานหนึ่งฉบับ ในกรณีเช่นนี้ เมื่อล่วงพ้นสามสิบวันนับแต่วันที่ปรากฏในใบตอบรับทางไปรษณีย์ลงทะเบียนว่าผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการได้รับเอกสารดังกล่าวหรือมีผู้รับแทนแล้ว แม้ยังไม่ได้รับสำเนาคำสั่งฉบับที่ให้ผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการลงลายมือชื่อและวัน เดือน ปี ที่รับทราบคำสั่งลงโทษทางวินัยหรือคำสั่งให้ออกจากราชการกลับคืนมา ให้ถือว่าผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการได้รับทราบคำสั่งแล้ว

ข้อ 32

หนังสืออุทธรณ์ที่พนักงานผู้รับอุทธรณ์ได้รับอุทธรณ์ไว้แล้ว ให้ออกใบรับให้ผู้อุทธรณ์ และลงทะเบียนเรื่องอุทธรณ์ในสารบบแล้วตรวจคำอุทธรณ์ในเบื้องต้น ถ้าเห็นว่าเป็นคำอุทธรณ์ที่สมบูรณ์ครบถ้วน ให้เสนอคำอุทธรณ์ดังกล่าวต่อประธาน ก.พ.ค. เพื่อดำเนินการต่อไป ถ้าเห็นว่าคำอุทธรณ์นั้นไม่สมบูรณ์ครบถ้วนด้วยเหตุใด ๆ ให้พนักงานผู้รับอุทธรณ์แนะนำให้ผู้อุทธรณ์แก้ไขให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าเห็นว่าข้อที่ไม่สมบูรณ์ครบถ้วนนั้นเป็นกรณีที่ไม่อาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ หรือเป็นเรื่องอุทธรณ์ที่ไม่อยู่ในอำนาจของ ก.พ.ค. หรือผู้อุทธรณ์ไม่แก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้บันทึกไว้แล้วเสนอหนังสืออุทธรณ์ดังกล่าวต่อประธาน ก.พ.ค. เพื่อดำเนินการต่อไป

หมวด 3

การถอนอุทธรณ์และการดำเนินการกรณีผู้อุทธรณ์ถึงแก่ความตาย

ข้อ 33

อุทธรณ์ที่ยื่นไว้แล้ว ผู้อุทธรณ์อาจถอนอุทธรณ์ในเวลาใด ๆ ก่อนที่องค์คณะวินิจฉัยมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นก็ได้

การถอนอุทธรณ์ ต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้อุทธรณ์ แต่ถ้าผู้อุทธรณ์ถอนอุทธรณ์ด้วยวาจาต่อหน้าองค์คณะวินิจฉัย ให้องค์คณะวินิจฉัยบันทึกไว้และให้ผู้อุทธรณ์ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน

ข้อ 34

เมื่อมีการถอนอุทธรณ์ตามข้อ 33 ให้องค์คณะวินิจฉัยอนุญาต และสั่งจำหน่ายอุทธรณ์ออกจากสารบบ

ข้อ 35

การออกจากราชการของผู้อุทธรณ์ ไม่เป็นเหตุให้ยุติการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์

ในกรณีที่ผู้อุทธรณ์ถึงแก่ความตายก่อนการวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้รอการวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นออกไปจนกว่าทายาท ผู้จัดการมรดก หรือผู้รับสิทธิของผู้นั้น จะมีคำขอเข้ามาแทนที่ผู้อุทธรณ์นั้น หรือผู้มีส่วนได้เสียจะมีคำขอเข้ามา โดยมีคำขอเข้ามาเองหรือโดยที่องค์คณะวินิจฉัยเรียกเข้ามาเนื่องจากคู่กรณีในอุทธรณ์มีคำขอ

คำขอเข้ามาแทนที่ผู้อุทธรณ์ตามวรรคสอง ให้ยื่นคำขอเป็นหนังสือต่อองค์คณะวินิจฉัยภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้อุทธรณ์นั้นถึงแก่ความตาย ถ้าไม่มีคำขอของบุคคลดังกล่าวภายในกำหนดเวลาดังกล่าว องค์คณะวินิจฉัยจะมีคำสั่งจำหน่ายอุทธรณ์ออกจากสารบบนั้นก็ได้

หมวด 4

การตั้งกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์

ข้อ 36

ให้ ก.พ.ค. ตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะก็ได้ แต่ละคณะประกอบด้วย กรรมการ ก.พ.ค. คนหนึ่งเป็นประธาน และกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์อีกสองคน เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้วินิจฉัยอุทธรณ์ โดยจะกำหนดให้ประธานกรรมการ ก.พ.ค. หรือกรรมการ ก.พ.ค. คนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หลายคณะพร้อมกันก็ได้ และให้มีเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ. ที่ได้รับมอบหมายเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการได้ตามความจำเป็น

ในกรณีที่มีความจำเป็น ก.พ.ค. อาจตั้งให้คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์คนใดทำหน้าที่วินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ก็ได้

ข้อ 37

เมื่อได้มีการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และได้มีการจ่ายสำนวนแล้ว ให้ประธานกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์แจ้งคำสั่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ผู้อุทธรณ์ทราบโดยให้ผู้อุทธรณ์ลงลายมือชื่อและวันที่รับทราบไว้เป็นหลักฐาน แล้วมอบสำเนาคำสั่งให้ไว้หนึ่งฉบับหรือจะส่งสำเนาคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปให้ผู้อุทธรณ์ ณ ที่อยู่ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ หรือหลักฐานที่ปรากฏจากการไต่สวนก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ เมื่อล่วงพ้นสิบห้าวันนับแต่วันส่งสำเนาคำสั่งดังกล่าว ให้ถือว่าผู้อุทธรณ์ได้รับทราบคำสั่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว

ข้อ 38

ในกรณีเรื่องอุทธรณ์ใดมีลักษณะหนึ่งลักษณะใดดังต่อไปนี้ ประธาน ก.พ.ค. จะให้มีการวินิจฉัยปัญหาหรือเรื่องอุทธรณ์ใดโดยองค์คณะวินิจฉัยหลายองค์คณะร่วมกันพิจารณาวินิจฉัย ตามที่ประธาน ก.พ.ค. กำหนดก็ได้

  • (1) เรื่องที่เกี่ยวกับระบบราชการ หรือประโยชน์สาธารณะ
  • (2) เรื่องที่มีประเด็นวินิจฉัยเกี่ยวกับหลักกฎหมายหรือหลักการที่สำคัญ
  • (3) เรื่องที่อาจมีผลเป็นการกลับหรือแก้ไขแนวทางการลงโทษเดิม
  • (4) เรื่องที่เป็นโครงการใหญ่และมีงบประมาณสูง
  • (5) เรื่องอื่น ๆ ที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นสมควร

หมวด 5

การยื่นคำคัดค้าน และการพิจารณาคำคัดค้านกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์

ข้อ 39

ผู้อุทธรณ์อาจคัดค้านกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ได้ ถ้ากรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ผู้นั้นมีกรณีดังต่อไปนี้

  • (1) รู้เห็นเหตุการณ์ในการกระทำผิดวินัยที่ผู้อุทธรณ์ถูกลงโทษหรือการกระทำที่ผู้อุทธรณ์ถูกสั่งให้ออกจากราชการ
  • (2) มีส่วนได้เสียในการกระทำผิดวินัยที่ผู้อุทธรณ์ถูกลงโทษหรือการกระทำที่ผู้อุทธรณ์ถูกสั่งให้ออกจากราชการ
  • (3) มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้อุทธรณ์
  • (4) เป็นผู้กล่าวหา หรือเป็นหรือเคยเป็นผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษ หรือสั่งให้ออกจากราชการ
  • (5) เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางวินัยหรือการสั่งให้ออกจากราชการที่ผู้อุทธรณ์ถูกลงโทษหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ
  • (6) มีความเกี่ยวพันทางเครือญาติหรือทางการสมรสกับบุคคลตาม (1) (2) (3) หรือ (4) อันอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้อุทธรณ์

คำคัดค้านผู้ได้รับการตั้งเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ ต้องทำเป็นหนังสือยื่นต่อประธาน ก.พ.ค. ภายในเจ็ดวันนับแต่วันรับทราบคำสั่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ โดยต้องแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งการคัดค้านไว้ในคำคัดค้านด้วยว่า จะทำให้การพิจารณาอุทธรณ์ไม่ได้ความจริงและความยุติธรรมอย่างไร ก่อนที่จะมีการพิจารณาอุทธรณ์ แต่อาจให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ผู้ที่ถูกคัดค้านทำคำชี้แจงประกอบการการพิจารณาของประธาน ก.พ.ค. ได้

ข้อ 40

เมื่อมีการยื่นคำคัดค้านกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์คนใด ให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ผู้ที่ถูกคัดค้านงดการปฏิบัติหน้าที่ไว้จนกว่าประธาน ก.พ.ค. จะได้มีการชี้ขาดในเรื่องการคัดค้านนั้นแล้ว

หากประธาน ก.พ.ค. เห็นว่ามิได้เป็นไปตามคำคัดค้านและมีเหตุผลสมควรที่จะให้ผู้ที่ถูกคัดค้านปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ให้ประธาน ก.พ.ค. นำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ก.พ.ค. เพื่อพิจารณามีมติให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ถ้าที่ประชุมมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการที่ไม่ถูกคัดค้าน ก็ให้กรรมการผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ มติดังกล่าวให้กระทำโดยวิธีลงคะแนนลับแล้วให้เป็นที่สุด

ในกรณีที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นว่าคำคัดค้านฟังขึ้น หรือมีเหตุผลเพียงพอที่จะฟังได้ว่าหากให้ผู้ที่ถูกคัดค้านปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอาจทำให้การพิจารณาไม่ได้ความจริงและความยุติธรรม ให้มีคำสั่งให้ผู้ที่ถูกคัดค้านพ้นจากการเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ในเรื่องนั้น แล้วแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบ

ในกรณีที่ประธาน ก.พ.ค. สั่งให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ผู้ที่ถูกคัดค้านถอนตัวจากการพิจารณา ให้ประธาน ก.พ.ค. แต่งตั้งกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์จากคณะหนึ่งคณะใดหรือตนเองปฏิบัติหน้าที่แทนตามความจำเป็น

ข้อ 41

กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ผู้ใดเห็นว่าตนมีกรณีอันอาจถูกคัดค้านได้ตามข้อ 39 หรือเห็นว่ามีเหตุอื่นที่อาจจะมีการกล่าวอ้างในภายหลังได้ว่าตนไม่อยู่ในฐานะที่จะปฏิบัติหน้าที่โดยเที่ยงธรรม ให้แจ้งต่อประธาน ก.พ.ค. และถอนตัวจากการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้ประธาน ก.พ.ค. แต่งตั้งกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์จากคณะหนึ่งคณะใดหรือตนเองปฏิบัติหน้าที่แทนตามความจำเป็น

ในกรณีที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นว่าควรให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ผู้ที่ขอถอนตัวปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ให้นำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ก.พ.ค. เพื่อพิจารณามีมติให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ถ้าที่ประชุมมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการที่ไม่ถูกคัดค้าน ก็ให้กรรมการผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ มติดังกล่าวให้กระทำโดยวิธีลงคะแนนลับแล้วให้เป็นที่สุด

ข้อ 42

การที่กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ผู้ที่ถูกสั่งให้งดการปฏิบัติหน้าที่หรือกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ผู้ที่ขอถอนตัวเพราะมีกรณีอันอาจถูกคัดค้านนั้น ย่อมไม่กระทบถึงการกระทำใด ๆ ที่ได้กระทำไปแล้ว แม้ว่าจะได้ดำเนินการหลังจากที่ได้มีการยื่นคำคัดค้านนั้น

หมวด 6

การจ่ายสำนวนและการสั่งรับหรือไม่รับอุทธรณ์ไว้พิจารณา

ข้อ 43

ภายใต้บังคับข้อ 92 และข้อ 93 เมื่อประธาน ก.พ.ค. ได้รับหนังสืออุทธรณ์ตามข้อ 32 แล้ว ให้พิจารณาจ่ายสำนวนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 44 ถึงข้อ 47 และให้แต่งตั้งนิติกรผู้แถลง เว้นแต่ในกรณีที่เห็นว่าสำนวนใดไม่จำเป็นต้องมีนิติกรผู้แถลงจะไม่แต่งตั้งนิติกรผู้แถลงก็ได้

ข้อ 44

ในกรณีที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นว่าอุทธรณ์เรื่องใดมีปัญหาข้อกฎหมายที่สำคัญ หรือผลการวินิจฉัยอาจกระทบต่อการปฏิบัติราชการ หรือจะเป็นการวางบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการ หรือกรณีเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับระบบคุณธรรมที่ ก.พ.ค. สมควรเป็นผู้วินิจฉัยเอง ก็ให้จ่ายสำนวนนั้นให้ ก.พ.ค. เป็นองค์คณะวินิจฉัย

ในกรณีนี้ให้ประธาน ก.พ.ค. แต่งตั้งกรรมการ ก.พ.ค. คนหนึ่งเป็นกรรมการ ก.พ.ค. เจ้าของสำนวน โดยมีนิติกรผู้รับผิดชอบสำนวนเป็นผู้ช่วย

ข้อ 45

ในกรณีที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นว่าอุทธรณ์เรื่องใดเป็นกรณีทั่วไปที่ไม่มีลักษณะตามข้อ 44 ก็ให้จ่ายสำนวนอุทธรณ์นั้นให้คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์คณะหนึ่งคณะใด เป็นองค์คณะวินิจฉัย

ในกรณีนี้ให้ประธานกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์แต่งตั้งกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์คนหนึ่งเป็นเจ้าของสำนวน

เมื่อองค์คณะวินิจฉัยได้พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว ให้เสนอ ก.พ.ค. พิจารณาวินิจฉัยต่อไป

ข้อ 46

ในกรณีที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นว่าอุทธรณ์เรื่องใดเป็นอุทธรณ์ที่ไม่อาจรับไว้พิจารณาได้ ก็ให้จ่ายสำนวนอุทธรณ์นั้นให้ ก.พ.ค. เป็นองค์คณะวินิจฉัยหรือให้คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์คณะหนึ่งคณะใด เป็นองค์คณะวินิจฉัย

ในกรณีที่คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นองค์คณะวินิจฉัย เมื่อพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นแล้ว ให้เสนอ ก.พ.ค. พิจารณาวินิจฉัยต่อไป

ข้อ 47

ในกรณีที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นว่าอุทธรณ์เรื่องใด เป็นอุทธรณ์ที่พิจารณาได้ ก็ให้จ่ายสำนวนให้แก่ ก.พ.ค. หรือคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นองค์คณะวินิจฉัย ในกรณีที่มีการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ขึ้นหลายคณะ ให้ประธาน ก.พ.ค. จ่ายสำนวนตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

  • (1) ในกรณีที่มีการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์แยกตามความเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ ให้จ่ายสำนวนให้ตรงกับความเชี่ยวชาญของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ตั้งไว้
  • (2) ในกรณีที่มีการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์แยกตามกลุ่มของส่วนราชการ หรือพื้นที่ตั้งของส่วนราชการใด ให้จ่ายสำนวนให้ตรงกับกลุ่มหรือพื้นที่ตั้งของส่วนราชการนั้น
  • (3) ในกรณีที่ไม่มีการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ตาม (1) หรือ (2) หรือมีการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยในลักษณะเดียวกันหลายคณะ หรือคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ที่รับผิดชอบเรื่องอุทธรณ์ดังกล่าวมีเรื่องอุทธรณ์ค้างการพิจารณาอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากจ่ายสำนวนเรื่องอุทธรณ์ให้แก่คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นจะทำให้การพิจารณาล่าช้าหรือกระทบต่อความยุติธรรม ให้จ่ายสำนวนอุทธรณ์ตามที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นสมควรว่าจะจ่ายสำนวนเรื่องอุทธรณ์ให้แก่คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์คณะใด

ในกรณีที่คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นองค์คณะวินิจฉัย เมื่อวินจฉัยแล้ว ให้เสนอ ก.พ.ค. พิจารณาวินิจฉัยต่อไป

ข้อ 48

กรรมการเจ้าของสำนวน อาจกำหนดประเด็นให้นิติกรผู้รับผิดชอบสำนวน วิเคราะห์และพิจารณาทำความเห็นเสนอองค์คณะวินิจฉัยเพื่อพิจารณาสั่งรับหรือไม่รับอุทธรณ์ไว้พิจารณาดังนี้

  • (1) ถ้าเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่มีการดำเนินการโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหมวด 1 และเป็นอุทธรณ์ที่รับไว้พิจารณาได้ ก็ให้องค์คณะวินิจฉัยมีคำสั่งรับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
  • (2) ถ้าเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่ยังไม่ชัดเจนหรือที่ยังมีการดำเนินการโดยไม่ถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหมวด 1 ก็ให้มีคำสั่งให้ผู้อุทธรณ์ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมภายในระยะเวลาเจ็ดวัน หากไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็ให้เสนอองค์คณะวินิจฉัย เพื่อพิจารณามีคำวินิจฉัย
  • (3) ถ้าเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่ห้ามรับไว้พิจารณาตามข้อ 49 ก็ให้เสนอองค์คณะวินิจฉัยเพื่อพิจารณามีคำวินิจฉัย

ข้อ 49

อุทธรณ์ดังต่อไปนี้ เป็นอุทธรณ์ที่ห้ามรับไว้พิจารณา

  • (1) เป็นเรื่องที่ไม่อาจอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ได้ตามมาตรา 114 วรรคหนึ่ง
  • (2) ผู้อุทธรณ์มิใช่เป็นผู้มีสิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 114 วรรคหนึ่ง
  • (3) เป็นอุทธรณ์ที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 114 วรรคหนึ่ง
  • (4) เป็นเรื่องที่ได้เคยมีการอุทธรณ์และได้มีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว
  • (5) เป็นกรณีตามข้อ 48 (2) และ (3)

สำหรับทายาทผู้มีสิทธิยื่นอุทธรณ์แทน ตามที่กำหนดไว้ในหมวด 2 หากมีกรณีตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) ให้ถือว่าเป็นอุทธรณ์ที่ห้ามรับไว้พิจารณาเช่นกัน

ข้อ 50

เมื่อองค์คณะวินิจฉัยได้รับความเห็นของกรรมการเจ้าของสำนวนตามข้อ 48 (2) หรือ (3) แล้ว ให้องค์คณะวินิจฉัยพิจารณามีคำวินิจฉัยดังนี้

  • (1) ในกรณีที่ ก.พ.ค. เป็นองค์คณะวินิจฉัย
    • (ก) ถ้าเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่ห้ามรับไว้พิจารณาตามข้อ 49 ก็ให้มีคำวินิจฉัยไม่รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณา และสั่งจำหน่ายอุทธรณ์นั้นออกจากสารบบ
    • (ข) ถ้าเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่รับไว้พิจารณาได้ ก็ให้สั่งรับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาและให้กรรมการ ก.พ.ค. เจ้าของสำนวนดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
  • (2) ในกรณีที่คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นองค์คณะวินิจฉัย
    • (ก) ถ้าเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่ห้ามรับไว้พิจารณาตามข้อ 49 ก็ให้มีคำวินิจฉัยไม่รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาและเสนอ ก.พ.ค. พิจารณาวินิจฉัย เมื่อ ก.พ.ค. วินิจฉัยแล้ว ให้จำหน่ายอุทธรณ์นั้นออกจากสารบบ
    • (ข) ถ้าเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่รับไว้พิจารณาได้ ก็ให้สั่งรับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาและให้กรรมการเจ้าของสำนวนดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

หมวด 7

การแสวงหาข้อเท็จจริง

ส่วนที่ 1

การแสวงหาข้อเท็จจริงจากคำอุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์ คำคัดค้านคำแก้อุทธรณ์ และคำแก้อุทธรณ์เพิ่มเติม

ข้อ 51

เมื่อกรรมการเจ้าของสำนวน เห็นว่าอุทธรณ์ใดเป็นอุทธรณ์ที่สมบูรณ์ครบถ้วน ให้มีคำสั่งให้คู่กรณีในอุทธรณ์ทำคำแก้อุทธรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง โดยส่งสำเนาคำอุทธรณ์และสำเนาพยานหลักฐานไปด้วย ในกรณีที่เห็นสมควรจะกำหนดประเด็นที่คู่กรณีในอุทธรณ์ต้องทำคำแก้อุทธรณ์ หรือให้จัดส่งพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง หรือที่จะเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาด้วยก็ได้

ในกรณีที่พยานหลักฐานประกอบอุทธรณ์มีปริมาณหรือสภาพที่ทำให้การส่งสำเนาให้แก่คู่กรณีในอุทธรณ์เป็นภาระอย่างมาก ให้ส่งสำเนาอุทธรณ์ไปพร้อมกับรายการพยานหลักฐานที่คู่กรณีในอุทธรณ์อาจขอดูหรือขอรับได้ที่ ก.พ.ค.

ข้อ 52

ให้คู่กรณีในอุทธรณ์ทำคำแก้อุทธรณ์โดยชัดแจ้งแสดงการปฏิเสธหรือยอมรับข้อหาที่ปรากฏในหนังสืออุทธรณ์และคำขอท้ายอุทธรณ์ และเหตุแห่งการนั้น พร้อมส่งพยานหลักฐานตามที่กรรมการเจ้าของสำนวนกำหนด โดยจัดทำสำเนาคำแก้อุทธรณ์ และสำเนาพยานหลักฐาน หรือตามจำนวนที่กรรมการเจ้าของสำนวนกำหนดยื่นมาพร้อมกับคำแก้อุทธรณ์ด้วย ทั้งนี้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาหนังสืออุทธรณ์

ข้อ 53

ในกรณีที่กรรมการเจ้าของสำนวนเห็นว่าคำแก้อุทธรณ์ของคู่กรณีในอุทธรณ์ไม่ครบถ้วนหรือชัดเจนเพียงพอ จะสั่งให้คู่กรณีในอุทธรณ์ดำเนินการแก้ไขหรือจัดทำคำแก้อุทธรณ์ส่งมาใหม่ก็ได้

ข้อ 54

ในกรณีที่คู่กรณีในอุทธรณ์มิได้จัดทำคำแก้อุทธรณ์ พร้อมทั้งพยานหลักฐานยื่นต่อกรรมการเจ้าของสำนวนภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าคู่กรณีในอุทธรณ์ยอมรับข้อเท็จจริงตามข้ออุทธรณ์และให้กรรมการเจ้าของสำนวนพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นเป็นการยุติธรรม

ในกรณีที่คู่กรณีในอุทธรณ์มิได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กำหนด คู่กรณีในอุทธรณ์ต้องแสดงเหตุผลและความจำเป็นที่ทำให้ไม่สามารถยื่นคำแก้อุทธรณ์ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่เกินเจ็ดวัน

ข้อ 55

เมื่อคู่กรณีในอุทธรณ์ยื่นคำแก้อุทธรณ์แล้ว ให้กรรมการเจ้าของสำนวนส่งสำเนาคำแก้อุทธรณ์พร้อมทั้งสำเนาพยานหลักฐานไปยังผู้อุทธรณ์เพื่อให้ผู้อุทธรณ์คัดค้านหรือยอมรับคำแก้อุทธรณ์ หรือพยานหลักฐานที่คู่กรณีในอุทธรณ์ยื่นต่อกรรมการเจ้าของสำนวน ในการนี้ จะกำหนดประเด็นให้ผู้อุทธรณ์ต้องชี้แจงหรือให้จัดส่งพยานหลักฐานใด ๆ ด้วยก็ได้

ถ้าผู้อุทธรณ์ประสงค์จะคัดค้านคำแก้อุทธรณ์ ให้ทำคำคัดค้านคำแก้อุทธรณ์ยื่นต่อกรรมการเจ้าของสำนวนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำแก้อุทธรณ์

ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่ประสงค์จะทำคำคัดค้านคำแก้อุทธรณ์ แต่ประสงค์จะให้พิจารณาอุทธรณ์ต่อไป ให้แจ้งเป็นหนังสือให้ทราบภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง

ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่ดำเนินการตามวรรคสองหรือวรรคสาม ให้กรรมการเจ้าของสำนวนสั่งจำหน่ายอุทธรณ์ออกจากสารบบก็ได้

ข้อ 56

คำคัดค้านคำแก้อุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ให้มีได้เฉพาะในประเด็นที่ได้ยกขึ้นกล่าวในคำอุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์ของคู่กรณีในอุทธรณ์ หรือที่กรรมการเจ้าของสำนวนกำหนด

ถ้าผู้อุทธรณ์ทำคำคัดค้านคำแก้อุทธรณ์โดยมีประเด็นหรือคำขอเพิ่มขึ้นใหม่ต่างจากคำอุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์ของคู่กรณีในอุทธรณ์ หรือที่กรรมการเจ้าของสำนวนกำหนด ให้สั่งไม่รับประเด็นหรือคำขอใหม่นั้นไว้พิจารณา

ข้อ 57

ให้กรรมการเจ้าของสำนวนส่งสำเนาคำคัดค้านคำแก้อุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ให้แก่คู่กรณี ในอุทธรณ์ เพื่อยื่นคำแก้อุทธรณ์เพิ่มเติมตามจำนวนที่กำหนดภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำคัดค้านคำแก้อุทธรณ์หรือภายในระยะเวลาที่กำหนด

เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง หรือเมื่อคู่กรณีในอุทธรณ์ยื่นคำแก้อุทธรณ์เพิ่มเติมแล้ว หากกรรมการเจ้าของสำนวนเห็นว่าเรื่องอุทธรณ์มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะพิจารณาหรือมีคำวินิจฉัยชี้ขาดได้แล้ว ให้จัดทำบันทึกสรุปสำนวนพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องนี้ทั้งหมดเสนอองค์คณะวินิจฉัยเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

ส่วนที่ 2

การแสวงหาข้อเท็จจริงขององค์คณะวินิจฉัย

ข้อ 58

ในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ องค์คณะวินิจฉัยมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงได้ตามความเหมาะสม ในการนี้อาจแสวงหาข้อเท็จจริงจากพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานผู้เชี่ยวชาญ หรือพยานหลักฐานอื่นนอกเหนือจากพยานหลักฐานของคู่กรณีที่ปรากฏในคำอุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์ คำคัดค้านคำแก้อุทธรณ์ หรือคำแก้อุทธรณ์เพิ่มเติม ในการแสวงหาข้อเท็จจริงเช่นว่านั้นองค์คณะวินิจฉัยอาจดำเนินการตามที่กำหนดในส่วนนี้หรือตามที่เห็นสมควร

ในการแสวงหาข้อเท็จจริงขององค์คณะวินิจฉัย ถ้าต้องมีการให้ถ้อยคำของคู่กรณี พยาน หรือบุคคลใด ๆ ให้องค์คณะวินิจฉัยเป็นผู้ซักถาม

ข้อ 59

องค์คณะวินิจฉัยมีอำนาจออกคำสั่งเรียกคู่กรณีหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำได้ตามที่เห็นสมควร

คำสั่งขององค์คณะวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งจะกำหนดประเด็นข้อเท็จจริงที่จะทำการไต่สวนไว้ด้วยก็ได้

องค์คณะวินิจฉัยต้องแจ้งกำหนดการไต่สวนให้คู่กรณีที่เกี่ยวข้องทราบล่วงหน้าเพื่อเปิดโอกาสให้คู่กรณีนั้นคัดค้านหรือชี้แจงข้อเท็จจริงได้ แต่ถ้าข้อเท็จจริงที่จะทำการไต่สวนเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่มีผลกระทบต่อการพิจารณาวินิจฉัย หรือคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทราบข้อเท็จจริงนั้นมาก่อนแล้วจะไม่แจ้งกำหนดการไต่สวนให้คู่กรณีนั้นทราบก็ได้

พยานที่องค์คณะวินิจฉัยมีคำสั่งเรียกมาให้ถ้อยคำอาจเสนอพยานหลักฐานใด ๆ เพื่อประกอบการให้ถ้อยคำของตนได้ ถ้าพยานหลักฐานนั้นอยู่ในประเด็นที่องค์คณะวินิจฉัยได้มีคำสั่งให้มีการไต่สวน

ข้อ 60

ในกรณีที่องค์คณะวินิจฉัยเห็นสมควรจะรับฟังถ้อยคำของบุคคลใด และเป็นกรณีที่ต้องใช้ล่าม ให้จัดหาล่ามโดยล่ามอาจได้รับค่าตอบแทนเช่นเดียวกับการมาให้ถ้อยคำของพยานผู้เชี่ยวชาญก็ได้

ข้อ 61

ก่อนให้ถ้อยคำ คู่กรณี หรือพยาน ต้องสาบานตนตามลัทธิศาสนาหรือ จารีตประเพณีแห่งชาติของตน หรือกล่าวคำปฏิญาณว่าจะให้ถ้อยคำตามสัตย์จริง

ให้คู่กรณี หรือพยาน แจ้งชื่อ นามสกุล ที่อยู่ อายุ และอาชีพ และในกรณีที่พยานมีความเกี่ยวพันกับคู่กรณีคนหนึ่งคนใด ให้แจ้งด้วยว่ามีความเกี่ยวพันกันอย่างไร

ในขณะที่พยานคนหนึ่งกำลังให้ถ้อยคำ คู่กรณีจะอยู่ด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่ห้ามมิให้พยานคนอื่นอยู่ในสถานที่นั้น เว้นแต่องค์คณะวินิจฉัยจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น หรือเป็นกรณีที่กำหนดไว้ในวรรคสี่

พยานที่ให้ถ้อยคำแล้วอาจถูกเรียกมาให้ถ้อยคำอีกในวันเดียวกันหรือวันอื่น และอาจถูกเรียกมาให้ถ้อยคำพร้อมพยานคนอื่นในเรื่องเดียวกันได้

เมื่อคู่กรณี หรือพยาน ให้ถ้อยคำเสร็จแล้ว ให้องค์คณะวินิจฉัยอ่านบันทึกการให้ถ้อยคำดังกล่าว ให้คู่กรณีหรือพยานฟังและให้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ในกรณีที่คู่กรณี หรือพยานลงลายมือชื่อไม่ได้ หรือไม่ยอมลงลายมือชื่อให้จดแจ้งเหตุที่ไม่มีลายมือชื่อเช่นว่านั้นไว้

ข้อ 62

เมื่อองค์คณะวินิจฉัยเห็นสมควรหรือเมื่อคู่กรณีมีคำขอ องค์คณะวินิจฉัยอาจมีคำสั่งตั้งพยานผู้เชี่ยวชาญเพื่อศึกษา ตรวจสอบ หรือวิเคราะห์เรื่องใดเกี่ยวกับอุทธรณ์อันมิใช่เป็นการวินิจฉัยข้อกฎหมาย แล้วให้ทำรายงานหรือให้ถ้อยคำต่อองค์คณะวินิจฉัยได้

รายงานหรือบันทึกการให้ถ้อยคำของพยานผู้เชี่ยวชาญ ให้ส่งสำเนาให้คู่กรณีที่เกี่ยวข้องเพื่อทำข้อสังเกตเสนอต่อองค์คณะวินิจฉัยภายในระยะเวลาที่องค์คณะวินิจฉัยกำหนด

องค์คณะวินิจฉัยอาจมีคำสั่งให้พยานผู้เชี่ยวชาญมาให้ถ้อยคำประกอบการรายงานของตนได้

องค์คณะวินิจฉัยต้องแจ้งกำหนดการให้ถ้อยคำของพยานผู้เชี่ยวชาญให้คู่กรณีที่เกี่ยวข้องทราบล่วงหน้า เพื่อเปิดโอกาสให้คู่กรณีคัดค้านหรือชี้แจงข้อเท็จจริงได้

ข้อ 63

องค์คณะวินิจฉัยหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากองค์คณะวินิจฉัยมีอำนาจไปตรวจสอบสถานที่ บุคคล หรือสิ่งอื่นใดเพื่อประกอบการพิจารณาได้

ให้แจ้งวัน เวลา และสถานที่ที่จะไปตรวจสอบให้คู่กรณีทราบล่วงหน้าเพื่อเปิดโอกาสให้คู่กรณีคัดค้านหรือชี้แจงข้อเท็จจริงได้ โดยคู่กรณีจะไปร่วมในการตรวจสอบดังกล่าวหรือไม่ก็ได้

องค์คณะวินิจฉัยหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากองค์คณะวินิจฉัยต้องบันทึกการตรวจสอบและการให้ถ้อยคำของบุคคลหรือพยานในการตรวจสอบรวมไว้ในสำนวนด้วย

ข้อ 64

ถ้าบุคคลใดเกรงว่าพยานหลักฐานซึ่งตนอาจต้องอ้างอิงในภายหน้าจะสูญหายหรือยากแก่การนำมา หรือถ้าคู่กรณีฝ่ายใดเกรงว่าพยานหลักฐานซึ่งตนจะอ้างอิงอาจสูญหายเสียก่อนที่จะมีการไต่สวน หรือเป็นการยากที่จะนำมาไต่สวนในภายหลัง บุคคลนั้นหรือคู่กรณีฝ่ายนั้นอาจยื่นคำขอให้องค์คณะวินิจฉัยมีคำสั่งให้ไต่สวนพยานหลักฐานนั้นไว้ทันที

เมื่อองค์คณะวินิจฉัยได้รับคำขอแล้ว ให้มีคำสั่งเรียกผู้ขอและคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ และเมื่อได้ฟังบุคคลเหล่านั้นแล้ว ให้สั่งคำขอตามที่เห็นสมควร ถ้าสั่งอนุญาต ให้ไต่สวนพยานได้ตามกฎ ก.พ.ค. นี้ ส่วนรายงานและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนั้นให้องค์คณะวินิจฉัยเก็บรักษาไว้

ในกรณีที่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรและยังมิได้เข้ามาในเรื่องนั้น เมื่อองค์คณะวินิจฉัยได้รับคำขอตามวรรคหนึ่ง ให้สั่งคำขอตามที่เห็นสมควร ถ้าสั่งอนุญาตก็ให้ไต่สวนพยานไปฝ่ายเดียว

ข้อ 65

ในการแสวงหาข้อเท็จจริงตามส่วนนี้ องค์คณะวินิจฉัยจะออกคำสั่งให้มี การบันทึกเสียง ภาพ หรือเสียงและภาพ ตลอดเวลาหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของการดำเนินการนั้น เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาก็ได้

หมวด 8

การสรุปสำนวน

ข้อ 66

เมื่อกรรมการเจ้าของสำนวนได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากคำอุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์ของคู่กรณี รวมทั้งข้อเท็จจริงอื่นที่ได้มาตามหมวด 7 แล้ว เห็นว่ามีข้อเท็จจริงเพียงพอสามารถมีคำวินิจฉัยชี้ขาดได้แล้ว ให้จัดทำบันทึกสรุปสำนวนของกรรมการเจ้าของสำนวน และเสนอบันทึกดังกล่าว พร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องนี้ทั้งหมดเสนอให้องค์คณะวินิจฉัยเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

ข้อ 67

บันทึกสรุปสำนวนอย่างน้อยต้องประกอบด้วย

  • (1) ชื่อผู้อุทธรณ์และคู่กรณีในอุทธรณ์
  • (2) สรุปข้อเท็จจริงที่ได้จากคำอุทธรณ์และเอกสารอื่น ๆ ของคู่กรณี รวมทั้งพยานหลักฐานต่าง ๆ และสรุปคำขอของผู้อุทธรณ์
  • (3) สรุปข้อเท็จจริงที่กรรมการเจ้าของสำนวนแสวงหาเพิ่มเติม (ถ้ามี)
  • (4) ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง
  • (5) ความเห็นของกรรมการเจ้าของสำนวนเกี่ยวกับประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยและคำขอของผู้อุทธรณ์

บันทึกสรุปสำนวนของกรรมการเจ้าของสำนวนตาม (2) ให้ส่งให้แก่คู่กรณีทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ก่อนวันนั่งพิจารณาครั้งแรกตามข้อ 76

ข้อ 68

เมื่อองค์คณะวินิจฉัยได้มีคำสั่งรับอุทธรณ์แล้ว หากกรรมการเจ้าของสำนวนเห็นว่าสามารถจะวินิจฉัยได้จากข้อเท็จจริงในคำอุทธรณ์นั้น โดยไม่ต้องดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงอีก หรือเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ได้จากคำชี้แจงของคู่กรณีและหรือจากการแสวงหาข้อเท็จจริงในภายหลังไม่ว่าในขณะใดเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ โดยไม่ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงจนครบทุกขั้นตอนตามที่กำหนดไว้ในหมวด ๗ ให้กรรมการเจ้าของสำนวนมีอำนาจจัดทำบันทึกสรุปสำนวนเสนอองค์คณะวินิจฉัยเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

ข้อ 69

เมื่อองค์คณะวินิจฉัยได้รับสำนวนจากกรรมการเจ้าของสำนวนแล้ว หากเห็นว่าไม่มีกรณีที่จะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ให้มีคำสั่งกำหนดวันหนึ่งวันใดเป็นวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงในเรื่องนั้น

ให้องค์คณะวินิจฉัยแจ้งให้คู่กรณีทราบกำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบวัน

บรรดาคำอุทธรณ์เพิ่มเติม คำแก้อุทธรณ์ คำคัดค้านคำแก้อุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์เพิ่มเติม รวมทั้งพยานหลักฐานอื่น ๆ ที่ยื่นหลังวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง ไม่ให้รับไว้เป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์ และไม่ต้องส่งสำเนาให้คู่กรณีที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 70

เมื่อกำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงแล้ว ให้กรรมการเจ้าของสำนวนส่งสรุปสำนวนให้นิติกรผู้แถลง (ถ้ามี) เพื่อจัดทำคำแถลงโดยเร็ว

คำแถลงให้จัดทำเป็นหนังสือ เว้นแต่เรื่องอุทธรณ์ใดเป็นเรื่องเร่งด่วน หรือเป็นเรื่องที่มีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายไม่ยุ่งยาก นิติกรผู้แถลงจะเสนอคำแถลงด้วยวาจาแทนคำแถลงเป็นหนังสือหลังจากที่ได้หารือกับองค์คณะวินิจฉัยแล้วก็ได้ ในการแถลงด้วยวาจา นิติกรผู้แถลงต้องจัดทำบันทึกคำแถลงดังกล่าวเป็นหนังสือกล่าวถึงข้อสาระสำคัญในคำแถลงติดไว้ในสำนวนอุทธรณ์ด้วย โดยจะจัดทำก่อนหรือหลังการเสนอคำแถลงด้วยวาจาก็ได้

เมื่อนิติกรผู้แถลงได้จัดทำคำแถลงเป็นหนังสือหรือสามารถเสนอคำแถลงด้วยวาจาได้แล้ว ให้องค์คณะวินิจฉัยกำหนดวันนั่งพิจารณาอุทธรณ์ครั้งแรกต่อไป

หมวด 9

การรับฟังพยานหลักฐาน

ข้อ 71

คู่กรณีฝ่ายที่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ๆ เพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตนมีหน้าที่เสนอพยานหลักฐานต่อองค์คณะวินิจฉัย กรรมการเจ้าของสำนวนเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวในเบื้องต้น เว้นแต่ข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไป หรือซึ่งไม่อาจโต้แย้งได้ หรือที่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รับแล้ว หรือพยานหลักฐานนั้นอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานทางปกครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลอื่น

ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายเป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายใด คู่กรณีฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์แต่เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว

ข้อ 72

องค์คณะวินิจฉัย กรรมการเจ้าของสำนวน มีดุลพินิจที่จะรับฟังพยานหลักฐานที่ได้รับมาตามกระบวนพิจารณาโดยไม่จำกัดเฉพาะที่เสนอโดยคู่กรณี แต่พยานหลักฐานนั้นจะต้องเป็นพยานหลักฐานที่คู่กรณีผู้มีส่วนได้เสียมีโอกาสขอตรวจดู ทราบ และแสดงพยานหลักฐานเพื่อยืนยันหรือหักล้าง

ข้อ 73

ต้นฉบับเอกสารเท่านั้นที่อ้างเป็นพยานได้ ถ้าหาต้นฉบับไม่ได้ สำเนาที่รับรองว่าถูกต้องหรือพยานบุคคลที่รู้ข้อความก็อ้างเป็นพยานได้

การอ้างหนังสือราชการเป็นพยาน แม้ต้นฉบับยังมีอยู่ จะส่งสำเนาที่เจ้าหน้าที่รับรองว่าถูกต้องก็ได้ เว้นแต่องค์คณะวินิจฉัย กรรมการเจ้าของสำนวน จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ข้อ 74

องค์คณะวินิจฉัย กรรมการเจ้าของสำนวน อาจรับฟังข้อมูลที่บันทึกสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์หรือประมวลผลโดยเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นพยานหลักฐานในสำนวนได้ แต่การบันทึกและการประมวลผลนั้นต้องเป็นไปโดยถูกต้องและต้องมีคำรับรองของบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือดำเนินการนั้น

ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับการรับฟังข้อมูลที่บันทึกไว้หรือได้มาจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นด้วยโดยอนุโลม ==== ข้อ 75 ====

องค์คณะวินิจฉัยอาจรับฟังพยานบอกเล่าเป็นพยานหลักฐานประกอบพยานหลักฐานอื่นได้เมื่อเห็นว่า

  • (1) ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมการบอกเล่า หรือพยานบอกเล่านั้นมีความน่าเชื่อถือหรือ
  • (2) มีเหตุจำเป็นเนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาให้ถ้อยคำเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้น

หมวด 10

การนั่งพิจารณาอุทธรณ์ และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์

ส่วนที่ 1

การนั่งพิจารณาอุทธรณ์ และการแถลงของนิติกรผู้แถลงประจำสำนวน

ข้อ 76

ในการพิจารณาอุทธรณ์ ให้องค์คณะวินิจฉัยจัดให้มีการนั่งพิจารณาอุทธรณ์อย่างน้อยหนึ่งครั้งเพื่อให้คู่กรณีมีโอกาสมาแถลงด้วยวาจาต่อหน้า เว้นแต่กรณีที่มีคำวินิจฉัยไม่รับอุทธรณ์และให้จำหน่ายอุทธรณ์ออกจากสารบบความ ไม่ต้องมีการนั่งพิจารณาอุทธรณ์นั้น

องค์คณะวินิจฉัยต้องแจ้งกำหนดวันนั่งพิจารณาอุทธรณ์ครั้งแรกให้คู่กรณีทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันเพื่อเปิดโอกาสให้คู่กรณีได้แถลงสรุปอุทธรณ์และคำแก้อุทธรณ์ของตน

ข้อ 77

ในวันนั่งพิจารณาอุทธรณ์ครั้งแรก หากคู่กรณีประสงค์จะยื่นคำแถลงสรุปอุทธรณ์หรือคำแก้อุทธรณ์ของตนเป็นหนังสือ ให้ยื่นคำแถลงเป็นหนังสือก่อนวันนั่งพิจารณาอุทธรณ์หรืออย่างช้าที่สุดในระหว่างการนั่งพิจารณาอุทธรณ์

คำแถลงตามวรรคหนึ่งจะยกข้อเท็จจริงที่ไม่เคยยกขึ้นอ้างไว้แล้วไม่ได้ เว้นแต่เป็นข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นสำคัญในเรื่องอุทธรณ์ ซึ่งคู่กรณีผู้ยื่นสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีเหตุจำเป็นหรือพฤติการณ์พิเศษที่ทำให้ไม่อาจเสนอต่อองค์คณะวินิจฉัยได้ก่อนหน้านั้น แต่องค์คณะวินิจฉัยจะรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ต่อเมื่อได้เปิดโอกาสให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งแสดงพยานหลักฐานเพื่อยืนยันหรือหักล้างแล้ว

คู่กรณีมีสิทธินำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำแถลงที่ยื่นตามวรรคหนึ่งได้ โดยให้องค์คณะวินิจฉัยพิจารณาสั่งอนุญาตเท่าที่เกี่ยวข้องกับคำแถลงและจำเป็นแก่เรื่องอุทธรณ์เท่านั้น คำสั่งดังกล่าวให้เป็นที่สุด

ในวันนั่งพิจารณาเรื่องอุทธรณ์ คู่กรณีจะไม่มาในวันนั่งพิจารณาอุทธรณ์ก็ได้ แต่ความในข้อนี้ไม่ตัดอำนาจองค์คณะวินิจฉัยที่จะออกคำสั่งเรียกให้คู่กรณี หน่วยงานทางปกครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ หรือให้ความเห็นเป็นหนังสือ หรือส่งเอกสาร หรือพยานหลักฐานใด ๆ ให้แก่องค์คณะวินิจฉัย

ข้อ 78

เมื่อเริ่มการนั่งพิจารณาครั้งแรก ให้กรรมการเจ้าของสำนวนเสนอสรุปข้อเท็จจริงและประเด็นของเรื่องนั้น แล้วให้คู่กรณีแถลงด้วยวาจาประกอบคำแถลงเป็นหนังสือที่ได้ยื่นไว้ตามข้อ 77 โดยให้ผู้อุทธรณ์แถลงก่อน

คำแถลงด้วยวาจาของคู่กรณีต้องกระชับและอยู่ในประเด็น โดยไม่อาจยกข้อเท็จจริง หรือข้อกฎหมายอื่นนอกจากที่ปรากฏในคำแถลงเป็นหนังสือ

ในกรณีที่คู่กรณีฝ่ายใดไม่ยื่นคำแถลงเป็นหนังสือ แต่มาอยู่ในวันนั่งพิจารณาครั้งแรก คู่กรณีฝ่ายนั้นจะแถลงด้วยวาจาได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากองค์คณะวินิจฉัย หรือองค์คณะวินิจฉัยสั่งให้แถลง

ข้อ 79

ในการนั่งพิจารณาอุทธรณ์ ให้องค์คณะวินิจฉัยเป็นผู้ซักถามคู่กรณีและพยาน และให้นำข้อ 60 ข้อ 61 และข้อ 65 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ข้อ 80

ให้กรรมการเจ้าของสำนวนทำหน้าที่ตรวจสอบและเสนอความเห็นในข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายต่อองค์คณะวินิจฉัย ตลอดจนดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องนั้น

ในระหว่างการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้ทราบถึงข้ออ้างหรือข้อแย้งของแต่ละฝ่าย และให้คู่กรณีแสดงพยานหลักฐานของฝ่ายตนเพื่อยืนยันหรือหักล้างข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายได้ เมื่อกรรมการเจ้าของสำนวนเห็นว่าได้รวบรวมข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพียงพอแล้ว ก็ให้ทำความเห็นเสนอให้องค์คณะวินิจฉัย เพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป

ในการให้โอกาสคู่กรณีตามวรรคสอง ให้กรรมการเจ้าของสำนวนกำหนดให้คู่กรณีแสดงพยานหลักฐานของฝ่ายตนภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าคู่กรณีมิได้ปฏิบัติภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าคู่กรณีที่ไม่ได้แสดงพยานหลักฐานนั้นไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนหรือยอมรับข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วแต่กรณี และให้องค์คณะวินิจฉัยพิจารณามีคำวินิจฉัยต่อไปตามที่เห็นเป็นการยุติธรรม

ในกรณีที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคสามหรือมีพฤติกรรมประวิงเรื่องให้ล่าช้า ให้ ก.พ.ค. รายงานผู้บงคับบัญชา ผู้กำกับดูแล ผู้ควบคุมหรือนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการแก้ไขปรับปรุงหรือสั่งการหรือลงโทษทางวินัยต่อไปก็ได้

ข้อ 81

ก่อนวันนั่งพิจารณาอุทธรณ์ให้กรรมการเจ้าของสำนวนส่งมอบเรื่องอุทธรณ์ให้นิติกรผู้แถลงพิจารณา และให้จัดทำสรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และความเห็นของตนในการวินิจฉัยเรื่องนั้นเสนอต่อองค์คณะวินิจฉัย และให้การชี้แจงด้วยวาจาต่อองค์คณะวินิจฉัยในวันนั่งพิจารณาคดีนั้น และให้มีสิทธิอยู่ร่วมในการพิจารณาและในการประชุมปรึกษาเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องนั้นได้ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงในการวินิจฉัยเรื่องนั้น

ให้ประธาน ก.พ.ค. ตั้งนิติกรผู้แถลงจากบัญชีรายชื่อนิติกรผู้แถลงประจำสำนวนที่เลขาธิการ ก.พ. ประกาศตั้งไว้

ข้อ 82

ในวันนั่งพิจารณาอุทธรณ์ ถ้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดฝ่าฝืนข้อกำหนดที่กำหนดไว้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และองค์คณะวินิจฉัยได้มีคำสั่งให้คู่กรณีฝ่ายนั้นออกไปเสียจากบริเวณห้องพิจารณา องค์คณะวินิจฉัยจะนั่งพิจารณาอุทธรณ์ต่อไปลับหลังคู่กรณีฝ่ายนั้นก็ได้

ข้อ 83

ในวันนั่งพิจารณาอุทธรณ์ เมื่อเสร็จสิ้นการแถลงและการนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำแถลงของคู่กรณีแล้ว ให้นิติกรผู้แถลงชี้แจงด้วยวาจาต่อองค์คณะวินิจฉัยเพื่อประกอบคำแถลงการณ์เป็นหนังสือที่ได้เสนอไว้แล้วหรือเสนอคำแถลงด้วยวาจาตามที่กำหนดไว้ในข้อ 81 โดยบุคคลซึ่งมิได้รับอนุญาตจากองค์คณะวินิจฉัยจะอยู่ในห้องพิจารณาในขณะนิติกรผู้แถลงชี้แจงหรือเสนอคำแถลงด้วยวาจาไม่ได้

ในกรณีที่นิติกรผู้แถลงเห็นว่า จากคำแถลงและการนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำแถลงของคู่กรณี ทำให้ข้อเท็จจริงในการพิจารณาอุทธรณ์เปลี่ยนไปและมีผลกระทบต่อคำแถลงเป็นหนังสือที่เสนอไว้แล้ว หรือต่อคำแถลงด้วยวาจาที่จะเสนอ นิติกรผู้แถลงจะจัดทำคำแถลงเป็นหนังสือขึ้นใหม่หรือเสนอคำแถลงด้วยวาจาต่อองค์คณะวินิจฉัยเพื่อพิจารณาในวันอื่นก็ได้

ส่วนที่ 2

การทำคำวินิจฉัยและคำสั่ง

ข้อ 84

เมื่อเสร็จสิ้นการแถลงของนิติกรผู้แถลงแล้ว ให้องค์คณะวินิจฉัยนัดประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาวินิจฉัย หรือมีคำสั่งในวันเดียวกันนั้นหรือวันอื่น

ข้อ 85

คำวินิจฉัยหรือคำสั่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย

  • (1) ชื่อผู้อุทธรณ์
  • (2) ชื่อคู่กรณีในอุทธรณ์
  • (3) สรุปอุทธรณ์และคำขอของผู้อุทธรณ์
  • (4) สรุปคำแก้อุทธรณ์
  • (5) ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย
  • (6) คำวินิจฉัยแต่ละประเด็นพร้อมทั้งเหตุผล
  • (7) สรุปคำวินิจฉัยที่กำหนดให้คู่กรณีปฏิบัติหรือดำเนินการต่อไป

คำวินิจฉัยหรือคำสั่งตามวรรคหนึ่งต้องลงลายมือชื่อขององค์คณะวินิจฉัยที่นั่งพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นด้วย ถ้าผู้ใดมีเหตุจำเป็นไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้ผู้นั้นจดแจ้งเหตุดังกล่าวไว้ในคำวินิจฉัยหรือคำสั่งนั้นด้วย

ข้อ 86

การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้องค์คณะวินิจฉัยมีคำวินิจฉัยตามข้อ 50 หรือมีคำวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นดังนี้

  • ก. การอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย
    • (1) ถ้าเห็นว่าการสั่งลงโทษดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและระดับโทษเหมาะสมแล้ว ให้มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์
    • (2) ถ้าเห็นว่าการสั่งลงโทษดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้มีคำวินิจฉัยให้ยกเลิกคำสั่ง และให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการเสียใหม่ให้ถูกต้อง
    • (3) ถ้าเห็นว่าการดำเนินการทางวินัยถูกต้องตามกฎหมายและผู้อุทธรณ์ ควรได้รับโทษเบาลง ให้มีคำวินิจฉัยให้ลดโทษเป็นสถานโทษหรืออัตราโทษที่เบาลง แต่ถ้าเห็นว่า ผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จะลดโทษต่ำกว่าปลดออกไม่ได้
    • (4) ถ้าเห็นว่าการดำเนินการทางวินัยถูกต้องตามกฎหมาย และเห็นว่าการกระทำของผู้อุทธรณ์ไม่เป็นความผิดทางวินัย หรือพยานหลักฐานยังฟังไม่ได้ว่าผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัย ให้มีคำวินิจฉัยให้ยกโทษ
    • (5) ถ้าเห็นว่าข้อความในคำสั่งลงโทษไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ให้มีคำวินิจฉัยให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความให้เป็นการถูกต้องเหมาะสม
  • ข. กรณีอุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการ
    • (1) ถ้าเห็นว่าการสั่งให้ออกจากราชการได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย และเหมาะสมแก่กรณีแล้ว ให้มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์
    • (2) ถ้าเห็นว่าการสั่งให้ออกจากราชการได้ดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้มีคำวินิจฉัยให้ยกเลิกคำสั่งและให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการเสียใหม่ให้ถูกต้อง
    • (3) ถ้าเห็นว่าการสั่งให้ออกจากราชการถูกต้องตามกฎหมายและเห็นว่ายัง ไม่มีเหตุที่จะให้ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ ในกรณีเช่นนี้ให้มีคำวินิจฉัยให้ยกเลิกคำสั่งและให้ผู้อุทธรณ์กลับเข้ารับราชการต่อไป
    • (4) ถ้าเห็นว่าข้อความในคำสั่งให้ออกจากราชการไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ให้มีคำวินิจฉัยให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความให้เป็นการถูกต้องเหมาะสม

ในกรณีที่องค์คณะวินิจฉัยเห็นสมควรเยียวยาความเสียหายให้ผู้อุทธรณ์หรือดำเนินการอื่นใด เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้มีคำวินิจฉัยตามระเบียบที่ ก.พ.ค. กำหนด

การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ องค์คณะวินิจฉัยจะมีคำวินิจฉัยให้เพิ่มโทษไม่ได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้รับแจ้งจาก ก.พ. ตามมาตรา 104 ว่าสมควรเพิ่มโทษ จึงจะมีคำวินิจฉัยให้เพิ่มโทษผู้อุทธรณ์ได้

ข้อ 87

ในกรณีที่กรรมการเจ้าของสำนวนผู้ใดมีความเห็นแย้ง ให้ผู้นั้นมีสิทธิทำความเห็นแย้งพร้อมทั้งเหตุผลของตนรวมไว้ในคำวินิจฉัยนั้นได้

ข้อ 88

การประชุมของ ก.พ.ค. หรือองค์คณะวินิจฉัยให้เป็นไปตามระเบียบ ก.พ.ค. ว่าด้วยการประชุมของคณะกรรมการ ก.พ.ค. คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์

ข้อ 89

เมื่อองค์คณะวินิจฉัยมีคำวินิจฉัยหรือมีคำสั่งชี้ขาดเรื่องอุทธรณ์ หรือประเด็นข้อใดแห่งเรื่องอุทธรณ์แล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในองค์คณะวินิจฉัยนั้นอันเกี่ยวกับเรื่องอุทธรณ์หรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น

เรื่องอุทธรณ์ที่ได้มีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งชี้ขาดถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่กรณีเดียวกันอุทธรณ์ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน

ข้อ 90

เมื่อได้มีการวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว ให้แจ้งผลแห่งคำวินิจฉัยนั้นให้คู่กรณีทราบโดยเร็ว

ให้สำนักงาน ก.พ. จัดให้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไว้เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าตรวจดู หรือขอสำเนาที่มีการรับรองถูกต้องได้

ข้อ 91

การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ประธาน ก.พ.ค. ได้รับอุทธรณ์ เว้นแต่มีเหตุขัดข้องที่ทำให้การพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าวก็ให้ขยายระยะเวลาได้อีกซึ่งไม่เกินสองครั้ง โดยแต่ละครั้งจะต้องไม่เกินหกสิบวันและให้บันทึกเหตุขัดข้องให้ปรากฏไว้ด้วย

หมวด 11

การแต่งตั้งและการปฏิบัติหน้าที่ของนิติกรผู้รับผิดชอบสำนวน นิติกรผู้แถลงประจำสำนวนและพนักงานผู้รับอุทธรณ์

ข้อ 92

ให้เลขาธิการ ก.พ. แต่งตั้งหรือมอบหมายผู้ดำรงตำแหน่งนิติกรระดับผู้เชี่ยวชาญเป็นนิติกรผู้แถลงประจำสำนวน จัดทำบันทึกสรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและความเห็นของตนในการวินิจฉัยเรื่องอุทธรณ์นั้น เสนอต่อองค์คณะวินิจฉัยตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 93

ให้เลขาธิการ ก.พ. แต่งตั้งนิติกรของสำนักงาน ก.พ. เป็นนิติกรผู้รับผิดชอบสำนวนเพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของกรรมการเจ้าของสำนวนเกี่ยวกับการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 94

ให้เลขาธิการ ก.พ. แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ก.พ. เป็นพนักงานผู้รับอุทธรณ์เพื่อปฏิบัติงานเกี่ยวกับการรับอุทธรณ์ การตรวจอุทธรณ์ และการดำเนินงานทางธุรการอย่างอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

หมวด 12

การนับระยะเวลา

ข้อ 95

การนับระยะเวลาตามกฎ ก.พ.ค. นี้ สำหรับเวลาเริ่มต้น ให้นับวันถัดจากวันแรกแห่งเวลานั้นเป็นวันเริ่มนับระยะเวลา ส่วนเวลาสุดสิ้น ถ้าวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาตรงกับวันหยุดราชการ ให้นับวันเริ่มเปิดทำการใหม่เป็นวันสุดท้ายแห่งระยะเวลา

ประกาศ ณ วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ศราวุธ เมนะเศวต

ประธานกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม

หมายเหตุ :-

เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ.ค. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 114 มาตรา 115 และมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 บัญญัติให้ผู้ถูกสั่งลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้ หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา 110 (1) (3) (5) (6) (7) และ (8) มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. หลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์ และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.ค. จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ.ค. นี้

กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. 2551

1)
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนที่ 129 หน้า 1 วันที่ 11 ธันวาคม 2551
องค์ความรู้กฎหมาย/กฎหมายลำดับรอง/กฎ_ก.พ.ค._ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์_พ.ศ._2551.txt · Last modified: 2018/05/17 15:48 by puirui