อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 (5) และมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 31 มาตรา 33 มาตรา 43 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ก.พ. โดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี จึงออกกฎ ก.พ. ไว้ ดังต่อไปนี้
ให้อนุกรรมการโดยตำแหน่งใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด เป็นผู้พิจารณากำหนดจำนวนอนุกรรมการตามมาตรา 15 (1) และ (2) มาตรา 17 (1) และ (2) และมาตรา 19 (1) และ (2) โดยให้มีจำนวนผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 15 (1) มาตรา 17 (1) และมาตรา 19 (1) ไม่น้อยกว่าสองคน แต่ไม่เกินสามคน จำนวนข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกตามมาตรา 15 (2) ไม่น้อยกว่าสามคน แต่ไม่เกินห้าคน และจำนวนข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกตามมาตรา 17 (2) และมาตรา 19 (2) ไม่น้อยกว่าสามคนแต่ไม่เกินหกคน
การเลือกข้าราชการพลเรือนซึ่งดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรา 15 (2) มาตรา 17 (2) หรือมาตรา 19 (2) เพื่อแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี
(1) ให้ส่วนราชการที่มี อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด จัดทำบัญชีรายชื่อข้าราชการพลเรือนซึ่งดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรา 15 (2) มาตรา 17 (2) หรือมาตรา 19 (2) โดยหัวหน้าส่วนราชการนั้น ๆ จะมอบให้ส่วนราชการใดในสังกัดเป็นผู้จัดทำก็ได้ แล้วส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวไปให้ผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อนั้น ๆ ทราบ
(2) ในกรณีที่ส่วนราชการที่มี อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด มีชื่อข้าราชการพลเรือนผู้มีคุณสมบัติที่จะแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด ไม่เกินจำนวนที่อนุกรรมการโดยตำแหน่งใน อ.ก.พ. สามัญนั้น ๆ กำหนดตามข้อ 1 ให้ผู้มีชื่อดังกล่าวเป็นผู้ได้รับเลือกเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัดต่อไป
(3) ในกรณีที่ส่วนราชการที่มี อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด มีชื่อข้าราชการพลเรือนผู้มีคุณสมบัติที่จะแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด เกินกว่าจำนวนที่อนุกรรมการโดยตำแหน่งใน อ.ก.พ. สามัญนั้น ๆ กำหนดตามข้อ 1 ให้ส่วนราชการจัดให้มีการเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญนั้น ๆ โดยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(ก) นัดให้ผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อดังกล่าวไปออกเสียงลงคะแนนเลือกผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อนั้นเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญประจำส่วนราชการนั้น ๆ ตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดแล้วแจกบัตรเลือกข้าราชการพลเรือนตามแบบท้ายกฎ ก.พ. นี้ ซึ่งลงลายมือชื่อของหัวหน้าส่วนราชการแล้ว ให้ผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อดังกล่าวเลือกข้าราชการพลเรือนจากบัญชีรายชื่อนั้นเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญประจำส่วนราชการนั้น ๆ แล้วแต่กรณี โดยเขียนชื่อและนามสกุลของผู้ซึ่งตนเลือกไม่เกินจำนวนในข้อ 1 พร้อมลงลายมือชื่อของผู้เลือกในบัตรเลือกข้าราชการพลเรือนแล้วหย่อนบัตรดังกล่าวลงในหีบบัตรเลือกข้าราชการพลเรือนที่ส่วนราชการนั้น ๆ จัดไว้ให้ ภายในเวลาที่ส่วนราชการนั้น ๆ กำหนด หรือ
(ข) ส่งบัตรเลือกข้าราชการพลเรือนตามแบบท้ายกฎ ก.พ. นี้ ซึ่งลงลายมือชื่อของหัวหน้า ส่วนราชการแล้ว ไปให้ผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อดังกล่าวเพื่อเลือกข้าราชการพลเรือนจากบัญชีรายชื่อนั้น เป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญประจำส่วนราชการนั้น ๆ แล้วแต่กรณี โดยเขียนชื่อและนามสกุลของผู้ซึ่งตนเลือกไม่เกินจำนวนในข้อ 1 พร้อมลงลายมือชื่อของผู้เลือกในบัตรเลือกข้าราชการพลเรือน แล้วส่งบัตรดังกล่าวพร้อมกับภาพถ่ายบัตรประจำตัวข้าราชการของผู้เลือกกลับคืนไปยังส่วนราชการภายในวันที่ส่วนราชการนั้น ๆ กำหนด ทั้งนี้ ในกรณีที่ส่งบัตรกลับคืนส่วนราชการโดยตรง ให้ถือวันที่ส่วนราชการได้รับบัตรเป็นวันส่งคืน ในกรณีที่ส่งบัตรกลับคืนทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ให้ถือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์รับลงทะเบียนเป็นวันส่งคืน ในกรณีที่ส่งบัตรกลับคืนทางไปรษณีย์ไม่ลงทะเบียน ให้ถือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางประทับตราไปรษณีย์เป็นวันส่งคืน
(4) ให้ส่วนราชการรวบรวมบัตรเลือกข้าราชการพลเรือนตาม (3) (ก) หรือ (ข) แล้วแต่กรณี เพื่อดำเนินการตรวจนับคะแนน โดยให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจนับคะแนนขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วยข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการที่มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับชำนาญการพิเศษ จำนวนไม่น้อยกว่าสามคน เป็นผู้ตรวจนับคะแนน
(5) การตรวจนับคะแนนของคณะกรรมการตรวจนับคะแนน ให้กระทำโดยเปิดเผย และต้องมีกรรมการอยู่พร้อมกันไม่น้อยกว่าสามคน
เมื่อตรวจนับคะแนนเสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการตรวจนับคะแนนจัดทำบัญชีรายชื่อข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกโดยเรียงตามลำดับคะแนนจากสูงไปหาต่ำ พร้อมกับแสดงคะแนนของแต่ละคนไว้ในบัญชีรายชื่อข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกด้วย ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนเท่ากัน ให้หัวหน้าส่วนราชการจับสลากชื่อผู้ได้คะแนนเท่ากันนั้นต่อหน้าคณะกรรมการตรวจนับคะแนนเพื่อเรียงลำดับที่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าว โดยมีกรรมการ ไม่น้อยกว่าสามคนลงลายมือชื่อรับรอง แล้วให้หัวหน้าส่วนราชการประกาศรายชื่อข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือก โดยปิดไว้ในที่เปิดเผย ณ ส่วนราชการนั้น ๆ
(6) ให้ขึ้นบัญชีรายชื่อข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกเป็นเวลาหนึ่งปี
(7) ให้ข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกตามบัญชีรายชื่อใน (6) ที่ได้คะแนนสูงตามลำดับและมีคุณสมบัติที่จะแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัดเป็นผู้ได้รับเลือก เพื่อเสนอประธาน อ.ก.พ. แต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญนั้น ๆ ต่อไป แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินจำนวนที่กำหนดในข้อ 1
(8) ในกรณีที่อนุกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งตาม (7) พ้นจากตำแหน่งก่อนครบกำหนดตามวาระ และจะต้องแต่งตั้งอนุกรรมการแทน ให้ประธาน อ.ก.พ. แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนจากบัญชีรายชื่อตาม (6) ที่ได้คะแนนสูงตามลำดับ และมีคุณสมบัติที่จะแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญประจำส่วนราชการนั้น ๆ แทนต่อไป แต่หากไม่มีรายชื่อข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนเหลืออยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าวแล้ว หรือบัญชีรายชื่อข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกครบกำหนดหนึ่งปีตาม (6) แล้ว ให้ดำเนินการเลือกใหม่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการใน (1) ถึง (7) โดยอนุโลม
การสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการและด้านกฎหมาย ตามมาตรา 15 (1) มาตรา 17 (1) หรือมาตรา 19 (1) เพื่อแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
(1) ให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. กระทรวง ประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงที่รับผิดชอบงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล เป็นประธาน และกรรมการอื่นซึ่งปลัดกระทรวงเป็นผู้แต่งตั้งจาก ผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญและประสบการณ์ด้านการบริหาร ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล หรือด้านกฎหมาย จำนวนสองคน โดยผู้ได้รับการแต่งตั้งจะต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง หากจะแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนเป็นกรรมการ ให้แต่งตั้งได้หนึ่งคน
ให้ปลัดกระทรวงแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนผู้รับผิดชอบงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลของกระทรวง เป็นเลขานุการ
(2) ให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. กรม ประกอบด้วย รองอธิบดีที่รับผิดชอบงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล เป็นประธาน และกรรมการอื่นซึ่งอธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ด้านการบริหาร ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลหรือด้านกฎหมาย จำนวนสองคน โดยผู้ได้รับการแต่งตั้งจะต้องมีความเป็นกลางทางการเมืองหากจะแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนเป็นกรรมการ ให้แต่งตั้งได้หนึ่งคน
ให้อธิบดีแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนผู้รับผิดชอบงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลของกรม เป็นเลขานุการ
(3) ให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. จังหวัด ประกอบด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดที่รับผิดชอบงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล เป็นประธาน และกรรมการอื่นซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญและประสบการณ์ด้านการบริหาร ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล หรือด้านกฎหมาย จำนวนสองคน โดยผู้ได้รับการแต่งตั้งจะต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง หากจะแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนเป็นกรรมการ ให้แต่งตั้งได้หนึ่งคน
ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนผู้รับผิดชอบงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลของจังหวัด เป็นเลขานุการ
ทั้งนี้ กรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งปลัดกระทรวง อธิบดี หรือผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งใน (1) (2) และ (3) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี
(4) กรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด แต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการและด้านกฎหมายไปยังเลขานุการคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. สามัญนั้น ๆ ภายในระยะเวลาที่ส่วนราชการกำหนด โดยจะเสนอชื่อผู้ใดเป็นผู้ทรงคุณวุฒิไว้ในหลายด้านก็ได้
(5) ให้เลขานุการคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการเสนอชื่อตาม (4) รวมกับบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่เลขานุการคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิรวบรวมจากแหล่งข้อมูลอื่น โดยแยกเป็นบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละด้านตามมาตรา 15 (1) มาตรา 17 (1) หรือมาตรา 19 (1) พร้อมทั้งประวัติและผลงานโดยย่อของผู้ได้รับการเสนอชื่อแต่ละคนไว้ด้วย ในกรณีที่ผู้ใดได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหลายด้าน ให้ระบุชื่อผู้นั้นไว้ทุกด้าน เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ
(6) ให้คณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด เลือกผู้ทรงคุณวุฒิจากบัญชีรายชื่อตาม (5) ด้านละไม่น้อยกว่าสองคน โดยจะต้องเลือกผู้ซึ่งมีความรู้ ประสบการณ์ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในความสามารถมาแล้ว เป็นผู้มีความเป็นกลางทางการเมืองและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดตามมาตรา 15 (1) มาตรา 17 (1) หรือมาตรา 19 (1) เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ โดยจะเสนอชื่อผู้ใดเป็นผู้ทรงคุณวุฒิไว้ในหลายด้านก็ได้
(7) ให้มีคณะกรรมการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. สามัญ ประกอบด้วย ประธาน อ.ก.พ. กระทรวง ประธาน อ.ก.พ. กรม หรือประธาน อ.ก.พ. จังหวัด เป็นประธาน อนุกรรมการโดยตำแหน่ง และข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกใน อ.ก.พ. สามัญนั้น ๆ ตามข้อ 2 เป็นกรรมการ
ให้เลขานุการคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. สามัญนั้น ๆ เป็นเลขานุการ
(8) ให้คณะกรรมการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด เสนอตาม (6) และให้เลือกผู้ทรงคุณวุฒิได้ไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อ 1 โดยจะต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิครบในทุก ๆ ด้าน ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่งจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิสองด้านก็ได้ เพื่อเสนอประธาน อ.ก.พ. แต่งตั้งเป็นอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. สามัญนั้น ๆ ต่อไป ทั้งนี้ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ได้รับเลือกนั้นด้วย
(9) ในกรณีที่คณะกรรมการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิเสนอแล้ว ได้ผู้ทรงคุณวุฒิไม่ครบจำนวนหรือไม่ครบด้าน ให้คณะกรรมการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิแจ้งคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิทราบ เพื่อให้เสนอรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิให้คณะกรรมการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาใหม่ ทั้งนี้ เฉพาะจำนวนที่ไม่ครบหรือด้านที่ไม่ครบ โดยนำหลักเกณฑ์และวิธีการใน (4) ถึง (8) มาใช้บังคับ
(10) ในกรณีที่อนุกรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในด้านใดใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด พ้นจากตำแหน่งก่อนครบกำหนดตามวาระ และจะต้องแต่งตั้งอนุกรรมการแทน ให้ดำเนินการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในด้านนั้นใหม่ โดยนำหลักเกณฑ์และวิธีการใน (1) ถึง (8) มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ให้ส่วนราชการนำรายชื่อข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกตามข้อ 2 และรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการสรรหาตามข้อ 3 เสนอประธาน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ.จังหวัด เพื่อแต่งตั้งต่อไป
ให้อนุกรรมการซึ่งได้รับการแต่งตั้ง มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี
ในกรณีที่อนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญนั้น ๆ พ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญนั้น ๆ ภายในหกสิบวัน
ในกรณีที่อนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญนั้น ๆ พ้นจากตำแหน่งก่อนครบกำหนดตามวาระ ให้ดำเนินการแต่งตั้งอนุกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างลงภายในสามสิบวันตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อ 2 หรือข้อ 3 โดยอนุโลม
อนุกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งแทนนั้นให้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
ในกรณีที่วาระของอนุกรรมการดังกล่าวเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน จะไม่แต่งตั้งอนุกรรมการแทนก็ได้
ในกรณีที่กระทรวง กรม หรือจังหวัดใด ไม่อาจมีจำนวนอนุกรรมการใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด ตามที่กำหนดในข้อ 1 ได้ ให้กระทรวง กรม หรือจังหวัด นั้น ๆ เสนอ ก.พ. เพื่อพิจารณาอนุมัติให้กำหนดจำนวนอนุกรรมการเป็นกรณีพิเศษ
ให้ไว้ ณ วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2552
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี
ประธาน ก.พ.
บัตรเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญ ท้ายกฎ ก.พ. ว่าด้วยการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญ พ.ศ. 2552
เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 บัญญัติให้หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม และ อ.ก.พ. จังหวัด ตามมาตรา 15 มาตรา 17 และมาตรา 19 วาระการดำรงตำแหน่ง และจำนวนขั้นต่ำของอนุกรรมการดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.พ. จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้