OCSC Wiki

คลังกลางความรู้ด้าน HR

User Tools

Site Tools


องค์ความรู้กฎหมาย:กฎหมายลำดับรอง:กฎ_ก.พ._ว่าด้วยการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเป็นกรรมการใน_ก.พ._สามัญ_พ.ศ._2551

กฎ ก.พ. ว่าด้วยการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเป็นกรรมการใน ก.พ. พ.ศ. 2551

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 และมาตรา 8 (5) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ก.พ. โดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี จึงออกกฎ ก.พ. ไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1

ให้มีคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วย เลขาธิการ ก.พ. เป็นประธานกรรมการและกรรมการอื่นซึ่งประธาน ก.พ. เป็นผู้แต่งตั้งจากผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง หรือหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี จำนวนสองคน ผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา จำนวนหนึงคน และผุ้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน จำนวนหนึ่งคนเป็นกรรมการ

ให้เลขาธิการ ก.พ. แต่งตั้งเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ. เป็นเลขานุการ

กรรมการซึ่งประสาน ก.พ. แต่งตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี

ข้อ 2

ให้มีคณะกรรมการคัดเลือกประกอบด้วย ประธาน ก.พ. เป็นประธานกรรมการและกรรมการ ก.พ. โดยตำแหน่ง เป็นกรรมการ

ให้เลขานุการคณะกรรมการสรรหาเป็นเลขานุการ

ข้อ 3

ให้กรรมการสรรหาแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการ และด้านกฎหมาย ที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดตามมาตรา 6 วรรคสอง ไปยังสำนักงาน ก.พ. ภายในระยะเวลาที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด โดยจะเสนอชื่อผู้ใดเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในหลายด้านก็ได้

ข้อ 4

ให้สำนักงาน ก.พ. จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการเสนอชื่อตามข้อ 3 รวมกับรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ โดยแยกเป็นบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละด้านตามมาตรา 6 พร้อมทั้งประวัติและผลงานโดยย่อของแต่ละคน ในกรณีที่ผู้ใดได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหลายด้านให้ระบุชื่อผู้นั้นไว้ทุกด้านเพื่อประกอบการพิจารณาของคระกรรมการสรรหา

ข้อ 5

ให้คณะกรรมการสรรหาเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจากบัญชีรายชื่อตามข้อ 4 ด้านละไม่น้อยกว่าสี่คนแต่ไม่เกินห้าคนเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกโดยเสนอชื่อผู้ใดเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหลายด้านก็ได้ ทั้งนี้ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้นั้นด้วย

ข้อ 6

ให้คณะกรรมการคัดเลือกกพิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจากรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอตามข้อ 5 ให้เหลือผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่าด้านละหนึ่งคนแต่ไม่เกินสามคนและเมื่อรวมทุกด้านแล้วมีจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินเจ็ดคน ในกรรีที่ผู้ใดได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในหลายด้าน ให้คณะกรรมการคัดเลือกเป็นผู้พิจารณาว่าจะให้ผู้นั้นเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในด้านใด

ข้อ 7

ในกรณีที่คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิได้ไม่ครบจำนวนหรือด้าน ให้คณะกรรมการตัดเลือกแจ้งให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาเสนอรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิให้คระกรรมการคัดเลือกพิจารณาใหม่เฉพาะตามจำนวนหรือด้านที่ขาด ตามหลักเกณฑ์และวิธีการในข้อ3 ถึงข้อ 6

ข้อ 8

ให้สำนักงาน ก.พ. ดำเนินการเสนอรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการรคัดเลือกตามข้อ 6 เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป

ข้อ 9

ในกรณีที่จะต้องแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.พ. แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.พ. ด้านหนึ่งด้านใดซึ่งพ้นจากตำแหน่งก่อนครบกำหนดตามวาระ ถ้าใน ก.พ. ไม่มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านนั้นเสนออยู่ ให้ดำเนินการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิด้านนั้นใหม่ แต่หากใน ก.พ. ยังมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านนั้นเหลืออยู่ ให้ ก.พ. พิจารณาว่าประสงค์ให้มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านเดิมหรือด้านอื่น แล้วดำเนินการสรรหาผู้ทรงคุรวุฒิด้านที่ ก.พ. กำหนดใหม่

ให้นำความในข้อ 1 ถึงข้อ 8 มาใช้บังคับกับการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม เว้นแต่การเสนอชื่อโดยคระกรรมการสรรหา ให้เสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิให้คระกรรมการคัดเลือกพิจารณาได้เฉพาะด้านที่ ก.พ. กำหนดไม่เกินด้านละสองคน

ให้ไว้ ณ วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2551

สมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับมอบหมายจาก นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ.

กฎ_ก.พ._สรรหาผู้ทรง_ก.พ._51.pdf

องค์ความรู้กฎหมาย/กฎหมายลำดับรอง/กฎ_ก.พ._ว่าด้วยการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเป็นกรรมการใน_ก.พ._สามัญ_พ.ศ._2551.txt · Last modified: 2019/06/12 14:40 by jittaporn.n_ocsc.go.th