อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 (5) และมาตรา 108 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 31 มาตรา 33 มาตรา 43 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ก.พ. โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี จึงออกกฎ ก.พ.ไว้ ดังต่อไปนี้
ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 9/1 แห่ง กฎ ก.พ.ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป พ.ศ. 2552
“ข้อ 9/1 ในกรณีที่ส่วนราชการใดไม่อาจดำเนินการตามข้อ 1 ได้ เพราะเหตุที่ตำแหน่งที่ประสงค์จะให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับราชการต่อไป ไม่ได้เป็นตำแหน่งที่ ก.พ. กำหนดให้ไว้ก่อนตามข้อ 1 (2) ให้ส่วนราชการนั้นระบุตำแหน่งและตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว พร้อมทั้งจัดทำข้อมูลตามข้อ 3 เสนอ อ.ก.พ.กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง แล้วแต่กรณี และ ก.พ. เพื่อพิจารณาตามลำดับโดยต้องเสนอให้ ก.พ. พิจารณาภายในเดือนมิถุนายนของปีงบประมาณนั้น ทั้งนี้ ให้ ก.พ. พิจารณาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดใน กฎ ก.พ. นี้ และเมื่อได้รับความเห็นชอบจาก ก.พ. แล้ว ให้ดำเนินการตามข้อ 8”
ให้ไว้ ณ วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี
ประธาน ก.พ.
เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป พ.ศ. 2552 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ให้ส่วนราชการสามารถดำเนินการให้ข้าราชการที่มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์และเข้าหลักเกณฑ์ในเรื่องอื่นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้อีกไม่เกินสิบปี ในกรณีที่ ก.พ. ยังไม่ได้กำหนดตำแหน่งของข้าราชการดังกล่าวให้เป็นตำแหน่งที่จะให้ข้าราชการรับราชการได้ต่อไปไว้ก่อน จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้