OCSC Wiki

คลังกลางความรู้ด้าน HR

User Tools

Site Tools


องค์ความรู้กฎหมาย:กฎหมายลำดับรอง:กฎ_ก.พ._ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการให้บำเหน็จความชอบ_การกันเป็นพยานฯ_พ.ศ._2553

กฎ ก.พ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการให้บำเหน็จความชอบ การกันเป็นพยาน การลดโทษ และการให้ความคุ้มครองพยาน พ.ศ. 2553

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 (5) และมาตรา 98 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ก.พ. โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีจึงออกกฎ ก.พ. ไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1

1) กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 2

ในกฎ ก.พ. นี้

“วินัย” หมายความว่า วินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 85 (1)

“พยาน” หมายความว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ให้ข้อมูลหรือให้ถ้อยคำตามมาตรา 98

หมวด 1

บททั่วไป

ข้อ 3

ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดให้ข้อมูลต่อผู้บังคับบัญชาหรือให้ถ้อยคำในฐานะพยานต่อผู้มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนหรือตรวจสอบตามกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการ อันเป็นประโยชน์และเป็นผลดียิ่งต่อทางราชการ ให้ถือว่าผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ราชการ ซึ่งได้รับความคุ้มครองพยานและอาจได้รับบำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษ ตามกฎ ก.พ. นี้

ข้อมูลหรือถ้อยคำตามวรรคหนึ่งจะถือว่าเป็นประโยชน์และเป็นผลดียิ่งต่อทางราชการต่อเมื่อเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดำเนินการทางวินัยได้ หรือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลงโทษทางวินัยแก่ผู้กระทำความผิดได้ และมีผลทำให้สามารถประหยัดงบประมาณแผ่นดินเป็นอย่างมากหรือมีผลทำให้สามารถรักษาไว้ซึ่งระบบบริหารราชการที่ดีโดยรวมได้

ในกรณีที่ข้าราชการผู้นั้นเป็นผู้กระทำผิดวินัยนั้นเสียเองหรืออาจจะถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการกระทำผิดวินัยนั้นด้วย ไม่ให้ได้รับบำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษตามข้อนี้

ข้อ 4

ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ที่อาจจะถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการกระทำผิดวินัยกับข้าราชการอื่น ถ้าได้ให้ข้อมูลต่อผู้บังคับบัญชา หรือให้ถ้อยคำเกี่ยวกับการกระทำผิดวินัยที่ได้กระทำมาต่อบุคคลหรือคณะบุคคลที่มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนหรือตรวจสอบตามกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการ และข้อมูล หรือถ้อยคำนั้นเป็นปัจจัยสำคัญจนเป็นเหตุให้มีการสอบสวนทางวินัยแก่ผู้เป็นต้นเหตุแห่งการกระทำผิด อาจได้รับการกันเป็นพยาน การลดโทษ หรือการให้ความคุ้มครองพยานตามกฎ ก.พ. นี้

ข้อ 5

การให้ข้อมูลหรือให้ถ้อยคำตามข้อ 3 หรือข้อ 4 ที่จะได้รับประโยชน์ตามกฎ ก.พ. นี้ จะต้องเป็นความเชื่อโดยสุจริตว่ามีการกระทำผิดวินัยหรือเป็นไปตามที่ตนเองเชื่อว่าเป็นความจริง และไม่มีการกลับถ้อยคำนั้นในภายหลัง

การให้ข้อมูลหรือถ้อยคำตามวรรคหนึ่ง ไม่ถือเป็นการเปิดเผยความลับของทางราชการและไม่เป็นการกระทำการข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตน

ข้อ 6

ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นที่ได้รับข้อมูลมีหน้าที่รายงานให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งเพื่อทราบและพิจารณาดำเนินการต่อไป

หมวด 2

การคุ้มครองพยาน

ข้อ 7

ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นและผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งมีหน้าที่ให้ความคุ้มครองพยาน ดังต่อไปนี้

  • (1) ไม่เปิดเผยชื่อ หรือข้อมูลใด ๆ ที่จะทำให้ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้ให้ข้อมูลหรือให้ถ้อยคำ
  • (2) ไม่ใช้อำนาจไม่ว่าในทางใดหรือกระทำการอื่นใดอันเป็นการกลั่นแกล้งหรือไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจมีผลทำให้กระทบสิทธิหรือหน้าที่ของผู้นั้นในทางเสียหาย
  • (3) ให้ความคุ้มครองมิให้ผู้นั้นถูกกลั่นแกล้งหรือถูกข่มขู่เพราะเหตุที่มีการให้ข้อมูลหรือถ้อยคำ
  • (4) ประสานงานกับพนักงานอัยการเพื่อเป็นทนายแก้ต่างคดีให้ถ้าผู้นั้นถูกฟ้องเป็นคดีต่อศาล

ในกรณีที่พยานผู้ใดร้องขอเป็นหนังสือ ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งจะพิจารณาย้ายผู้นั้นหรือพิจารณาดำเนินการอื่นใดที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อให้ผู้นั้นได้รับความคุ้มครอง โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมหรือเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาของผู้นั้น และไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนหรือกระบวนการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็ได้

ข้อ 8

พยานผู้ใดเห็นว่าผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นยังไม่ได้ให้การคุ้มครองตามข้อ 7 หรือการให้การคุ้มครองดังกล่าวยังไม่เพียงพอ อาจยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งเพื่อพิจารณาดำเนินการ

ข้อ 9

เมื่อผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งได้รับคำร้องตามข้อ 8 แล้ว หากมีมูลน่าเชื่อว่าเป็นไปตามที่พยานกล่าวอ้าง ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งดำเนินการให้ความคุ้มครองพยานในโอกาสแรกที่สามารถกระทำได้

ข้อ 10

พยานผู้ใดเห็นว่าผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งยังไม่ได้ให้การคุ้มครองตามหมวดนี้หรือการให้การคุ้มครองดังกล่าวยังไม่เพียงพอ อาจยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อสำนักงาน ก.พ. ได้

ข้อ 11

เมื่อสำนักงาน ก.พ. ได้รับคำร้องตามข้อ 10 แล้ว หากมีมูลน่าเชื่อว่าเป็นไปตามที่พยานกล่าวอ้าง ให้สำนักงาน ก.พ. ดำเนินการให้มีการย้ายหรือโอน หรือดำเนินการอื่นใดตามที่เห็นสมควรเพื่อให้ผู้นั้นได้รับความคุ้มครอง โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมหรือเห็นชอบจากผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งก่อน หรือไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนหรือกระบวนการตามที่กฎหมายกำหนด

ในกรณีที่ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งไม่ดำเนินการตามที่สำนักงาน ก.พ. กำหนดตามวรรคหนึ่ง หรือในกรณีที่เห็นสมควร ให้สำนักงาน ก.พ. เสนอ ก.พ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามมาตรา 9 ต่อไป

ข้อ 12

การให้ความคุ้มครองพยานตามหมวดนี้ให้พิจารณาดำเนินการในโอกาสแรกที่สามารถกระทำได้ และให้เริ่มตั้งแต่มีการให้ข้อมูลหรือให้ถ้อยคำตามข้อ 3 หรือข้อ 4 แล้วแต่กรณี จนกว่าจะมีการสั่งยุติเรื่องหรือการดำเนินการทางวินัยตามกฎหมายนี้แก่ผู้เป็นต้นเหตุเสร็จสิ้น

หมวด 3

การกันเป็นพยาน และการลดโทษ

==== ข้อ 13 ====

ก่อนมีการแจ้งเรื่องกล่าวหาว่าข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัย ถ้าผู้ให้ข้อมูลหรือให้ถ้อยคำตามข้อ 4 ไม่ใช่ผู้เป็นต้นเหตุแห่งการกระทำผิดวินัยในเรื่องนั้น และเป็นกรณีที่ไม่อาจแสวงหาข้อมูลหรือพยานหลักฐานอื่นใดเพื่อดำเนินการทางวินัยแก่ผู้เป็นต้นเหตุแห่งการกระทำความผิดวินัยในเรื่องนั้นได้นอกจากจะได้ข้อมูลหรือพยานหลักฐานจากผู้นั้น ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งอาจกันผู้นั้นเป็นพยานได้

ข้อ 14

ในกรณีที่ผู้ที่ถูกกันเป็นพยานตามข้อ 13 ไม่มาให้ถ้อยคำต่อบุคคลหรือคณะบุคคลผู้มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนหรือตรวจสอบตามกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการ หรือมาแต่ไม่ให้ถ้อยคำหรือให้ถ้อยคำแต่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการ หรือให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือกลับคำให้การให้การกันผู้นั้นไว้เป็นพยานเป็นอันสิ้นสุดลง

ข้อ 15

ให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งแจ้งเรื่องการกันข้าราชการพลเรือนสามัญ ตามข้อ 13 ไว้เป็นพยาน หรือการสิ้นสุดการกันเป็นพยานตามข้อ 14 ให้บุคคลหรือคณะบุคคลที่มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนหรือตรวจสอบตามกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการและข้าราชการผู้นั้นทราบ

ข้อ 16

ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ให้ข้อมูลหรือให้ถ้อยคำตามข้อ 4 ผู้ใดได้ให้ข้อมูลหรือให้ถ้อยคำที่สำคัญจนเป็นเหตุให้ลงโทษทางวินัยแก่ผู้เป็นต้นเหตุแห่งการกระทำผิดได้ และผู้นั้นต้องถูกลงโทษทางวินัยเพราะเหตุที่ได้ร่วมกระทำผิดวินัยนั้นด้วย ถ้าผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งพิจารณาเห็นว่าผู้นั้นมิได้เป็นต้นเหตุแห่งการกระทำความผิดวินัยนั้น หรือได้ร่วมกระทำความผิดวินัยไปเพราะตกอยู่ในอำนาจบังคับ หรือกระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งอาจพิจารณาลดโทษให้ผู้นั้นต่ำกว่าโทษที่ควรได้รับจริงได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ต่ำกว่าการลดโทษที่อาจกระทำได้ตามที่กฎหมายกำหนด

หมวด 4

การให้บำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษ

ข้อ 17

ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งอาจพิจารณาให้บำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษแก่ผู้ให้ข้อมูลหรือถ้อยคำตามข้อ 3 ได้ดังนี้

  • (1) ให้ถือว่าการให้ข้อมูลหรือให้ถ้อยคำนั้นเป็นข้อควรพิจารณาอื่นตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือนที่ผู้บังคับบัญชาต้องนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาเลื่อนเงินเดือน
  • (2) เครื่องหมายที่เห็นสมควรเพื่อเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติ
  • (3) รางวัล
  • (4) คำชมเชยเป็นหนังสือ

ข้อ 18

ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งพิจารณาให้บำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษตามข้อ 17แก่ผู้ให้ข้อมูลหรือให้ถ้อยคำตามข้อ 3 ตามระดับความมากน้อยของประโยชน์และผลดียิ่งต่อทางราชการที่ได้รับจากการให้ข้อมูลหรือถ้อยคำนั้น

ให้ไว้ ณ วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นายกรัฐมนตรี

ประธาน ก.พ.

หมายเหตุ :-

เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 98 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 บัญญัติว่า หลักเกณฑ์และวิธีการการให้บำเหน็จความชอบ การกันเป็นพยาน การลดโทษ และการให้ความคุ้มครองพยาน ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.พ. สมควรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการให้บำเหน็จความชอบ การกันเป็นพยาน การลดโทษ และการให้ความคุ้มครองพยาน สำหรับข้าราชการพลเรือนสามัญที่ให้ข้อมูลต่อผู้บังคับบัญชาหรือให้ถ้อยคำในฐานะพยานอันเป็นประโยชน์และเป็นผลดียิ่งต่อทางราชการ จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้

กฎ ก.พ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการให้บำเหน็จความชอบ การกันเป็นพยาน การลดโทษ และการให้ความคุ้มครองพยาน พ.ศ. 2553

1)
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอนที่ 57 ก หน้า 19 วันที่ 17 กันยายน 2553
องค์ความรู้กฎหมาย/กฎหมายลำดับรอง/กฎ_ก.พ._ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการให้บำเหน็จความชอบ_การกันเป็นพยานฯ_พ.ศ._2553.txt · Last modified: 2017/10/19 10:40 by puirui