OCSC Wiki

คลังกลางความรู้ด้าน HR

User Tools

Site Tools


องค์ความรู้กฎหมาย:กฎหมายลำดับรอง:ข้อบังคับ_ก.พ

ข้อบังคับ ก.พ. ว่าด้วยการจัดการการศึกษา ควบคุมดูแล และการให้ความช่วยเหลือบุคลากรภาครัฐและนักเรียนที่อยู่ในความดูแลของ ก.พ. ในต่างประเทศ พ.ศ. 2551

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้มีข้อบังคับ ก.พ. ว่าด้วยการจัดการการศึกษา ควบคุมดูแล และการให้ความช่วยเหลือบุคลากรภาครัฐ และนักเรียนในความดูแลของ ก.พ. ในต่างประเทศ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 (9) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ก.พ. จึงออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1

ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับ ก.พ. ว่าด้วยการจัดการการศึกษา ควบคุมดูแล และการให้ความช่วยเหลือบุคลากรภาครัฐ และนักเรียนที่อยู่ในความดูแลของ ก.พ. ในต่างประเทศ พ.ศ. 2551”

ข้อ 2

1) ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3

ให้ยกเลิกข้อบังคับ ก.พ. ว่าด้วยการดูแลจัดการการศึกษาของนักเรียนฝ่ายพลเรือนในต่างประเทศ พ.ศ. 2538 และข้อบังคับ ก.พ. ว่าด้วยการดูแลจัดการการศึกษาของนักเรียนฝ่ายพลเรือนในต่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550

ข้อ 4

ให้เลขาธิการ ก.พ. รักษาการตามข้อบังคับนี้

ข้อ 5

ในข้อบังคับนี้ “บุคลากรภาครัฐ” หมายความว่า ข้าราชการทุกประเภทรวมทั้งพนักงาน ลูกจ้างของส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่อยู่ในความดูแลของ ก.พ. แต่ไม่รวมถึงข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ซึ่งรับทุนของรัฐบาล

“นักเรียนที่อยู่ในความดูแลของ ก.พ.”

  • (ก) นักเรียนทุนของรัฐบาล
  • (ข) นักเรียนทุนส่วนตัว

“นักเรียนทุนของรัฐบาล” หมายความว่า นักเรียนซึ่งรับทุนของรัฐบาลเพื่อการศึกษาหรือฝึกอบรม หรือผู้รับทุนของรัฐบาลเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในการศึกษา ทั้งนี้ ทุนดังกล่าวเป็นทุนซึ่งจ่ายจากเงินงบประมาณแผ่นดิน หรือทุนที่ได้จากแหล่งทุนอื่นที่ ก.พ. กำหนดให้เป็นทุนของรัฐบาล และให้หมายความรวมถึงนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงด้วย

“นักเรียนทุนส่วนตัว” หมายความว่า นักเรียนทุนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่นักเรียนทุนของ รัฐบาลที่ฝากอยู่ในความดูแลของ ก.พ.

“ศึกษา” หมายความว่า การเพิ่มพูนความรู้ด้วยการเรียน หรือการวิจัยตามหลักสูตรของสถาบันการศึกษา หรือสถาบันวิชาชีพ เพื่อให้ได้มาซึ่งปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพและให้หมายความรวมถึงการฝึกฝนภาษา การรับคำแนะนำก่อนเข้าศึกษา การฝึกอบรม หรือการดูงานที่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา หรือต่อจากการศึกษานั้นด้วย

“ฝึกอบรม” หมายความว่า การเพิ่มพูนความรู้ ความชำนาญ หรือประสบการณ์ด้วยการเรียนหรือการวิจัยตามหลักสูตรของการฝึกอบรม หรือการสัมมนา อบรมเชิงปฏิบัติการ การดำเนินงานตามโครงการแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ การไปเสนอผลงานทางวิชาการและการประชุมเชิงปฏิบัติการ ทั้งนี้ โดยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ และให้หมายความรวมถึงการฝึกฝนภาษา การรับคำแนะนำก่อนเข้าฝึกอบรมหรือการดูงานที่เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรม หรือต่อจากการฝึกอบรมนั้นด้วย

“สถานศึกษา” หมายความว่า สถานที่ที่บุคลากรภาครัฐ และนักเรียนที่อยู่ในความดูแลของ ก.พ. เข้าศึกษาหรือฝึกอบรมในต่างประเทศ

“ผู้ฝากและออกค่าใช้จ่าย” หมายความว่า บุคคลซึ่งทำความตกลงกับสำนักงาน ก.พ. รับเป็นผู้ฝากและออกค่าใช้จ่ายให้แก่บุคลากรภาครัฐ หรือนักเรียนทุนส่วนตัวที่อยู่ในความดูแลของ ก.พ.

“สำนักงานผู้ดูแลนักเรียน” หมายความว่า สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในต่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนราชการสังกัดสำนักงาน ก.พ. ที่ทำหน้าที่ดูแลบุคลากรภาครัฐ และนักเรียนที่อยู่ในความดูแลของ ก.พ. และให้หมายความรวมถึงสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุล หรือสำนักงานของบุคคลอื่นที่สำนักงาน ก.พ. มอบหมายให้ทำหน้าที่ดังกล่าวด้วย

ข้อ 6

ให้สำนักงาน ก.พ. เป็นผู้ดูแลจัดการการศึกษา ควบคุมดูแล และการให้ความช่วยเหลือบุคลากรภาครัฐ และนักเรียนที่อยู่ในความดูแลของ ก.พ. ตามข้อบังคับนี้ ในการนี้ สำนักงาน ก.พ. จะมอบหมายให้สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนเป็นผู้ดำเนินการแทนก็ได้

หมวด 1

สถานศึกษา

ข้อ 7

บุคลากรภาครัฐต้องเข้าศึกษา ณ สถานศึกษาที่ ก.พ. รับรอง การย้ายสถานศึกษาจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจอนุมัติในแต่ละประเภททุนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือระเบียบที่กำหนดไว้

ข้อ 8

นักเรียนทุนของรัฐบาลต้องเข้าศึกษา ณ สถานศึกษาที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด การย้ายสถานศึกษาจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากสำนักงาน ก.พ. หรือสำนักงานผู้ดูแลนักเรียน

ข้อ 9

นักเรียนทุนส่วนตัวจะเข้าศึกษา ณ สถานศึกษาใด หรือจะย้ายสถานศึกษา ให้เป็นไปตามที่ผู้ฝากและออกค่าใช้จ่ายได้ทำความตกลงไว้กับสำนักงาน ก.พ. หากไม่มีข้อตกลง ให้เป็นไปตามที่สำนักงาน ก.พ. หรือสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนจะได้กำหนดให้

หมวด 2

ที่พักอาศัย

ข้อ 10

บุคลากรภาครัฐต้องพักอาศัยในสถานที่ที่เหมาะสม ทั้งนี้ จะต้องแจ้งที่พักอาศัยให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานเจ้าสังกัดและสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนทราบ ในกรณีมีการย้ายที่พักอาศัยจะต้องแจ้งที่พักอาศัยแห่งใหม่ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานเจ้าสังกัดและสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนทราบโดยด่วนทุกครั้ง

ข้อ 11

นักเรียนทุนของรัฐบาลต้องพักอาศัยในสถานที่ที่เหมาะสม หากสำนักงาน ก.พ. หรือสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนพิจารณาเห็นว่าไม่เหมาะสม สำนักงาน ก.พ. หรือสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนอาจจัดให้ใหม่หรือแนะนำให้ย้ายไปพักในที่ที่เหมาะสม ทั้งนี้ จะต้องแจ้งที่พักอาศัยให้สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนทราบ ในกรณีมีการย้ายที่พักอาศัยจะต้องแจ้งที่พักอาศัยแห่งใหม่ให้สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนทราบโดยด่วนทุกครั้ง

ข้อ 12

นักเรียนทุนส่วนตัวอาจจัดหาหรือย้ายที่พักอาศัยได้ตามที่ผู้ฝากและออกค่าใช้จ่ายได้ทำความตกลงไว้กับสำนักงาน ก.พ. หากไม่มีข้อตกลงให้เป็นไปตามที่สำนักงาน ก.พ. หรือสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนจะได้กำหนดให้ ทั้งนี้ จะต้องแจ้งที่พักอาศัยให้สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนทราบ ในกรณีมีการย้ายที่พักอาศัยจะต้องแจ้งที่พักอาศัยแห่งใหม่ให้สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนทราบโดยด่วนทุกครั้ง

หมวด 3

การศึกษา

ข้อ 13

บุคลากรภาครัฐต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการศึกษาดังนี้

  • (1) ต้องศึกษาตามสาขาวิชา ระดับการศึกษา ภายในระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติจากทางราชการหรือหน่วยงานเจ้าสังกัดโดยเคร่งครัด หากจำเป็นจะต้องเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงสาขาวิชา ระดับการศึกษา หรือขยายเวลาในการศึกษา จะต้องยื่นคำขอภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยจะต้องได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจอนุมัติในแต่ละประเภททุนก่อน
  • (2) ต้องตั้งใจศึกษา อุทิศเวลาให้แก่การศึกษาอย่างเต็มที่ และพยายามศึกษาให้สำเร็จภายในระยะเวลาที่ทางราชการหรือหน่วยงานเจ้าสังกัดอนุมัติ หากศึกษาครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วยังไม่สำเร็จ และไม่ประสงค์จะขอขยายเวลาการลาต่อไป หรือไม่ได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาการลาก็ให้ยุติการศึกษา
  • (3) ต้องรายงานผลการศึกษาต่อส่วนราชการหรือหน่วยงานเจ้าสังกัดและสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนทุก ๆ สิ้นภาคการศึกษา หรือตามระยะเวลาที่ทางราชการหรือหน่วยงานเจ้าสังกัดกำหนด หากมีอุปสรรคในการศึกษาก็ให้รายงานทันทีโดยทำรายงานผ่านสำนักงานผู้ดูแลนักเรียน และในกรณีที่จำเป็นต้องทำคำรับรองต่อสถานศึกษา ยินยอมให้สถานศึกษาส่งรายงานผลการศึกษาไปยังสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนโดยตรง

ข้อ 14

นักเรียนทุนของรัฐบาลต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการศึกษาดังนี้

  • (1) ต้องศึกษาตามสาขาวิชาและระดับการศึกษาที่ ก.พ. หรือหน่วยงานเจ้าของทุนกำหนดโดยเคร่งครัด หากจำเป็นจะต้องเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงสาขาวิชาหรือระดับการศึกษา จะต้องได้รับอนุมัติจาก ก.พ. หรือหน่วยงานเจ้าของทุนก่อน แล้วแต่กรณี
  • (2) ต้องตั้งใจศึกษา อุทิศเวลาให้แก่การศึกษาอย่างเต็มที่ และพยายามศึกษาให้สำเร็จภายในระยะเวลาที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด หรือที่สำนักงาน ก.พ. ขยายให้ หากศึกษาครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วยังไม่สำเร็จ สำนักงาน ก.พ. จะให้ยุติการศึกษา และเดินทางกลับประเทศไทย หรือจะอนุญาตให้อยู่ศึกษาต่อตามระยะเวลาที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด โดยสำนักงาน ก.พ. จะระงับการจ่ายเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ สำหรับผู้นั้นในระหว่างนั้น เว้นแต่ค่าพาหนะเดินทาง และค่าขนส่งสิ่งของกลับประเทศไทยก็ได้
  • (3) ต้องรายงานผลการศึกษาต่อสำนักงาน ก.พ. ทุก ๆ สิ้นภาคการศึกษาหรือตามระยะเวลาที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด หากมีอุปสรรคในการศึกษาก็ให้รายงานทันที โดยทำรายงานผ่านสำนักงานผู้ดูแลนักเรียน และในกรณีที่จำเป็นต้องทำคำรับรองต่อสถานศึกษา ยินยอมให้สถานศึกษาส่งรายงานผลการศึกษาไปยังสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนโดยตรง

ข้อ 15

นักเรียนทุนส่วนตัวต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการศึกษาดังนี้

  • (1) ต้องศึกษาตามแนวการศึกษาที่ผู้ฝากและออกค่าใช้จ่ายได้ทำความตกลงไว้กับสำนักงาน ก.พ. โดยเคร่งครัด การเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงสาขาวิชา หรือระดับการศึกษา กระทำได้ตามที่ผู้ฝากและออกค่าใช้จ่ายได้ทำความตกลงไว้กับสำนักงาน ก.พ.
  • (2) ต้องรายงานผลการศึกษา ความคืบหน้าต่อสำนักงาน ก.พ. ทุก ๆ สิ้นภาคการศึกษา หรือตามระยะเวลาที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด โดยทำรายงานผ่านสำนักงานผู้ดูแลนักเรียน และในกรณีที่จำเป็นต้องทำคำรับรองต่อสถานศึกษา ยินยอมให้สถานศึกษาส่งรายงานผลการศึกษาไปยังสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนโดยตรง

หมวด 4

การจ่ายเงิน

ข้อ 16

เงินค่าใช้จ่ายของบุคลากรภาครัฐให้เป็นความรับผิดชอบของตัวบุคลากรภาครัฐเอง โดยไม่ต้องส่งเงินผ่านสำนักงาน ก.พ. เว้นแต่หน่วยงานเจ้าของทุนหรือหน่วยงานเจ้าสังกัดได้ทำข้อตกลงฝากอยู่ในความดูแลของ ก.พ. ให้กำหนดเงินค่าใช้จ่ายตามข้อตกลงนั้น ในกรณีที่ไม่มีข้อตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายให้กำหนดเงินค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกับนักเรียนทุนของรัฐบาล

ข้อ 17

นักเรียนทุนของรัฐบาลต้องศึกษาและทำความเข้าใจคู่มือการเบิกจ่ายเงินของนักเรียนทุนของรัฐบาลและต้องใช้จ่ายเงินตามประเภทค่าใช้จ่ายในหมวดนี้

ข้อ 18

นักเรียนทุนส่วนตัวต้องศึกษาและทำความเข้าใจประเภทค่าใช้จ่าย และวิธีการเบิกจ่ายเงินค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงฝากอยู่ในความดูแลของ ก.พ.

ข้อ 19

ทุนการศึกษาของนักเรียนทุนของรัฐบาลประกอบด้วยค่าใช้จ่ายประเภทต่าง ๆ ตามที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด ดังต่อไปนี้

  1. ค่าตรวจสุขภาพและอนามัย
  2. ค่าธรรมเนียมในการทำและต่ออายุหนังสือเดินทาง
  3. ค่าธรรมเนียมในการขออนุมัติและต่อวีซ่า
  4. ค่าใช้จ่ายในการจัดหาสถานศึกษา
  5. ค่าเรียนภาษาต่างประเทศ และค่าเรียนเพื่อเตรียมความพร้อมในการทดสอบความรู้เพื่อใช้ประกอบในการสมัครเข้าศึกษา
  6. ค่าธรรมเนียมในการทดสอบความรู้เพื่อใช้ประกอบในการสมัครเข้าศึกษา
  7. ค่าเครื่องแต่งกาย
  8. ค่าเครื่องคอมพิวเตอร์
  9. ค่าพาหนะเดินทางและขนส่งสิ่งของ
  10. ค่าใช้จ่ายระหว่างเดินทางไปประเทศที่ศึกษาและกลับประเทศไทย
  11. ค่าธรรมเนียมในการศึกษา และค่าเล่าเรียน
  12. ค่าประกันสุขภาพและค่ารักษาพยาบาล
  13. ค่าอาหาร ค่าที่พักและค่าใช้จ่ายอื่นในการครองชีพ
  14. ค่าหนังสือและอุปกรณ์การศึกษา
  15. ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม ฝึกงานและดูงาน
  16. ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด

ข้อ 20

เงินค่าใช้จ่ายและวิธีการเบิกจ่ายสำหรับนักเรียนทุนส่วนตัวให้เป็นไปตามที่ผู้ฝากและออกค่าใช้จ่ายได้ทำความตกลงไว้กับสำนักงาน ก.พ.

ข้อ 21

งบประมาณค่าใช้จ่าย รายละเอียดเกี่ยวกับเงินที่จะจ่าย จำนวนเงินที่จะจ่าย กำหนดเวลาที่จะจ่ายเงิน และวิธีการเบิกจ่ายเงินตามข้อ 17 และข้อ 19 ให้เป็นไปตามที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด

ข้อ 22

การจ่ายเงินทุนของรัฐบาลเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในการไปศึกษาของผู้รับทุนให้จ่ายตามข้อตกลงระหว่างสำนักงาน ก.พ. และผู้รับทุนตามที่กำหนดไว้ในสัญญาการรับทุน ซึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดเรื่องต่อไปนี้ จำนวนเงินที่จะจ่าย กำหนดเวลาที่จะจ่ายเงิน วิธีการเบิกจ่ายเงิน การประเมินผลการปฏิบัติงาน การควบคุมดูแลการศึกษา การเข้ารับราชการ หรือปฏิบัติงานของทางราชการ การชดใช้เงินทุนกรณีผิดสัญญา

ข้อ 23

ให้สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนทำรายงานค่าครองชีพในประเทศซึ่งรับผิดชอบและค่าใช้จ่ายในการครองชีพของทุนอื่น ๆ ที่ให้กับนักเรียนทุนที่ศึกษาในประเทศนั้น พร้อมความเห็นว่าสมควรปรับปรุงค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับประเทศหรือเมืองในประเทศนั้นหรือไม่ต่อสำนักงาน ก.พ. อย่างน้อยทุก ๒ ปี เพื่อให้สำนักงาน ก.พ. พิจารณาปรับปรุงค่าใช้จ่ายตามความในหมวดนี้ให้เหมาะสมต่อไป

หมวด 5

เงินชดเชยค่าใช้จ่าย

ข้อ 24

ให้สำนักงาน ก.พ. เรียกเก็บเงินชดเชยค่าใช้จ่ายในการดูแลจัดการการศึกษาของบุคลากรภาครัฐ และนักเรียนที่อยู่ในความดูแลของ ก.พ. ในต่างประเทศ ตามอัตราที่ ก.พ. กำหนด

หมวด 6

วินัยและการปฏิบัติตน

ข้อ 25

บุคลากรภาครัฐ นักเรียนทุนของรัฐบาล และนักเรียนทุนส่วนตัวในความดูแลของ ก.พ. ในต่างประเทศ ต้องรักษาวินัยและปฏิบัติตนตามที่บัญญัติในหมวดนี้โดยเคร่งครัด

ข้อ 26

ก่อนการศึกษาหรือฝึกอบรมในต่างประเทศ

  • (1) บุคลากรภาครัฐ ต้องรายงานตัวต่อส่วนราชการ หรือหน่วยงานเจ้าสังกัดและต้องรับทราบและถือปฏิบัติตามระเบียบและข้อปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง
  • (2) นักเรียนทุนของรัฐบาล และนักเรียนทุนส่วนตัว ต้องรายงานตัวต่อสำนักงาน ก.พ. และต้องรับทราบและถือปฏิบัติตามระเบียบและข้อปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 27

เมื่อเดินทางถึงประเทศที่ศึกษาหรือฝึกอบรม และระหว่างที่ศึกษาหรือฝึกอบรมอยู่ในต่างประเทศ

  • (1) บุคลากรภาครัฐ นักเรียนทุนของรัฐบาลและนักเรียนทุนส่วนตัวต้องรายงานตัวต่อสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนโดยด่วน ในกรณีที่ไม่อาจไปรายงานตัวด้วยตนเองได้ ก็ให้ส่งรายงานการเดินทางและแจ้งสถานที่พักอาศัย
  • (2) บุคลากรภาครัฐ และนักเรียนทุนของรัฐบาลที่อยู่ระหว่างศึกษาหรือฝึกอบรมในต่างประเทศ หากประสงค์จะทำการสมรสให้รีบรายงาน พร้อมส่งหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องให้สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนทราบ ในกรณีจะทำการสมรสกับชาวต่างชาติ ต้องแสดงเหตุผลให้เป็นที่พอใจว่าจะไม่สละสัญชาติไทย
  • สำหรับนักเรียนทุนส่วนตัวให้เป็นไปตามข้อตกลงของผู้ฝากและออกค่าใช้จ่ายที่ได้ทำไว้กับสำนักงาน ก.พ.
  • (3) บุคลากรภาครัฐ และนักเรียนทุนของรัฐบาลจะทำงานเพื่อหารายได้ในระหว่างศึกษาหรือฝึกอบรมมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากสำนักงาน ก.พ. หรือสำนักงานผู้ดูแลนักเรียน
  • สำหรับนักเรียนทุนส่วนตัวให้เป็นไปตามข้อตกลงของผู้ฝากและออกค่าใช้จ่ายที่ได้ทำไว้กับสำนักงาน ก.พ.
  • (4) บุคลากรภาครัฐ และนักเรียนทุนของรัฐบาลจะเดินทางกลับประเทศไทย หรือเดินทางออกจากประเทศที่กำลังศึกษาหรือฝึกอบรมมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากสำนักงาน ก.พ. หรือสำนักงานผู้ดูแลนักเรียน
  • สำหรับนักเรียนทุนส่วนตัวให้เป็นไปตามข้อตกลงของผู้ฝากและออกค่าใช้จ่ายที่ได้ทำไว้กับสำนักงาน ก.พ.
  • (5) บุคลากรภาครัฐ นักเรียนทุนของรัฐบาล และนักเรียนทุนส่วนตัวในความดูแลของ ก.พ.ในต่างประเทศ ต้องปฏิบัติตน ดังต่อไปนี้
    • (ก) ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบ ข้อบังคับของประเทศที่ศึกษาหรือฝึกอบรมอยู่ และประเทศที่เดินทางผ่านโดยเคร่งครัด
    • (ข) ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง และคำแนะนำของสำนักงาน ก.พ. และสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนโดยเคร่งครัด
    • (ค) ต้องรักษาความสามัคคี ในระหว่างนักเรียนและคนไทยด้วยกัน และต้องรักษาความสัมพันธ์อันดีกับประชาชนของประเทศที่ไปศึกษาด้วย
    • (ง) ต้องไม่รายงานเท็จ หรือรายงานโดยปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ต่อสำนักงาน ก.พ. หรือสำนักงานผู้ดูแลนักเรียน
    • (จ) ต้องไม่กระทำการหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการหาประโยชน์จากทางราชการโดยมิชอบ
    • (ฉ) ต้องไม่กระทำการใด ๆ อันอาจนำมาซึ่งความเสียหายแก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
    • (ช) ต้องไม่กระทำการใด ๆ อันอาจนำมาซึ่งความเสียหายแก่เกียรติยศชื่อเสียงของตน เช่น ประพฤติตนเป็นคนเสเพล เสพของมึนเมาจนไม่สามารถครองสติได้ หมกมุ่นในการพนัน ก่อหนี้สินจนเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงของตน ก่อการวิวาท แสดงกิริยาอันไม่สุภาพเรียบร้อย ก่อเรื่องชู้สาว เสพหรือค้ายาเสพติดให้โทษ
    • (ซ) การอื่นซึ่งสำนักงาน ก.พ. ประกาศกำหนด

ข้อ 28

บุคลากรภาครัฐ นักเรียนทุนของรัฐบาล และนักเรียนทุนส่วนตัวในความดูแลของ ก.พ. ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับหรือฝ่าฝืนข้อ 25 ข้อ 26 หรือข้อ 27 แห่งข้อบังคับนี้ ผู้นั้นเป็นผู้กระทำผิดวินัยตามระเบียบนี้ ต้องได้รับการพิจารณาความผิดและกำหนดโทษตามความร้ายแรงแห่งกรณี ดังนี้

  • (1) ในกรณีที่เป็นบุคลากรภาครัฐ สำนักงาน ก.พ. หรือสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนอาจดำเนินการ ดังต่อไปนี้
    • (ก) ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร
    • (ข) ให้ยุติการศึกษา และเดินทางกลับประเทศไทย
    • (ค) แจ้งให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานเจ้าสังกัด ดำเนินการทางวินัยตามกฎหมาย
  • (2) ในกรณีที่เป็นนักเรียนทุนของรัฐบาล สำนักงาน ก.พ. หรือสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนอาจดำเนินการ ดังต่อไปนี้
    • (ก) ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร
    • (ข) ชะลอการจ่ายเงินค่าใช้จ่ายประจำเดือน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามที่สำนักงาน ก.พ.เห็นสมควร
    • (ค) ให้คืนเงินค่าใช้จ่ายที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิ์แก่ทางราชการ
    • (ง) ให้ยุติการศึกษา และเดินทางกลับประเทศไทย
    • (จ) แจ้งให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานเจ้าสังกัด ดำเนินการทางวินัยตามกฎหมาย
  • (3) ในกรณีที่เป็นนักเรียนทุนส่วนตัว สำนักงาน ก.พ. หรือสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนอาจดำเนินการ ดังต่อไปนี้
    • (ก) ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร
    • (ข) เสนอให้ผู้ฝากชะลอการจ่ายเงินค่าใช้จ่ายประจำเดือน หรือยุติการศึกษา และเดินทางกลับประเทศไทย
    • (ค) ให้พ้นจากความดูแลของ ก.พ.
    • (ง) แจ้งให้ผู้ฝากหรือออกค่าใช้จ่ายดำเนินการทางวินัยตามกฎหมาย

ข้อ 29

เมื่อสำเร็จการศึกษาหรือฝึกอบรมในต่างประเทศ หรือเมื่อทางราชการไม่อนุมัติให้อยู่ศึกษาหรือฝึกอบรมต่อ หรือได้รับอนุมัติให้ยุติการศึกษา ให้ปฏิบัติดังนี้

  • (1) บุคลากรภาครัฐ และนักเรียนทุนของรัฐบาลต้องเดินทางกลับประเทศไทยและรายงานตัวภายในระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้ข้าราชการไปศึกษา ฝึกอบรม ปฏิบัติการวิจัย และดูงาน ณ ต่างประเทศ
  • (2) นักเรียนทุนส่วนตัวให้เป็นไปตามข้อตกลงของผู้ฝากและออกค่าใช้จ่ายที่ได้ทำไว้กับสำนักงาน ก.พ.

ข้อ 30

ให้สำนักงาน ก.พ. และสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนมีหน้าที่ดังนี้

  • (1) ให้ความช่วยเหลือแก่บุคลากรภาครัฐและนักเรียนที่อยู่ในความดูแลของ ก.พ. ตามที่ประกาศกำหนด
  • (2) รวบรวมรายชื่อ ที่อยู่ที่ติดต่อได้ของบุคลากรภาครัฐและนักเรียนที่อยู่ในความดูแลของ ก.พ. ซึ่งสำเร็จการศึกษาหรือฝึกอบรมแล้ว และติดตามการปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงานของบุคคลดังกล่าว รวมทั้งสร้างเครือข่ายหรือร่วมกันบำเพ็ญประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป
  • (3) หน้าที่อื่นตามที่ ก.พ. กำหนด

ประกาศ ณ วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ชวรัตน์ ชาญวีรกูล

รองนายกรัฐมนตรี

ประธาน ก.พ.

ข้อบังคับ_ก.พ._ว่าด้วยการจัดการการศึกษา_2551.pdf

1)
ราชกิจจานุเบกษา ตอนพิเศษ 187 ง หน้า 59 วันที่ 10 ธันวาคม 2551
องค์ความรู้กฎหมาย/กฎหมายลำดับรอง/ข้อบังคับ_ก.พ.txt · Last modified: 2020/11/06 13:45 by jittaporn.n_ocsc.go.th