พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่ง การให้ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง การบรรจุ การแต่งตั้ง การเพิ่มพูนประสิทธิภาพและเสริมสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติราชการ การรักษาจรรยา การรักษาวินัย การออกจากราชการ การอุทธรณ์ การร้องทุกข์ และการอื่นตามที่จำเป็นของข้าราชการพลเรือนในพระองค์
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 35 (2) และมาตรา 127 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 31 มาตรา 33 มาตรา 43 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในพระองค์ พ.ศ. 2552”
พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มิให้นำความในมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาใช้บังคับกับข้าราชการพลเรือนในพระองค์
ในสำนักพระราชวัง ให้มีคณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวงและคณะอนุกรรมการสามัญประจำกรม ดังต่อไปนี้
(1) คณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวงของสำนักพระราชวัง เรียกโดยย่อว่า “อ.ก.พ. กระทรวงของสำนักพระราชวัง” ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีในตำแหน่งบังคับบัญชาสำนักพระราชวัง เป็นประธาน เลขาธิการพระราชวัง รองเลขาธิการพระราชวัง และหัวหน้าส่วนราชการของส่วนราชการที่ปรากฏในการแบ่งส่วนราชการของสำนักพระราชวัง เป็นอนุกรรมการ และให้ อ.ก.พ. นี้ แต่งตั้งเลขานุการหนึ่งคน ในการนี้นายกรัฐมนตรีอาจมอบหมายให้เลขาธิการพระราชวัง ปฏิบัติหน้าที่ประธาน อ.ก.พ. กระทรวงของสำนักพระราชวังแทนได้
(2) คณะอนุกรรมการสามัญประจำกรมของสำนักพระราชวัง เรียกโดยย่อว่า “อ.ก.พ. สำนักพระราชวัง” ประกอบด้วย เลขาธิการพระราชวัง เป็นประธาน รองเลขาธิการพระราชวังและหัวหน้าส่วนราชการของส่วนราชการที่ปรากฏในการแบ่งส่วนราชการของสำนักพระราชวัง เป็นอนุกรรมการ และให้ อ.ก.พ. นี้ แต่งตั้งเลขานุการหนึ่งคน
ในสำนักราชเลขาธิการ ให้มีคณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวงและคณะอนุกรรมการสามัญประจำกรม ดังต่อไปนี้
(1) คณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวงของสำนักราชเลขาธิการ เรียกโดยย่อว่า “อ.ก.พ. กระทรวงของสำนักราชเลขาธิการ” ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีในตำแหน่งบังคับบัญชาสำนักราชเลขาธิการ เป็นประธาน ราชเลขาธิการ รองราชเลขาธิการ และหัวหน้าส่วนราชการของส่วนราชการที่ปรากฏในการแบ่งส่วนราชการของสำนักราชเลขาธิการ เป็นอนุกรรมการ และให้ อ.ก.พ. นี้ แต่งตั้งเลขานุการหนึ่งคน ในการนี้นายกรัฐมนตรีอาจมอบหมายให้ราชเลขาธิการปฏิบัติหน้าที่ประธาน อ.ก.พ. กระทรวงของสำนักราชเลขาธิการแทนได้
(2) คณะอนุกรรมการสามัญประจำกรมของสำนักราชเลขาธิการ เรียกโดยย่อว่า “อ.ก.พ. สำนักราชเลขาธิการ” ประกอบด้วย ราชเลขาธิการ เป็นประธาน รองราชเลขาธิการและหัวหน้าส่วนราชการของส่วนราชการที่ปรากฏในการแบ่งส่วนราชการของสำนักราชเลขาธิการ เป็นอนุกรรมการ และให้ อ.ก.พ. นี้ แต่งตั้งเลขานุการหนึ่งคน
ให้ อ.ก.พ. กระทรวงของสำนักพระราชวัง และ อ.ก.พ. กระทรวงของสำนักราชเลขาธิการ มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และให้ อ.ก.พ. สำนักพระราชวัง และ อ.ก.พ. สำนักราชเลขาธิการมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
ตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ในสำนักพระราชวังมีดังต่อไปนี้
(1) เลขาธิการพระราชวัง
(2) รองเลขาธิการพระราชวัง
(3) กรมวังผู้ใหญ่
(4) ที่ปรึกษาสำนักพระราชวัง
(5) ราชเลขานุการในพระองค์
(6) ประจำสำนักพระราชวังพิเศษ
(7) ผู้ช่วยเลขาธิการพระราชวัง
(8) รองราชเลขานุการในพระองค์
(9) ผู้อำนวยการ
(10) ตำแหน่งอื่น ตามที่ อ.ก.พ. กระทรวงของสำนักพระราชวังกำหนด และแจ้งให้ ก.พ. ทราบ
ตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ในสำนักราชเลขาธิการมีดังต่อไปนี้
(1) ราชเลขาธิการ
(2) รองราชเลขาธิการ
(3) ราชเลขานุการในพระองค์
(4) รองราชเลขานุการในพระองค์
(5) เลขาธิการคณะองคมนตรี
(6) ที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการ
(7) ผู้ช่วยราชเลขาธิการ
(8) ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์
(9) ผู้ช่วยเลขาธิการคณะองคมนตรี
(10) ผู้อำนวยการ
(11) ตำแหน่งอื่น ตามที่ อ.ก.พ. กระทรวงของสำนักราชเลขาธิการกำหนด และแจ้งให้ ก.พ. ทราบ
ตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ในสำนักพระราชวังตามมาตรา ๗ และในสำนักราชเลขาธิการ ตามมาตรา 8 จะมีจำนวนเท่าใด และเป็นตำแหน่งประเภทใด สายงานใดและระดับใด ให้เป็นไปตามที่ อ.ก.พ. กระทรวงของสำนักพระราชวัง หรือ อ.ก.พ. กระทรวงของสำนักราชเลขาธิการกำหนด ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ก.พ. กำหนด และต้องเป็นไปตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งตามที่ ก.พ. กำหนด
การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนในพระองค์และการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในสำนักพระราชวัง หรือสำนักราชเลขาธิการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ อ.ก.พ. สำนักพระราชวัง หรือ อ.ก.พ. สำนักราชเลขาธิการกำหนด
การบรรจุและการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในพระองค์ให้ดำรงตำแหน่งให้ผู้มีอำนาจดังต่อไปนี้เป็นผู้สั่งบรรจุและแต่งตั้ง
(1) การบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพระราชวัง หรือราชเลขาธิการ ให้นายกรัฐมนตรีในตำแหน่งบังคับบัญชาสำนักพระราชวัง หรือสำนักราชเลขาธิการ เป็นผู้สั่งบรรจุ
(2) การบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารนอกจาก (1) ตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับสูง ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ ระดับทรงคุณวุฒิ และตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับทักษะพิเศษ ในสำนักพระราชวัง ให้นายกรัฐมนตรีในตำแหน่งบังคับบัญชาสำนักพระราชวัง เป็นผู้สั่งบรรจุ ส่วนในสำนักราชเลขาธิการ ให้ราชเลขาธิการเป็นผู้สั่งบรรจุ
(3) การบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับต้น ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ และตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับอาวุโส ให้เลขาธิการพระราชวัง หรือราชเลขาธิการเป็นผู้สั่งบรรจุและแต่งตั้ง
(4) การบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการและตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญงาน ให้เลขาธิการพระราชวัง หรือราชเลขาธิการเป็นผู้สั่งบรรจุและแต่งตั้ง
ในการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในพระองค์ตาม (1) และ (2) ให้สำนักพระราชวังหรือสำนักราชเลขาธิการนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ส่วนการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในพระองค์ตาม (3) ให้สำนักพระราชวังหรือสำนักราชเลขาธิการนำความกราบบังคมทูลเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุมัติ และการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในพระองค์ตาม (4) ให้สำนักพระราชวังหรือสำนักราชเลขาธิการรวบรวมรายชื่อข้าราชการพลเรือนในพระองค์นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท
ผู้ใดได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนในพระองค์เฉพาะกรณีที่แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงาน และตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการตามมาตรา 10 ให้ผู้นั้นทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการและให้ได้รับการพัฒนา เพื่อให้รู้ระเบียบแบบแผนของทางราชการและเป็นข้าราชการที่ดีตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ส่วนหลักเกณฑ์และวิธีการให้เป็นไปตามที่ อ.ก.พ. สำนักพระราชวัง หรือ อ.ก.พ. สำนักราชเลขาธิการกำหนด
การย้าย การโอน หรือการเลื่อนข้าราชการพลเรือนในพระองค์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ อ.ก.พ. สำนักพระราชวัง หรือ อ.ก.พ. สำนักราชเลขาธิการกำหนด
ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 11 เป็นผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนเงินเดือนข้าราชการพลเรือนในพระองค์ เว้นแต่ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ในสำนักพระราชวังตามมาตรา 11 (2) ให้เลขาธิการพระราชวังเป็นผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนเงินเดือน
นอกจากตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตามระเบียบที่ ก.พ. กำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 แล้ว ข้าราชการพลเรือนในพระองค์อาจได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษอื่นตามระเบียบที่สำนักพระราชวังหรือสำนักราชเลขาธิการกำหนดโดยความเห็นชอบของ ก.พ. และกระทรวงการคลัง
การออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนในพระองค์ตำแหน่งประเภทบริหาร ตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับสูง ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ ระดับทรงคุณวุฒิ และตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับทักษะพิเศษ ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่ง
สำหรับการออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนในพระองค์ตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับต้น ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ และตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับอาวุโส ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท
ในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ผู้ใดถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการและประสงค์จะยื่นอุทธรณ์ ให้ผู้นั้นยื่นอุทธรณ์ต่อ อ.ก.พ. กระทรวงของสำนักพระราชวัง หรือ อ.ก.พ. กระทรวงของสำนักราชเลขาธิการ
เมื่อ อ.ก.พ. กระทรวงของสำนักพระราชวัง หรือ อ.ก.พ. กระทรวงของสำนักราชเลขาธิการมีมติในเรื่องอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท
การอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ อ.ก.พ. กระทรวงของสำนักพระราชวัง หรือ อ.ก.พ. กระทรวงของสำนักราชเลขาธิการกำหนด
ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ผู้ใดมีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชา และเป็นกรณีที่ไม่อาจอุทธรณ์ตามมาตรา 17 ได้ ผู้นั้นมีสิทธิร้องทุกข์ได้
การร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยร้องทุกข์ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ อ.ก.พ. กระทรวงของสำนักพระราชวัง หรือ อ.ก.พ. กระทรวงของสำนักราชเลขาธิการกำหนด
การกำหนดตำแหน่ง การให้ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง การบรรจุ การแต่งตั้ง การเพิ่มพูนประสิทธิภาพและเสริมสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติราชการ การรักษาจรรยา การรักษาวินัย การดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ การอุทธรณ์ การร้องทุกข์ และการอื่นของข้าราชการพลเรือนในพระองค์ หากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นประการใด ให้นายกรัฐมนตรีในตำแหน่งบังคับบัญชาสำนักพระราชวังและสำนักราชเลขาธิการรับสนองพระบรมราชโองการ
ในวาระเริ่มแรกให้ ก.พ. จัดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในพระองค์ของสำนักพระราชวังและสำนักราชเลขาธิการ เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และให้เลขาธิการพระราชวังหรือราชเลขาธิการ แล้วแต่กรณี สั่งแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งใหม่ต่อไป
ในการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในพระองค์ตามวรรคหนึ่ง หากมีเหตุผลและความจำเป็น ก.พ. อาจอนุมัติให้แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในพระองค์ผู้มีคุณสมบัติต่างไปจากคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งตามที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะตัวได้
ในระหว่างที่ยังมิได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ หรือกรณีใดเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกานี้ ให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการ หรือกรณีต่าง ๆ ที่ได้ใช้บังคับกับข้าราชการพลเรือนในพระองค์อยู่แล้วก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับมาใช้บังคับไปพลางก่อนเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชกฤษฎีกานี้
ในกรณีที่ไม่อาจนำหลักเกณฑ์และวิธีการ หรือกรณีใด มาใช้บังคับได้ตามวรรคหนึ่ง การจะดำเนินการประการใดให้เป็นไปตามที่ อ.ก.พ. กระทรวงของสำนักพระราชวัง หรือ อ.ก.พ. กระทรวงของสำนักราชเลขาธิการกำหนด
เรื่องอุทธรณ์หรือเรื่องร้องทุกข์ของข้าราชการพลเรือนในพระองค์ที่ได้ยื่นตามกฎหมายไว้แล้วก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับและอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ อ.ก.พ. สามัญ ก.พ. หรือ ก.พ.ค. แล้วแต่กรณี ให้โอนเรื่องอุทธรณ์หรือเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าวให้ อ.ก.พ. กระทรวงของสำนักพระราชวัง หรือ อ.ก.พ. กระทรวงของสำนักราชเลขาธิการเพื่อดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกานี้ต่อไป
การใดที่อยู่ระหว่างดำเนินการหรือเคยดำเนินการได้ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในพระองค์ พ.ศ. 2539 และมิได้บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้ หรือมีกรณีที่ไม่อาจดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกานี้ การดำเนินการต่อไปในเรื่องนั้นจะสมควรดำเนินการประการใด ให้เป็นไปตามที่ อ.ก.พ. กระทรวงของสำนักพระราชวัง หรือ อ.ก.พ. กระทรวงของสำนักราชเลขาธิการกำหนด
ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 35 (2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 บัญญัติว่า ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ได้แก่ ข้าราชการพลเรือนซึ่งรับราชการ โดยได้รับบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในพระองค์พระมหากษัตริย์ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา และมาตรา 127 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 บัญญัติให้การบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่ง การให้ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง การบรรจุ การแต่งตั้ง การเพิ่มพูนประสิทธิภาพและเสริมสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติราชการ การรักษาจรรยา การรักษาวินัย การออกจากราชการ การอุทธรณ์ การร้องทุกข์ และการอื่นตามที่จำเป็นของข้าราชการพลเรือนในพระองค์ โดยจะกำหนดให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ทั้งหมด หรือบางส่วนมาใช้บังคับหรือจะกำหนดให้แตกต่างจากที่บัญญัติในพระราชบัญญัตินี้ก็ได้ ดังนั้น เพื่อให้การบริหารงานบุคคลของสำนักพระราชวังและสำนักราชเลขาธิการเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในพระองค์ พ.ศ. 2552