OCSC Wiki

คลังกลางความรู้ด้าน HR

User Tools

Site Tools


องค์ความรู้กฎหมาย:กฎหมายลำดับรอง:พระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของ_กวฉ._พ.ศ._2552

พระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ พ.ศ. 2552

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2552

เป็นปีที่ 64 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 31 มาตรา 33 มาตรา 43 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1

พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ พ.ศ. 2552”

มาตรา 2

1) พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3

ให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเป็นรายเดือน ตามบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มของกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ ตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง

มาตรา 4

ให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลหรือการประกันสุขภาพตามที่จ่ายจริงในอัตราเบี้ยประกันคนละไม่เกินสามหมื่นบาทต่อปี

ให้นำพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและระเบียบกระทรวงการคลังซึ่งออกตามความในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาใช้บังคับแก่ค่ารักษาพยาบาลของกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามพระราชกฤษฎีกานี้ โดยอนุโลม

เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกานี้ คำว่า “การประกันสุขภาพ” ให้หมายถึง การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองทางด้านการเงินเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายต่าง ๆ สำหรับการรักษาตัวในสถานพยาบาลหรือคลินิก หรือเข้ารับการผ่าตัดโดยแพทย์ในกรณีเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ

มาตรา 5

ในกรณีที่กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ซึ่งขอรับการประกันสุขภาพเป็นผู้ซึ่งได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญ ให้ได้รับการชดเชยค่ารักษาพยาบาลจากการประกันสุขภาพก่อน และมีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลจากทางราชการเฉพาะส่วนที่ขาดอยู่จากส่วนราชการเจ้าสังกัดที่ผู้นั้นรับเบี้ยหวัดหรือบำนาญอยู่

มาตรา 6

ให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่าหนึ่งปีบริบูรณ์ มีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนเป็นเงินซึ่งจ่ายครั้งเดียวเมื่อพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  • (1) ออกตามวาระ
  • (2) ลาออก
  • (3) มีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์

ในการคำนวณบำเหน็จตอบแทนนั้น ให้นำอัตราเงินประจำตำแหน่งท้ายพระราชกฤษฎีกานี้คูณด้วยระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง

การนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งเพื่อคำนวณบำเหน็จตอบแทนตามวรรคหนึ่งนั้นให้นับตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจนถึงวันที่สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ โดยให้นับจำนวนปีรวมทั้งเศษของปีด้วย การคำนวณเศษของปีที่เป็นเดือนหรือเป็นวันให้เป็นปีนั้นให้นำเศษที่เป็นเดือนหารด้วยสิบสอง และเศษที่เป็นวันหารด้วยสามสิบได้ผลลัพธ์เท่าใดจึงหารด้วยสิบสอง ในการคำนวณให้ใช้ทศนิยมสองตำแหน่ง และให้นำจำนวนที่คำนวณได้มารวมกันเป็นระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งซึ่งเป็นจำนวนปี

สิทธิในบำเหน็จตอบแทนนั้น เป็นสิทธิเฉพาะตัว จะโอนไม่ได้

มาตรา 7

ในกรณีที่กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุถึงแก่ความตาย ไม่ว่าผู้นั้นจะดำรงตำแหน่งครบหนึ่งปีบริบูรณ์หรือไม่ ให้จ่ายบำเหน็จตอบแทนเป็นเงิน ซึ่งจ่ายครั้งเดียวตามระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งโดยใช้เกณฑ์คำนวณตามมาตรา 6 วรรคสอง และวรรคสาม โดยอนุโลม ให้แก่ทายาทโดยธรรมซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 8

ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นายกรัฐมนตรี

บัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มของกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์

ตำแหน่ง เงินประจำตำแหน่ง (บาท/เดือน) เงินเพิ่ม (บาท/เดือน)
กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ 64,340 30,000
กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ 64,340 30,000

หมายเหตุ :-

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 บัญญัติให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ได้รับเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

พระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ พ.ศ. 2552

1)
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนที่ 70 ก หน้า 16 วันที่ 23 กันยายน 2552
องค์ความรู้กฎหมาย/กฎหมายลำดับรอง/พระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของ_กวฉ._พ.ศ._2552.txt · Last modified: 2017/10/25 15:01 by puirui