OCSC Wiki

คลังกลางความรู้ด้าน HR

User Tools

Site Tools


องค์ความรู้กฎหมาย:กฎหมายลำดับรอง:ระเบียบ_ก.พ.ค._ว่าด้วยการประชุมคณะกรรมการ_ก.พ.ค._คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ฯ_พ.ศ._2551

ระเบียบ ก.พ.ค. ว่าด้วยการประชุมคณะกรรมการ ก.พ.ค. คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ พ.ศ. 2551

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดระเบียบว่าด้วยการประชุมคณะกรรมการ ก.พ.ค. คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 31 (5) และมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ก.พ.ค. จึงออกระเบียบไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1

ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบ ก.พ.ค. ว่าด้วยการประชุมคณะกรรมการ ก.พ.ค. คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ พ.ศ. 2551”

ข้อ 2

ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ข้อ 3

ให้ประธาน ก.พ.ค. รักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามระเบียบนี้

ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ประธาน ก.พ.ค. อาจหารือที่ประชุม ก.พ.ค. เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยก็ได้

หมวด 1

การประชุมคณะกรรมการ ก.พ.ค.

ส่วนที่ 1

บททั่วไป

ข้อ 4

ให้ประธาน ก.พ.ค. มีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้

  • (1) นัดประชุมและกำหนดระเบียบวาระการประชุม
  • (2) ควบคุมและดำเนินการให้การประชุมเป็นไปโดยเรียบร้อย
  • (3) รักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุมและบริเวณที่ประชุม
  • (4) ดำเนินการอื่นในเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบนี้

ข้อ 5

ให้เลขานุการ ก.พ.ค. มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

  • (1) ดำเนิการนัดประชุมตามที่ประธาน ก.พ.ค. กำหนด
  • (2) จัดเตรียมและเก็บรักษาเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการประชุม
  • (3) รับผิดชอบและควบคุมการจัดทำรายงานการประชุม เอกสาร หรือรายงานอื่นใดตามมติที่ประชุมหรือตามที่ประธาน ก.พ.ค. กำหนด
  • (4) แจ้งหรือยืนยันมติของที่ประชุมไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง
  • (5) ดำเนินการอื่นใดตามที่ประธาน หรือกรรมการ ก.พ.ค. มอบหมาย

ข้อ 6

การนัดประชุมต้องทำเป็นหนังสือและแจ้งให้กรรมการ ก.พ.ค. ทุกคนทราบล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าสามวัน

ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นหรือเร่งด่วน ประธาน ก.พ.ค. จะนัดประชุมโดยวิธีการอย่างอื่นก็ได้

ในกรณีท่ี่มีเหตุอันสมควร ประธาน ก.พ.ค. อาจสั่งงดหรือเลื่อนการประชุมตามที่นัดไว้แล้วก็ได้

ข้อ 7

ระเบียบวาระการประชุมโดยปกติให้จัดลำดับ ดังนี้

  • (1) เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
  • (2) เรื่องรับรองรายงานการประชุม
  • (3) เรื่องสืบเนื่อง
  • (4) เรื่องเสนอเพื่อพิจารณา
  • (5) เรื่องเสนอเพื่อทราบ
  • (6) เรื่องอื่น ๆ

ถ้ากรรมการร่วมกันไม่น้อยกว่าสามคนเห็นว่าเรื่องใดควรนำเข้าสู่การประชุม ให้ประธาน ก.พ.ค. จัดเข้าสู่วาระการประชุมภายในหนึ่งเดือน

ข้อ 8

ให้เลขานุการ ก.พ.ค. ส่งระเบียบวาระการประชุมและเอกสารที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกับหนังสือนัดประชุม เว้นแต่กรณีที่มีเหตุจำเป็น อาจส่งเอกสาร ที่เกี่ยวข้องไปในภายหลังได้ แต่ต้องส่งล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน ยกเว้นเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือลับ จะส่งเอกสารที่ีเกี่ยวข้องให้ใน ที่ประชุมก็ได้

ส่วนท่ี่ 2

การประชุม

ข้อ 9

ให้กรรมการ ก.พ.ค. และเลขานุการ ก.พ.ค. ลงลายมือช่อในบัญชีรายชื่อผู้มาประชุมที่ีจัดเตรียมไว้ทุกครั้งที่มาประชุม

กรรมการ ก.พ.ค. ผู้ใดไม่อาจมาประชุมตามที่กำหนดได้ ให้แจ้งต่อประธาน ก.พ.ค. หรือเลขานุการ ก.พ.ค. ในโอกาสแรกที่สามารถทำได้

ข้อ 10

ในการประชุม ผู้ที่เข้าร่วมประชุมได้ นอกจากเลขานุการแล้วให้เป็นไปตามคำสั่งของประธาน ก.พ.ค. สำหรับบุคคลอื่นจะเข้ามาในห้องประชุมได้ เมื่อได้รับอนุญาตจากประธานในที่ประชุม

ข้อ 11

ในระหว่างการประชุมห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องบันทึกเสียง เครื่องบันทึกภาพ หรือเครื่องมือสื่อสารใด ๆ เว้นแต่เพื่อประโยชน์ในการจัดทำรายงาน การประชุม หรือได้รับอนุญาตจากประธานในที่ประชุม

ในกรณีที่มีการบันทึกเสียงหรือบันทึกภาพเพื่อประโยชน์ในการจัดทำรายงานการประชุม ให้เก็บรักษาแถบบันทึกเสียงหรือแถบบันทึกภาพไว้จนกว่าที่ประชุมจะได้พิจารณารับรองรายงานการประชุมครั้งนั้นแล้ว หรือจนกว่ากรรมการที่ได้ร่วมประชุมแต่มิได้ร่วมพิจารณารับรองรายงานการประชุมได้กลับมาร่วมประชุมและมิได้ทักท้วง จึงจะทำลายหรือลบสิ่งที่บันทึกไว้ในแถบบันทึกเสียงหรือแถบบันทึกภาพดังกล่าว

ข้อ 12

การประชุมต้องมีกรรมการ ก.พ.ค. มาประชุมรวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการ ก.พ.ค. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม

ข้อ 13

ในกรณีที่ประธาน ก.พ.ค. ไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ในการประชุมครั้งใดได้ ให้กรรมการ ก.พ.ค. ที่มาประชุมดำเนินการเลือกกรรมการ ก.พ.ค. คนใดคนหนึ่งที่มาประชุม ให้ทำหน้าท่ี่ประธานในที่ประชุมในการประชุมครั้งนั้น และให้ผู้ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับประธาน ก.พ.ค.

ข้อ 14

กรรมการ ก.พ.ค. ผู้ใดมีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณา ห้ามมิให้กรรมการ ก.พ.ค. ผู้นั้นเข้าร่วมประชุมและลงมติในเรื่องนั้น แต่ถ้าได้เข้าร่วมประชุมอยู่ก่อนแล้ว ให้นับกรรมการ ก.พ.ค. ผู้นั้นเป็นองค์ประชุมในการพิจารณาเรื่องนั้นด้วย

ส่วนที่ 3

การลงมติ

ข้อ 15

การลงมติของที่ประชุมโดยปกติให้ถือเสียงข้างมากของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เว้นแต่กรณีที่มีกฎ หรือระเบียบ ก.พ.ค. กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

กรรมการ ก.พ.ค. คนหนึ่งให้มีหนึ่งเสียงในการลงคะแนน และห้ามมิให้งดออกเสียง ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสีึยงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด และในกรณีที่มีผู้มีความเห็นแย้งให้ทำความเห็นแย้งไว้ก็ได้

การออกเสียงลงมติให้กระทำโดยเปิดเผย เว้นแต่ที่ประชุมโดยเสียงข้างมากมีมติให้กระทำโดยวิธีการลงคะแนนลับ ส่วนวิธีการลงคะแนนลับให้เป็นไปตามที่ประธานในที่ีประชุมกำหนด

ข้อ 16

ในการพิจารณาลงมติจะพิจารณารวมหรือแยกประเด็นในการพิจารณาให้เป็นไปตามมติของที่ประชุม

ส่วนที่ 4

รายงานการประชุมและเอกสารการประชุม

ข้อ 17

ให้เลขานุการในที่ประชุม จัดทำรายงานการประชุม โดยบันทึกประเด็นท่ี่ประชุมพิจารณาพร้อมด้วยความเห็นทั้งของเสียงข้างมากและความเห็นของเสียงข้างน้อย และมติของที่ประชุม

ข้อ 18

ระเบียบวาระการประชุม เอกสารที่ีเกี่ยวข้อง และรายงานการประชุม ให้เก็บรักษาไว้เป็นเอกสารลับในที่ปลอดภัยไม่น้อยกว่าสิบปี

การทำลายเอกสารให้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการนั้น

ข้อ 19

รายงานการประชุม ให้ประธาน ก.พ.ค. และเลขานุการ ก.พ.ค. ลงลายมือชื่อในรายงานการประชุมทุกครั้ง แต่ถ้ามิได้มีการลงลายมือชื่อไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ให้เลขานุการ ก.พ.ค. บันทึกเหตุนั้นไว้

หมวด 2

การประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์

ข้อ 20

การประชุมคณกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ให้นำหมวด 1 การประชุมคณะกรรมการ ก.พ.ค. มาใช้บังคับโดยอนุโลม

บทเฉพาะกาล

ข้อ 21

การประชุมที่ได้ดำเนินการไปก่อนที่ระเบียบนี้จะใช้บังคับ ให้มีผลเป็นการประชุมตามนัยระเบียบนี้

ประกาศ ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

นายศราวุธ เมนะเศวต

ประธานกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม

ระเบียบ ก.พ.ค. ว่าด้วยการประชุมคณะกรรมการ ก.พ.ค. คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ พ.ศ. 2551

องค์ความรู้กฎหมาย/กฎหมายลำดับรอง/ระเบียบ_ก.พ.ค._ว่าด้วยการประชุมคณะกรรมการ_ก.พ.ค._คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ฯ_พ.ศ._2551.txt · Last modified: 2017/11/01 10:36 by puirui