OCSC Wiki

คลังกลางความรู้ด้าน HR

User Tools

Site Tools


องค์ความรู้กฎหมาย:กฎหมายลำดับรอง:ระเบียบ_ก.พ.ค._ว่าด้วยคุณสมบัติ_หลักเกณฑ์_และวิธีการคัดเลือกกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ฯ_พ.ศ._2551

ระเบียบ ก.พ.ค. ว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ พ.ศ. 2551

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธิีการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 31 (5) และ (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ก.พ.ค. จึงออกระเบียบไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1

ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบ ก.พ.ค. ว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ พ.ศ. 2551”

ข้อ 2

บุคคลซึ่งจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  • (1) มีสัญชาติไทย
  • (2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปี แต่ไม่เกินเจ็ดสิบปี
  • (3) เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปหรือเทียบได้ไม่ต่ำกว่านี้จากสถานศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศที่ ก.พ. รับรอง และ
  • (4) มีคุณสมบัติอื่นอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
    • (ก) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนิติกรระดับ 9 ขึ้นไป หรือนิติกรระดับเชี่ยวชาญ หรือรับราชการหรือเคยรับราชการมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีในตำแหน่งไม่ต่ำแหน่งไม่ต่ำกว่านิติกรระดับ 8 หรือนิติกรระดับชำนาญการพิเศษ หรือตำแหน่งท่ี่เรียกชื่ออย่างอื่นใหนหน่วยงานของรัฐที่เทียบเท่า
    • (ข) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งที่ที่ปฏิบัติงานด้านกฎหมายไม่ต่ำกว่าระดับ 8 หรือตำแหน่งระดับชำนาญการพิเศษมาแล้วไม่น้อยกว่าเจ็ดปี
    • (ค) รับราชการหรือเคยรับราชการมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกองหรือตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับต้น หรือตำแหน่งอื่นในหน่วยงานของรัฐที่เทียบเท่า
    • (ง) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักหรือตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับสุง หรือตำแหน่งอื่นในหน่วยงานของรัฐที่เทียบเท่า
    • (จ) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งรองอธิบดีขึ้่นไปหรือประเภทบริหารระดับต้นหรือระดับสูงหรือตำแหน่งที่เทียบเท่า
    • (ฉ) เป็นหรือเคยเป็นผู้สอนในสาขาวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือวิชาที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินในสถาบันอุดมศึกษา และดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์ แต่ในกรณีที่ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ต้องดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
    • (ช) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสาขากฎหมายมหาชน และรับราชการในหน่วยงานของรัฐนับแต่สำเร็จการศึกษาระดับดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี หรือสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขากฎหมายมหาชน และรับราชการในหน่วยงานของรัฐนับแต่สำเร็จการศึกษาระดับดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าหกปี
    • (ซ) เป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทนายความไม่น้อยกว่าสิบสองปี และมีประสบการณ์ในการดำเนินคดีปกครองเกี่ยวกับวินัยข้าราชการหรือการบริหารงานบุคคลไม่น้อยกว่าห้าปี
    • (ฌ) รับราชการหรือเคยรับราชการมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีในตำแหน่งอัยการจังหวัดหรือเทียบเท่า
    • (ญ) รับราชการหรือเคยรับราชการมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลแพ่งหรือศาลอาญาหรือเทียบเท่า หรือตุลาการประธรรมนูญศาลทหารกลาง

ข้อ 3

กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

  • (1) เป็นข้าราชการ
  • (2) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใด
  • (3) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
  • (4) เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ
  • (5) เป็นกรรมการในองค์กรกลางบริหารงานบุคคลในหน่วยงานของรัฐ
  • (6) ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอย่างอื่นหรือดำรงตำแหน่งหรือประกอบการใด ๆ หรือเป็นกรรมการในหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน อันขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกับที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอย่างอื่นหรือดำรงตำแหน่งหรือประกอบการใด ๆ หรือเป็นกรรมการในหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน อันขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.พ.ค. โดยอนุโลม

ข้อ 4

กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ให้มีวาระการดำรงตำแหน่งหกปี นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง ผู้ซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว อาจได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์อีกได้โดยวิธีการประเมินหรือวิธีการคัดเลือกตามที่ ก.พ.ค. กำหนด

ให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข๋ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าทีี่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ใหม่

กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ต้องทำงานเต็มเวลา

ข้อ 5

นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

  • (1) ตาย
  • (2) ลาออก
  • (3) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 2 และข้อ 3
  • (4) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
  • (5) ไม่สามารถปฏิบัติงานได้เต็มเวลาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ ให้นำระเบียบ ก.พ.ค. ว่าด้วยกรณีไม่สามารถปฏิบัติงานได้เต็มเวลาอย่างสม่ำเสมอ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
  • (6) คณะกรรมการ ก.พ.ค. ไม่น้อยกว่า 5 ใน 7 ของจำนวนกรรมการ ก.พ.ค. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่มีมติให้ออก

เมื่อมีกรณีตามวรรคหนึ่ง ให้นำข้อ 6 ถึงข้อ 9 มาใช้บังคับ

ข้อ 6

ให้ ก.พ.ค. เป็นคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ และให้เลขาธิการ ก.พ. หรือผู้ที่เลขาธิการ ก.พ. มอบหมายเป็นเลขานุการ

ข้อ 7

ให้ประธาน ก.พ.ค. ออกประกาศรับสมัครบุคคลทั่วไปเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ โดยกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่งที่คัดเลือก คุณสมบัติทั่วไปของผู้สมัคร การรับสมัคร การสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์ การประเมินประสบการณ์หรือผลงานและการตรวจสุขภาพ การรับฟังความคิดเห็นและการประกาศผลสอบ

ข้อ 8

การคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้เป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ให้ดำเนินการโดยวิธีการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ทดสอบความรู้โดยการสอบข้อเขียน ตรวจสุขภาพ ประเมินประสบการณ์หรือผลงาน พิจารณาความเหมาะสมโดยจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของบุคคลในแวดวงกฎหมายและการบริหารราชการแผ่นดิน สัมภาษณ์ แล้วจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกโดยให้บัญชีรายชื่อดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลาไม่เกินสองปีนับแต่วันประกาศผลการคัดเลือกหรือเม่อมีการประกาศรับสมัครใหม่ และแต่งตั้งบุคคลจากบัญชีรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกให้ทำหน้าที่เป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ในกรณีที่ผู้ได้รับคัดเลือกไม่อาจได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าท่ี่ดังกล่าวหรือกรณีที่มีตำแหน่งว่างลงและบัญชีรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกยังไม่หมดอายุ ให้คัดเลือกบุคคลลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกขึ้นแต่งตั้งให้เป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์

ข้อ 9

ผู้ได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ผู้ใดมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 3 ผู้นั้นต้องลาออกจากการเป็นบุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวและส่งหลักฐานให้เป็นที่เชื่อถือได้ว่าตนได้เลอกการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพหรือการประกอบการอันมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวต่อเลขานุการ ก.พ.ค. ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับการคัดเลือก

ในกรณีที่ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์มิได้ลาออกหรือเลิกการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพหรือการประกอบการดังกล่าวในเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้นั้นมิเคยได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ และให้ดำเนินการแต่งตั้งผู้สอบคัดเลือกได้ในลำดับถัดปในบัญชีรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ หรือจะดำเนินการคัดเลือกใหม่ก็ได้

ข้อ 10

การดำเนินการใด ๆ ตามระเบียบนี้ ก.พ.ค. จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อช่วยดำเนินการเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ได้

ข้อ 11

ให้ประธาน ก.พ.ค. รักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามระเบียบนี้

ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ประธาน ก.พ.ค. อาจหารือที่ประชุม ก.พ.ค. เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยก็ได้

ประกาศ ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

นายศราวุธ เมนะเศวต

ประธานกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม

ระเบียบ ก.พ.ค. ว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ พ.ศ. 2551

องค์ความรู้กฎหมาย/กฎหมายลำดับรอง/ระเบียบ_ก.พ.ค._ว่าด้วยคุณสมบัติ_หลักเกณฑ์_และวิธีการคัดเลือกกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ฯ_พ.ศ._2551.txt · Last modified: 2017/11/01 11:42 by puirui