OCSC Wiki

คลังกลางความรู้ด้าน HR

User Tools

Site Tools


องค์ความรู้กฎหมาย:กฎหมายลำดับรอง:ระเบียบ_ก.พ.ค._ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินสมรรถภาพเพื่อต่อวาระฯ_พ.ศ._2556

ระเบียบ ก.พ.ค. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินสมรรถภาพเพื่อต่อวาะระการดำรงตำแหน่งกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ พ.ศ. ๒๕๕๖

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๑ (๕) และ (๖) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ และข้อ ๔ ของระเบียบ ก.พ.ค. ว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ก.พ.ค. จึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑

ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบ ก.พ.ค. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินสมรรถภาพเพื่อต่อวาระการดำรงตำแหน่ง กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ พ.ศ. ๒๕๕๖

ข้อ ๒

ในระเบียบนี้ “การประเมินสมรรถภาพ” หมายความว่า การประเมินสมรรถภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ซึ่งจะมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งครบวาระ เพื่อแต่งตั้งให้เป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ต่อไปอีกวาระหนึ่ง โดยใช้วิธีการประเมินสุขภาพทางการและทางจิตใจ และการประเมินผลการปฏิบัติงาน

ข้อ ๓

ให้มีการประเมินสมรรถภาพของกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่มีอายุยังไม่ครบ ๗๐ ปีบริบูรณ์ในวันที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง และแสดงความประสงค์ขอเข้ารับการประเมินสมรรถภาพ โดยให้ ก.พ.ค. เป็นคณะกรรมการประเมินสมรรถภาพและให้เลขาธิการ ก.พ. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเลขาธิการ ก.พ. เป็นเลขานุการ

การดำเนินการตามวรรคหนึ่งให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง

ข้อ ๔

ให้ประธานกรรมการ ก.พ.ค. มีหนังสือแจ้งให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ทราบว่ามีจะมีการประเมินสมรรถภาพ และให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์แจ้งความประสงค์ขอเข้ารับการประเมินสรรถภาพให้ประธานกรรมการ ก.พ.ค. ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งดังกล่าว

ข้อ ๕

การประเมินสุขภาพทางกายและทางจิตใจ ให้กระทำให้คณะแพทย์โรงพยาบาลของรัฐ ที่ ก.พ.ค. เห็นสมควร โดยให้ประธานกรรมการ ก.พ.ค. มีหนังสือแจ้งให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ที่ได้แจ้งความประสงค์ไว้ตามข้อ ๔ เข้ารับการประเมินสุขภาพทางกายและทางจิตใจ ตามวันเวลาและโรงพยาบาลที่ ก.พ.ค. กำหนด โดยกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์เป็นผู้ออกค่าใช้าจ่ายเอง

ให้คณะแพทย์ที่ทำการประเมินสุขภาพตามวรรคหนึ่ง แจ้งผลประเมินสุขภาพไปให้ประธานกรรมการ ก.พ.ค. และผู้เข้ารับการประเมินสุขภาพทางกายและทางจิตใจทราบโดยเร็ว

กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ผู้ใดไม่ผ่านการประเมินสุขภาพทางกายและทางจิตใจไม่มีสิทธิได้รับการประเมินผลการปฏิบัติงาน

ข้อ ๖

ในการประเมินผลการปฏิบัติงาน ให้ ก.พ.ค. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการประเมินองค์ประกอบในการประเมิน และเกณฑ์การพิจารณาให้คะแนน แล้วประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

ให้ ก.พ.ค. ดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามวรรคหนึ่งแล้วแจ้งให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ผู้เข้ารับการประเมินทราบ กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ผู้ใดไม่ผ่านการประเมินไม่มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ต่ออีกวาระหนึ่ง ผลการประเมินของ ก.พ.ค. ให้เป็นที่สุด

ข้อ ๗

ให้ประธานกรรมการ ก.พ.ค. ออกคำสั่งแต่งตั้งให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ผ่านการประเมินตามข้อ ๖ เป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ต่อไปคราวละหนึ่งวาระ หรือถึงวันที่มีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์แล้วแต่กรณี

ข้อ ๘

ให้ประธานกรรมการ ก.พ.ค. รักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามระเบียบนี้

ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ประธาน ก.พ.ค. อาจหารือที่ประชุม ก.พ.ค. เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยก็ได้


ประกาศ ณ วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖

(นายศราวุธ เมนะเศวต)

ประธานกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม

ระเบียบ_ก.พ.ค._คุณสมบัติ_ก.พ.ค._เพื่อต่อวาระ_56.pdf

องค์ความรู้กฎหมาย/กฎหมายลำดับรอง/ระเบียบ_ก.พ.ค._ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินสมรรถภาพเพื่อต่อวาระฯ_พ.ศ._2556.txt · Last modified: 2019/07/10 13:45 by jittaporn.n_ocsc.go.th