โดยที่เป็นการสมควรให้มีระเบียบว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่ประจำอยู่ในต่างประเทศ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 (5) และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ก.พ. โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังจึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่ประจำอยู่ในต่างประเทศ พ.ศ. 2555”
ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป
ในระเบียบนี้
“ข้าราชการ” หมายความว่า ข้าราชการพลเรือนซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ประจำอยู่ในต่างประเทศ
“ตำแหน่งที่ประจำอยู่ในต่างประเทศ” หมายความว่า ตำแหน่งที่ อ.ก.พ. กระทรวงกำหนดให้เป็นตำแหน่งที่ประจำอยู่ในต่างประเทศตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ก.พ. กำหนดตามมาตรา ๔๗
“พ.ข.ต.” หมายความว่า เงินเพิ่มสำหรับข้าราชการซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ประจำอยู่ในต่างประเทศ
“บุตร” หมายความว่า บุตรชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่หมายความรวมถึงบุตรบุญธรรมหรือบุตร ซึ่งได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นแล้ว
ข้าราชการที่จะได้รับ พ.ข.ต. ตามระเบียบนี้จะต้องได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ประจำอยู่ในต่างประเทศ และได้ไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าว
ในกรณีที่คู่สมรสหรือบุตรของข้าราชการตามวรรคหนึ่งได้อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นการประจำกับข้าราชการในประเทศที่ข้าราชการผู้นั้นประจำการ ก็ให้ข้าราชการผู้นั้นได้รับ พ.ข.ต. สำหรับกรณีดังกล่าวตามระเบียบนี้ด้วย
ข้าราชการอาจได้รับ พ.ข.ต. ตามระเบียบนี้ ดังต่อไปนี้
(1) พ.ข.ต. สำหรับตนเองในกรณีที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ประจำอยู่ในต่างประเทศโดยให้ได้รับตามอัตราที่ ก.พ. กำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
(2) พ.ข.ต. สำหรับคู่สมรส โดยให้ได้รับในอัตราร้อยละสามสิบของอัตรา พ.ข.ต. ตาม (1)
(3) พ.ข.ต. สำหรับบุตร โดยให้ได้รับสำหรับบุตรจำนวนไม่เกินสามคน ในอัตราคนละร้อยละห้าของอัตรา พ.ข.ต.ตาม (1)
ให้ข้าราชการได้รับ พ.ข.ต. ตามข้อ 5 (1) ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(1) ให้ได้รับตั้งแต่วันที่ผู้นั้นเข้ารับหน้าที่จนถึงวันที่พ้นจากหน้าที่ ในกรณีที่ต้องส่งมอบงานในหน้าที่ ให้ได้รับจนถึงวันที่ส่งมอบงานเสร็จ แต่ไม่เกินสิบห้าวันนับแต่วันที่พ้นจากหน้าที่ในกรณีที่จำเป็นต้องส่งมอบงานเกินกว่าสิบห้าวัน ให้ได้รับสำหรับวันที่เกินนั้นเมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีเจ้าสังกัด แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินสามสิบวัน
(2) ในกรณีที่ได้รับคำ สั่งให้เดินทางไปรักษาการในตำแหน่ง หรือรักษาราชการแทนต่างสำนักงานในต่างประเทศซึ่งมิใช่ประเทศที่ข้าราชการผู้นั้นได้รับแต่งตั้งให้ไปประจำการ ในระหว่างเวลาที่เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งดังกล่าว ให้ได้รับ พ.ข.ต. ในอัตราของประเทศที่ข้าราชการผู้นั้นไปปฏิบัติราชการโดยให้ได้รับในอัตราตามระดับตำแหน่งของข้าราชการผู้นั้น แต่ถ้าเป็นกรณีที่ได้รับคำสั่งให้เดินทางมาช่วยราชการ รักษาการในตำแหน่ง หรือรักษาราชการแทน ในประเทศไทย ไม่ให้ได้รับ พ.ข.ต. นับแต่วันที่เดินทางกลับถึงประเทศไทย
(3) ในกรณีที่ประเทศไทยตัดสัมพันธ์ทางการทูตหรือลดระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศที่ประจำการ ถ้าผู้นั้นต้องเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในประเทศอื่นในระหว่างเวลาดังกล่าวให้ได้รับ พ.ข.ต. ในอัตราของประเทศที่ผู้นั้นไปปฏิบัติราชการโดยให้ได้รับในอัตราตามระดับตำแหน่งของข้าราชการผู้นั้น แต่ถ้าผู้นั้นได้เดินทางกลับประเทศไทยแล้วแต่ยังไม่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นให้คงได้รับ พ.ข.ต. ตามที่ได้รับอยู่เดิมต่อไปอีกได้ไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่เดินทางกลับถึงประเทศไทย
(4) ในกรณีที่ได้รับคำสั่งหรือได้รับอนุญาตให้ฝึกอบรมภายในประเทศที่ประจำการ ให้คงได้รับ พ.ข.ต. ตามที่ได้รับอยู่ แต่ถ้ากรณีที่ได้รับคำสั่งหรือได้รับอนุญาตให้ฝึกอบรมนอกประเทศที่ประจำการให้ได้รับ พ.ข.ต. สำหรับระยะเวลาดังกล่าวไม่เกินปีงบประมาณละสามสิบวันทำการนับตั้งแต่วันที่ผู้นั้นเดินทางออกจากประเทศที่ประจำการ
(5) ในกรณีที่ผู้นั้นลาป่วย ลาคลอดบุตร ลากิจส่วนตัว หรือลาพักผ่อน โดยได้รับเงินเดือนระหว่างการลาและอยู่ภายในประเทศที่ประจำการ ให้คงได้รับ พ.ข.ต. ตามที่ได้รับอยู่ แต่ถ้ากรณีผู้นั้นลาป่วย ลาคลอดบุตร ลากิจส่วนตัว หรือลาพักผ่อน โดยได้รับเงินเดือนระหว่างการลาและได้เดินทางออกนอกประเทศที่ประจำการ ให้ได้รับ พ.ข.ต. สำหรับกรณีดังกล่าวไม่เกินปีงบประมาณละสามสิบวันทำการนับตั้งแต่วันที่ผู้นั้นเดินทางออกจากประเทศที่ประจำการ กรณีการลาอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ไม่ให้ได้รับ พ.ข.ต.
(6) ในกรณีที่ผู้นั้นละทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุอันสมควร ไม่ให้ได้รับ พ.ข.ต. สำหรับระยะเวลาดังกล่าว
ให้ข้าราชการได้รับ พ.ข.ต. ตามข้อ 5 (2) ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(1) คู่สมรสนั้นต้องไม่เป็นผู้ซึ่งได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างจากทางราชการ
(2) ในกรณีที่คู่สมรสเดินทางเป็นครั้งคราวออกนอกประเทศที่ข้าราชการผู้นั้นประจำการถ้าปีหนึ่งมีเวลารวมกันไม่เกินเก้าสิบวัน ให้คงได้รับ พ.ข.ต. ตามอัตราที่ได้รับอยู่ แต่ถ้าปีหนึ่งมีเวลารวมกันเกินเก้าสิบวัน ไม่ให้ได้รับ พ.ข.ต. สำหรับวันที่เกินเก้าสิบวันนั้น แต่ถ้าปีหนึ่งมีระยะเวลารวมกันเกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ไม่ให้ได้รับ พ.ข.ต. ตลอดปีนั้น ยกเว้นเป็นการเดินทางออกนอกประเทศเพื่อติดตามไปอยู่ร่วมกับข้าราชการในต่างประเทศตามข้อ 6 (2)ให้ได้รับ พ.ข.ต. ในอัตราร้อยละสามสิบของอัตรา พ.ข.ต. ที่ข้าราชการได้รับ
(3) ในกรณีที่ข้าราชการไม่ได้รับ พ.ข.ต. ตามข้อ 6 (6) ไม่ให้ได้รับ พ.ข.ต. ตามข้อนี้ด้วยตลอดเวลาที่ข้าราชการไม่ได้รับ พ.ข.ต. ดังกล่าว
ให้ข้าราชการได้รับ พ.ข.ต. ตามข้อ 5 (3) ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(1) เพื่อประโยชน์ในการนับจำนวนบุตร ให้นับเรียงตามลำดับการเกิดก่อนหลัง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นบุตรที่เกิดจากการสมรสครั้งใด และไม่ว่าบุตรนั้นจะอยู่ในอำนาจปกครองของข้าราชการหรือไม่ เว้นแต่ในกรณีที่ยังไม่มีบุตรหรือมีบุตรยังไม่ถึงสามคน ต่อมามีบุตรแฝดซึ่งทำให้จำนวนบุตรเกินสามคนข้าราชการผู้นั้นจะได้รับ พ.ข.ต. สำหรับบุตรแฝดดังกล่าวทุกคน เมื่อบุตรแฝดดังกล่าวเป็นบุตรที่เกิดจากการจดทะเบียนสมรสในกรณีที่ข้าราชการผู้นั้นเป็นชาย หรือเป็นบุตรของตนเองในกรณีที่ข้าราชการผู้นั้นเป็นหญิง
(2) ในกรณีที่บุตรคนที่อยู่ในลำดับที่ได้รับ พ.ข.ต. ถึงแก่ความตายก่อนที่จะบรรลุนิติภาวะและมีผลทำให้บุตรคนที่ได้รับ พ.ข.ต. อยู่ มีจำนวนไม่ถึงสามคน ให้เลื่อนบุตรคนที่อยู่ในลำดับถัดไปขึ้นมาแทน แต่ถ้าบุตรที่อยู่ในลำดับถัดไปนั้นเป็นบุตรแฝด ให้เลื่อนบุตรแฝดมาแทนได้ทีละคน
(3) บุตรนั้นต้องยังไม่เคยสมรส
(4) บุตรนั้นต้องไม่ได้ประกอบอาชีพ
(5) บุตรนั้นต้องยังไม่บรรลุนิติภาวะ ในกรณีที่บรรลุนิติภาวะในขณะที่กำลังศึกษาอยู่ไม่เกินระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าเป็นครั้งแรก ให้ได้รับ พ.ข.ต. ต่อไปแต่ไม่เกินอายุยี่สิบห้าปีบริบูรณ์
(6) ในกรณีที่บุตรเดินทางเป็นครั้งคราวออกนอกประเทศที่ข้าราชการผู้นั้นประจำการ ถ้าปีหนึ่งมีเวลารวมกันไม่เกินเก้าสิบวัน ให้คงได้รับ พ.ข.ต. ตามอัตราที่ได้รับอยู่ แต่ถ้าปีหนึ่งมีเวลารวมกันเกินเก้าสิบวัน ไม่ให้ได้รับ พ.ข.ต. สำหรับวันที่เกินเก้าสิบวันนั้น แต่ถ้าปีหนึ่งมีระยะเวลารวมกันเกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ไม่ให้ได้รับ พ.ข.ต. ตลอดปีนั้น ยกเว้นเป็นการเดินทางออกนอกประเทศเพื่อติดตามไปอยู่ร่วมกับข้าราชการในต่างประเทศตามข้อ 6 (2) ให้ได้รับ พ.ข.ต. สำหรับบุตรในอัตราคนละร้อยละห้าของอัตรา พ.ข.ต. ที่ข้าราชการได้รับ
(7) ในกรณีที่ข้าราชการไม่ได้รับ พ.ข.ต. ตามข้อ 6 (6)ไม่ให้ได้รับ พ.ข.ต. ตามข้อนี้ด้วยตลอดเวลาที่ข้าราชการไม่ได้รับ พ.ข.ต. ดังกล่าว
(8) ในกรณีที่คู่สมรสเป็นข้าราชการซึ่งได้รับ พ.ข.ต. ด้วย และประจำการอยู่ในประเทศเดียวกันให้เลือกว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้รับ พ.ข.ต. สำหรับบุตร
ข้าราชการผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตหรือหัวหน้าคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การระหว่างประเทศ ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับหัวหน้าคณะผู้แทน เรียกโดยย่อว่า “พ.ค.ท.” ในอัตราร้อยละสิบของอัตรา พ.ข.ต. ตามข้อ 5 (1) ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามข้อ 6
ข้อ ๑๐ ข้าราชการซึ่งประจำการในเมืองหรือประเทศที่มีภาวะความเป็นอยู่ไม่ปกติ อาจได้รับเงินอีกจำนวนหนึ่งเพิ่มจาก พ.ข.ต. ที่ได้รับตามข้อ ๕ (๑) หรือ พ.ค.ท. ตามข้อ ๙ เพื่อเป็นค่าพาหนะในการเดินทางระหว่างประเทศปีละหนึ่งครั้ง โดยให้ได้รับเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินอัตราค่าบัตรโดยสารเครื่องบินไป - กลับระหว่างประเทศที่ประจำการกับประเทศไทย ในกรณีที่คู่สมรสหรือบุตรได้อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นการประจำกับข้าราชการผู้นั้นในเมืองหรือประเทศนั้นด้วย ก็อาจได้รับเงินเพิ่มนี้ด้วย
หลักเกณฑ์ในการได้รับเงินตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่ ก.พ. กำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
การนับปีตามระเบียบนี้ให้นับตั้งแต่วันที่ข้าราชการผู้นั้นเข้ารับหน้าที่ เว้นแต่ระเบียบนี้จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
การเบิกจ่าย พ.ข.ต. พ.ค.ท. และเงินตามข้อ 10 ตามระเบียบนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด
ในกรณีที่หัวหน้าส่วนราชการต้นสังกัดมีเหตุผลเป็นพิเศษที่เห็นสมควรให้ข้าราชการได้รับ พ.ข.ต. หรือ พ.ค.ท. นอกจากที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ให้หัวหน้าส่วนราชการต้นสังกัดเสนอ ก.พ. และกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยในกรณีของ พ.ข.ต. ให้พิจารณาอนุมัติเป็นการเฉพาะราย ส่วนกรณีของ พ.ค.ท. ให้พิจารณาอนุมัติเป็นการเฉพาะสำหรับตำแหน่ง
ข้าราชการผู้ใดมีคู่สมรสหรือบุตรอาศัยอยู่ร่วมด้วยเป็นการประจำในประเทศที่ข้าราชการผู้นั้นได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ประจำอยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้มีผลใช้บังคับ การนับเวลากรณีคู่สมรสหรือบุตรไม่ได้อยู่ร่วมกับข้าราชการเป็นครั้งคราว ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบที่ใช้บังคับอยู่เดิมจนกว่าจะครบรอบปีประจำการ
ข้าราชการผู้ใดได้รับ พ.ข.ต. สำหรับบุตรซึ่งไม่เป็นไปตามคำนิยามคำว่า “บุตร” หรือตามข้อ 4 หรือข้อ 5 (3) ที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ อยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้มีผลใช้บังคับให้ข้าราชการผู้นั้นคงได้รับ พ.ข.ต. สำหรับบุตรนั้นตามที่ได้รับอยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งให้พ้นจากหน้าที่หรือส่งมอบงานในหน้าที่ตามข้อ 6 (1)
ในระหว่างที่ยังมิได้กำหนดอัตรา หลักเกณฑ์ หรือวิธีการใดเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามระเบียบนี้ ให้นำระเบียบ อัตรา หลักเกณฑ์ หรือวิธีการเกี่ยวกับการได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่ประจำอยู่ในต่างประเทศที่ใช้บังคับอยู่เดิมมาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ จนกว่าจะได้มีการกำหนดอัตรา หลักเกณฑ์ หรือวิธีการตามระเบียบนี้
ให้เลขาธิการ ก.พ. รักษาการตามระเบียบนี้
ประกาศ ณ วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555
ยงยุทธ วิชัยดิษฐ
รองนายกรัฐมนตรี
ประธาน ก.พ
ระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่ประจำอยู่ในต่างประเทศ พ.ศ. 2555