OCSC Wiki

คลังกลางความรู้ด้าน HR

User Tools

Site Tools


องค์ความรู้กฎหมาย:หนังสือเวียน:2557:ว_2_กำหนดตำแหน่งประธานกรรมการตามกฎ_ก.พ._ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัยฯ

ว 2/2557 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งประธานกรรมการตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556

ที่ นร 1011/ว 2

สำนักงาน ก.พ. ถนนติวานนท์ จังหวัดนนทบุรี 11000

26 กุมภาพันธ์ 2557

เรื่อง กำหนดตำแหน่งประธานกรรมการตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556

เรียน (เวียนกระทรวง กรม จังหวัด)

โดยที่กฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 หมวด 4 การดำเนินการในกรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ข้อ 18 กำหนดว่า ในขณะที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ประธานกรรมการต้องดำรงตำแหน่งตามที่ ก.พ. กำหนด

ก.พ. จึงมีมติกำหนดตำแหน่งประธานกรรมการที่แต่งตั้งจากข้าราชการพลเรือนสามัญดังต่อไปนี้

1. กรณีผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง หรือระดับกรมที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือต่อรัฐมนตรี ประธานกรรมการต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง

  • 1.1 ประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับเดียวกับผู้ถูกกล่าวหา หรือ
  • 1.2 ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิในส่วนราชการอื่น

2. กรณีผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน 1 หรือประเภทบริหารระดับต้น ประธานกรรมการต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง

  • 2.1 ประเภทบริหารระดับไม่ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา หรือ
  • 2.2 ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิในส่วนราชการอื่น

3. กรณีผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับสูง ประธานกรรมการต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง

  • 3.1 ประเภทบริหารทุกระดับ หรือ
  • 3.2 ประเภทอำนวยการระดับไม่ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา หรือ
  • 3.3 ประเภทวิชาการระดับไม่ต่ำกว่าเชี่ยวชาญในส่วนราชการอื่น

4. กรณีผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับต้น ประธานกรรมการต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง

  • 4.1 ประเภทบริหารระดับสูง หรือ
  • 4.2 ประเภทอำนวยการระดับไม่ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา หรือ
  • 4.3 ประเภทวิชาการระดับไม่ต่ำกว่าระดับเชี่ยวชาญ หรือ
  • 4.4 ประเภทวิชาการระดับชำนาญการพิเศษในส่วนราชการอื่น

5. กรณีผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ ประธานกรรมการต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง

  • 5.1 ประเภทบริหารระดับสูง หรือ
  • 5.2 ประเภทวิชาการระดับไม่ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา

6. กรณีผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับตั้งแต่ระดับเชี่ยวชาญลงมา ประธานกรรมการต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง

  • 6.1 ประเภทบริหารทุกระดับ หรือ
  • 6.2 ประเภทอำนวยการระดับสูง หรือ
  • 6.3 ประเภทอำนวยการระดับต้น สำหรับกรณีผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับชำนาญการพิเศษลงมา หรือ
  • 6.4 ประเภทวิชาการระดับไม่ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา และไม่ต่ำกว่าระดับชำนาญการ หรือ
  • 6.5 ประเภททั่วไปไม่ต่ำกว่าระดับอาวุโส สำหรับกรณีผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับชำนาญการลงมา

7. กรณีผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไปทุกระดับ ประธานกรรมการต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง

  • 7.1 ประเภทบริหารทุกระดับ หรือ
  • 7.2 ประเภทอำนวยการระดับสูง หรือ
  • 7.3 ประเภทอำนวยการระดัต้น สำหรับกรณีกล่าวหาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับอาวุโสลงมา หรือ
  • 7.4 ประเภทวิชาการระดับไม่ต่ำกว่าระดับเชี่ยวชาญ หรือ
  • 7.5 ประเภทวิชาการระดับชำนาญการพิเศษ สำหรับกรณีผู้ถูกกลา่วหาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับอาวุโสลงมา หรือ
  • 7.6 ประเภทวิชาการระดับชำนาญการ สำหรับกรณีผู้ถูกกล่าวหาตำแหน่งตั้งแต่ระดับชำนาญงานลงมา หรือ
  • 7.7 ประเภททั่วไประดับไม่ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา และไม่ต่ำกว่าระดับชำนาญงาน

ในกรณีที่แต่งตั้งประธานกรรมการจากข้าราชการฝ่ายพลเรือนนอกจากที่กล่าวข้างต้น ประธานกรรมการต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับไม่ต่ำกว่าหรือเทียบได้ไม่ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา โดยให้นำหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1008/ว 30 ลงวันที่ 15 กันยายน 2553 เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเทียบตำแหน่งอย่างอื่นเท่ากับการดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาใช้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎ ก.พ. นี้

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือเป็นหลักในการปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ ได้แจ้งให้กรมและจังหวัดทราบแล้ว

ขอแสดงความนับถือ

(นายนนทิกร กาญจนะจิตรา)

เลขาธิการ ก.พ.

สำนักมาตรฐานวินัย

โทร. 0 2547 1628

โทรสาร 0 2547 1625

ว 2/2557 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งประธานกรรมการตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556

องค์ความรู้กฎหมาย/หนังสือเวียน/2557/ว_2_กำหนดตำแหน่งประธานกรรมการตามกฎ_ก.พ._ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัยฯ.txt · Last modified: 2018/01/05 10:11 by puirui