OCSC Wiki

คลังกลางความรู้ด้าน HR

User Tools

Site Tools


เชื่อว่าเป็นจริง_เป็นจริงอย่างที่เชื่อ

เชื่อว่าเป็นจริง เป็นจริงอย่างที่เชื่อ

เคยดูภาพยนตร์เรื่องMinority Report ไหมครับ เป็นเรื่องราวของโลกยุคอนาคต ซึ่งมีหน่วยงานหนึ่งที่ตั้งขึ้นเพื่อคอยตรวจจับอาชญากรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และจับกุมอาชญากรไว้ก่อนที่จะก่อเหตุขึ้น โดยอาศัยการหยั่งรู้ของผู้มีความสามารถพิเศษ 3 คน คล้ายการนิมิตหรือการทำนายครับ พระเอกของเรื่องเป็นหัวหน้าหน่วยงานดังกล่าวนี้ ซึ่งสามารถป้องกันการเกิดอาชญากรรมในอนาคตได้ทุกครั้ง ทั้งยังไม่เคยสงสัยเลยว่าผู้หยั่งรู้จะทำนายผิดพลาดได้หรือไม่ จนกระทั่งวันหนึ่ง ตัวเองต้องตกเป็นผู้ต้องสงสัยก่อเหตุฆาตกรรมชายแปลกหน้า และกำลังถูกตามล่าจากหน่วยงานของเขาเอง ดังนั้นเขาจึงเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้หยั่งรู้จะทำนายผิดพลาด และเริ่มสืบหาความจริงทั้งหมด เป็นภาพยนตร์ที่สนุกมากครับ ถ้ามีเวลาว่างช่วงปีใหม่นี้ก็น่าจะลองหามาดูกันครับ นอกจากความเพลิดเพลินที่ได้รับจากภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว ยังมีแง่มุมเล็กๆ จากภาพยนตร์เรื่องนี้ที่อยากให้ทุกท่านได้รู้จักกันครับ

ประเด็นหนึ่งที่ได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ การกระทำที่เป็นผลจากความเชื่อหรือการทำนาย เช่นการจับกุมอาชญากรก่อนที่จะก่ออาชญากรรมขึ้นจริง โดยอาศัยนิมิตของผู้หยั่งรู้ทั้ง 3 คน อาชญากรเหล่านี้จะถูกลงโทษโดยการแช่แข็งไว้ หลายท่านดูแล้วอาจคิดว่าการนำระบบเช่นนี้มาใช้น่าจะเป็นผลดี เพราะเป็นการล้อมคอกก่อนวัวหาย แต่ผู้เขียนขอย้ำเตือนเล็กน้อยว่า บุคคลที่ถูกจับกุมนั้นได้รับการลงโทษจากการกระทำที่ยังมิได้เกิดขึ้นจริง เป็นเพียงการคาดเดาว่าจะเกิดขึ้นเท่านั้น ความเป็นจริงแล้วเหตุการณ์ตามนิมิตนั้นอาจจะไม่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากบุคคลนั้นอาจยับยั้งชั่งใจได้ อาจมีปัจจัยอื่นใดส่งผลไม่ให้เหตุการณ์เกิดขึ้น หรืออาจเป็นเพียงการคิดไปเอง ทั้งหมดเกิดจากความเชื่อ การคาดการณ์ ก่อนที่ทุกท่านจะเข้าใจว่าคอลัมน์กระแสคนกระแสโลกเป็นคอลัมน์วิจารณ์ภาพยนตร์ ผู้เขียนขอพากลับเข้าฝั่งก่อนครับ ที่กล่าวมาทั้งหมดเพื่อบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นตัวอย่างของปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของความเชื่อที่มีต่อการกระทำของเรา นั่นคือ “ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง” (Self fulfilling prophecies)

โดยทั่วไปแล้วเรามักมีความเชื่อหรือความคาดหวังบางอย่างอยู่ก่อนแล้ว เช่น เรามักคิดว่าคนอ้วนมักเป็นคนอารมณ์ดี คนใส่แว่นมักเป็นเด็กเรียน เป็นต้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่คนอ้วนทุกคนจะเป็นคนอารมณ์ดี เราเรียกว่าเป็น ทฤษฎีบุคลิกภาพส่วนตัว ซึ่งการแสดงออกของเรามักอาศัยความเชื่อหรือความคาดหวังเหล่านี้เป็นข้อมูล และแสดงออกในทิศทางที่สอดคล้องกับความคาดหวังนั้น หากเราได้รับการตอบสนองในทิศทางที่สอดคล้องกับความคาดหวัง จะยิ่งเป็นการตอกย้ำความถูกต้องของความคาดหวังนั้นด้วย เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง นักจิตวิทยาบางท่านเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ผลกระทบพิกมาเลียน (Pygmalion effect) หรือผลของการยืนยันด้วยการกระทำ (Behavioral confirmation effect) แทน ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง เป็นกระบวนการที่ บุคคลมีความคาดหวังเกี่ยวกับบุคคลอื่นหรือเหตุการณ์บางอย่างแล้วเป็นสาเหตุให้บุคคลแสดงออกในทางที่จะยืนยันหรือสอดคล้องกับความคาดหวังนั้น

นักจิตวิทยาสังคมหลายท่านได้ศึกษาปรากฏการณ์นี้กันอย่างมากมาย ในปี 1968 Rosenthal และ Jacobson ทำการทดลองโดยแจ้งครูว่า นักเรียนที่อยู่ในความดูแลนั้น บางคนได้คะแนนจากการทดสอบเชาวน์ปัญญาสูงและมีศักยภาพในการพัฒนาได้ ขณะที่นักเรียนที่เป็นกลุ่มควบคุม ผู้วิจัยไม่ได้แจ้งข้อมูลอะไรให้ครูทราบ หลายเดือนต่อมาผู้วิจัยได้กลับมาทดสอบเชาวน์ปัญญาอีกครั้ง พบว่า นักเรียนที่ครูได้รับคำบอกกล่าวจากผู้วิจัยว่ามีความสามารถในการพัฒนามีคะแนนจากการทดสอบเชาวน์ปัญญาสูงกว่ากลุ่มควบคุม ทั้งๆที่ คะแนนที่ผู้วิจัยแจ้งในครั้งแรกนั้นเป็นการแจ้งแบบสุ่ม ไม่ได้มีการทดสอบจริงจัง

ทำไมนักเรียนกลุ่มที่ครูให้ความคาดหวังจึงมีคะแนนทดสอบเชาวน์ปัญญาสูงขึ้นได้จริง นักวิจัยทั้งสองท่าน อธิบายว่า เป็นเพราะครูให้ความสนใจเด็กกลุ่มนี้มากกว่า ให้งานที่ท้าทายมากกว่า และมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กกลุ่มนี้อย่างมีคุณภาพมากกว่า กล่าวได้ว่า ครูแสดงออกในทางที่เอื้อต่อการพัฒนากับเด็กกลุ่มนี้ และท้ายที่สุดเด็กกลุ่มนี้ก็กลายเป็นเด็กฉลาดได้จริง นอกจากนี้ การที่ครูอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับเด็ก จึงเป็นเหตุให้ข้อมูลของผู้วิจัยมีน้ำหนักมากขึ้นได้

ในปี 1977 Snyder, Tanke และ Berscheid ทำการทดลองโดยให้นักศึกษาชายสนทนาทางโทรศัพท์กับนักศึกษาหญิงซึ่งเป็นหน้าม้าของผู้วิจัย ทั้งนี้ก่อนการสนทนาผู้วิจัยได้แสดงรูปนักศึกษาหญิงซึ่งมีทั้งน่าดึงดูดใจและไม่ดึงดูดใจให้นักศึกษาชายดู ผลการทดลองพบว่า นักศึกษาชายที่คาดหวังว่าคู่สนทนา น่าดึงดูดใจสนทนาด้วยดีกว่าอีกกลุ่มที่คิดว่าคู่สนทนาไม่น่าดึงดูดใจ จากผลการทดลอง 2 ชิ้นนี้ คงทำให้ท่านเห็นว่าความเชื่อหรือความคาดหวังนั้นมีอิทธิพลต่อการแสดงออก หรือยืนยันถึงอิทธิพลของปรากฏการณ์นี้ได้

โดยปกติแล้ว เรามักมีความเชื่อ อคติหรือการตัดสินใจล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง การสร้างความคาดหวังเป็นธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เมื่อเราต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยหรือการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันเป็นครั้งแรก การสร้างความคาดหวังจะช่วยให้เราสามารถแสดงออกได้ง่ายขึ้น เป็นตัวชี้นำว่าเราจะแสดงงออกในทิศทางใด ทั้งนี้ พึงระวังว่าการแสดงออกของอีกฝ่ายอาจเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อการแสดงออกตามความคาดหวังของเรา มิใช่เป็นตัวตนที่แท้จริงของอีกฝ่าย

ในชีวิตประจำวัน บ่อยครั้งที่เรามักจะหาข้อมูลที่สนับสนุนความเชื่อหรือความคาดหวังของเรามากกว่าข้อมูลที่ขัดแย้ง จนบางครั้งเราอาจจะบิดเบือนการรับรู้ของเราให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับความเชื่อหรือความคาดหวังที่เรามี ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ คำทำนายของหมอดู หากหมอดูทำนายว่าท่านจะเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วท่านเกิดความกังวล ความเครียด สุดท้ายแล้วท่านก็ป่วยขึ้นมา เช่นนี้แล้วท่านคงคิดว่าหมอดูช่างทำนายได้แม่นยำนัก

จากข้อมูลข้างต้น เราสามารถนำปรากฏการณ์นี้มาใช้ประโยชน์ในชีวิตการทำงานได้อย่างน่าสนใจทีเดียว เช่น

1) การคัดเลือกบุคลากรหรือการสัมภาษณ์งานนั้น ผู้สัมภาษณ์จะประเมินผู้ถูกสัมภาษณ์ทั้งจากข้อมูลในใบสมัคร การตอบคำถาม และบุคลิกภาพ หากผู้สัมภาษณ์มีความคาดหวังบางอย่างแล้ว ย่อมมีอิทธิพลต่อการแสดงออกของผู้สัมภาษณ์ได้ เช่น ผู้สัมภาษณ์ที่เป็นชายสัมภาษณ์หญิงสาวหน้าตาดี อาจสัมภาษณ์อย่างเป็นมิตร แต่ถ้าสัมภาษณ์หญิงสาวหน้าตาธรรมดา ก็อาจไม่ให้ความสนใจผู้ถูกสัมภาษณ์มากนัก เช่นนี้ผู้ถูกสัมภาษณ์อาจแสดงออกในทางที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อเพื่อให้เกิดความน่าสนใจขึ้น เช่น ตอบคำถามได้อย่างชัดเจน ตรงประเด็น มีข้อมูลพร้อม เป็นต้น

2) การสื่อสารระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง ลูกน้องมักจะตีความความหมายของการแสดงออกของหัวหน้า ซึ่งอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับความหมายที่หัวหน้าต้องการสื่อก็ได้ เช่น เมื่อลูกน้องเสนองานแล้วหัวหน้าแสดงท่าทางนิ่งเฉย ลูกน้องก็อาจตีความว่าหัวหน้าไม่ชอบใจได้ อาจกลายเป็นความคับข้องใจต่อกันได้ ทั้งที่อาจเป็นบุคลิกภาพปกติของหัวหน้าคนนี้ การแสดงออกทุกอย่างของเราจะกลายเป็นข้อมูลให้ผู้อื่นตีความเกี่ยวกับเราได้ จึงควรแสดงออกให้เหมาะสมกับสถานการณ์ หากท่านพอใจงานที่ลูกน้องเสนอ การชื่มชมอย่างจริงใจเพียงเล็กน้อยก็ทำให้ลูกน้องเข้าใจท่านแล้ว

3) หัวหน้าสามารถสร้างให้ลูกน้องเกิดความเชื่อมั่นในตนเองได้ การให้ความใส่ใจ ให้ผลป้อนกลับเวลาทำงาน การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี มอบหมายงานที่มีความท้าทาย มีความสำคัญ เหล่านี้เป็นการสร้างให้ลูกน้องเกิดความเชื่อว่าหัวหน้าเห็นความสามารถของตน ซึ่งมีส่วนช่วยให้ลูกน้องทำงานมีประสิทธิภาพขึ้นได้ ทั้งนี้ควรแสดงออกในระดับที่เหมาะสมและด้วยความจริงใจ โดยเฉพาะช่วงแรกของการทำงาน เพราะในช่วงแรกของการทำงานลูกน้องยังมีข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรหรือหน้าที่ของตนเองไม่มากนัก ทำให้สร้างความคาดหวังได้ง่าย

บทความนี้มิได้ตัดสินว่าการทำความเชื่อนั้นถูกหรือผิด แต่เพื่อให้เราควรตระหนักว่า ความเชื่อหรือความคาดหวังนั้นมีอิทธิพลกับการแสดงออกของเราได้ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เราถูกครอบงำจนเกินไป จึงควรแสวงหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น ทั้งด้านที่สอดคล้องหรือขัดแย้งกับความเชื่อหรือความคาดหวังของเรา และระวังการด่วนสรุปเกี่ยวกับบุคคลอื่นหรือ สถานการณ์ต่างๆ เพราะการสรุปนั้นอาจเป็นผลจากความเชื่อหรือความคาดหวังของตนเองได้ การพิจารณาสิ่งใดขอให้มองอย่างที่สิ่งนั้นเป็นจริง มิใช่มองอย่างที่เราอยากให้เป็น

ช่วงท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้ เหตุการณ์เกิดขึ้นจริงตามนิมิตของผู้หยั่งรู้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดครับ จะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องไปหาชมกันเองครับ เดี๋ยวจะเสียอรรถรสในการชม แต่สุดท้ายแล้วพระเอกของเราก็ได้เรียนรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามความเชื่อ ความคาดหวัง หรือคำทำนาย ก็ได้

คเณศ ศิรินภากุล

สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงาน ก.พ.

มกราคม 2553

เชื่อว่าเป็นจริง_เป็นจริงอย่างที่เชื่อ.txt · Last modified: 2018/05/22 09:57 by weshayun