OCSC Wiki

คลังกลางความรู้ด้าน HR

User Tools

Site Tools


เพื่อให้ได้มาซึ่ง_คนเก่ง

เพื่อให้ได้มาซึ่ง “คนเก่ง”

การบรรยายเรื่อง “ทุนรัฐบาลเพื่อดึงดูดผู้มีศักยภาพสูง” ที่จัดสรรโดยสำนักงาน ก.พ. โดยได้รับความร่วมมือจาก กลุ่มข้าราชการในโครงการพัฒนาข้าราชการคลื่นลูกใหม่ในราชการไทย ( New Wave Leader) และ กลุ่มข้าราชการที่อยู่ใน ระบบข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง (HiPPS) จากส่วนราชการต่างๆ เข้าร่วมประชาสัมพันธ์ เพื่อดึงดูดผู้มีศักยภาพสูงที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาในประเทศ ซึ่งจะทำการประชาสัมพันธ์เชิงรุกโดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ นิสิตนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีสุดท้ายของการศึกษา

รูปแบบของทุนการศึกษานี้จะเป็นการให้ทุนการศึกษาสำหรับปีการศึกษาในการศึกษาชั้นปีการศึกษาสุดท้ายในสถาบันที่ผู้ได้รับทุนศึกษาอยู่ และจะต่อยอดโดยให้ทุนการศึกษาในระดับชั้นปริญญาโท ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยที่ผู้ได้รับทุนจะต้องกลับมาชดใช้ทุนตามสัญญาที่ตกลงไว้กับสำนักงาน ก.พ. โดยมีการเดินสายประชาสัมพันธ์ไปตามสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ

หากรูปแบบการสรรหาและเลือกสรรบุคคลเข้ารับราชการ สามารถดำเนินการให้หลากหลายได้มากกว่าที่เป็นมาในอดีต ประเทศน่าจะสามารถดึงดูดคนเก่ง คนมีความสามารถ เข้ามาได้มากขึ้น จริงอยุ่ที่ สำนักงาน ก.พ. เป็นหน่วยงานหลักของประเทศ ที่ดูแลการสรรหาและเลือกสรรบุคคลเข้ารับราชการ แต่ รูปแบบการสอบบรรจุเข้ารับราชการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่เป็นรูปแบบการสอบ ภาค ก ภาค ข ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น รูปแบบการสอบภาค ก ภาค ข นั้น ยึดหลักที่ความเป็นธรรม ความเสมอภาค และไม่เลือกปฎิบัติ

โดยเป้าหมายเพื่อต้องการให้ประชาชนทั่วไปมีโอกาสที่จะได้รับราชการ การกำหนดเกณฑ์การผ่านการสอบภาค ก. ไว้ที่ 60% เป็นการเปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถเข้ามารับราชการได้มากขึ้น แต่การที่กำหนดเกณฑ์ไว้ในระดับกลางๆก็ทำให้ยากต่อการที่จะเลือกสรรบุคลากรที่เป็นระดับหัวกระทิ เพราะทุกคนที่ขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ทุกคนได้รับโอกาสที่จะบรรจุเข้ารับราชการเท่าๆ กัน

หากมองในมุมกลับกันในตลาดแรงงาน ภาคเอกชนไม่จำเป็นที่จะต้องยึดหลักเกณฑ์เดียวกับที่ทางภาครัฐใช้ ภาคเอกชนสามารถระบุความต้องการในบุคลากรที่หน่วยงานต้องการได้ ภาคเอกชนบางแห่งสามารถเลือกที่จะรับบุคคลหนึ่ง หรือไม่รับบุคคลหนึ่งเข้าทำงานได้ ภาคเอกชนสามารถกำหนด requirement ของบุคลากรที่ทางองค์กรต้องการได้ละเอียดและเฉพาะเจาะจงมากกว่าภาคราชการ ยกตัวอย่างเช่น ภาคเอกชนอาจจะระบุลงไปให้ประกาศรับสมัครว่า รับแต่บัณฑิตที่จบจากสถาบันการศึกษาจากต่างประเทศ หรือรับเฉพาะบัณฑิตเกียรตินิยมก็ได้ อีกทั้งแนวการปฏิบัติแบบ Headhunter ไม่ว่าจะเป็น การเข้าไปรับบุคคลเข้าทำงานตั้งแต่ที่บุคคลผู้นั้นยังไม่จบการศึกษา หรือแม้กระทั่งการซื้อตัวบุคคลจากหน่วยงานอื่นๆ บริษัท A สามารถระบุไปเลยได้ว่า จะรับเด็กที่จบจากมหาวิทยาลัย X จะไม่รับเด็กที่จบจากมหาวิทยาลัย Y หรือการทำ Campus Recruitment

ซึ่งหากภาคราชการทำเช่นนั้น ก็คงต้องขึ้นศาลกันสนุกสนาน แล้วทางออกของภาคราชการต่อสถานการณ์นี้คืออะไร? ภาครัฐควรทำอย่างไรก่อนที่บุคลากรที่เก่ง มีความสามารถจะถูกดึงไปสู่ภาคเอกชนมากเกินไป

คำว่า “การสรรหา” ไม่ได้หมายความถึงการสอบแข่งขันเพียงอย่างเดียว ทางออกหนึ่งที่น่าสนใจต่อสถานการณ์นี้ก็คือ “การคัดเลือก” ผ่านทาง “ทุนการศึกษา” ท่านผู้อ่านอาจมีคำถามว่า “แล้วก่อนหน้านี้ภาคราชการก็มีการให้ทุนการศึกษาเป็นปกติอยู่แล้วไม่ใช่หรือ?” คำตอบก็คือ “ใช่” แต่การให้ทุนในอดีตก็ยังเป็นการให้ทุนการศึกษาแบบเชิงรับเช่นกัน กล่าวคือ หน่วยงานต่างๆ มีการจัดสรรทุนการศึกษาไว้ รอให้คนมาสมัคร ซึ่งมีโอกาสที่ผู้สมัครอาจจะไม่ใช่ผู้ที่มีคุณสมบัติที่หน่วยงานนั้นๆ ต้องการอย่างแท้จริงก็เป็นได้

รูปแบบของ “ทุนรัฐบาลเพื่อดึงดูดผู้มีศักยภาพสูง” ของสำนักงาน ก.พ. จึงเป็นสัญญาณที่ดีว่า ภาครัฐไม่ได้นิ่งเฉยต่อการสรรหาและเลือกสรรบุคลากรที่มีความสามารถแข่งกับทางภาคเอกชน โดยการลงไปถึงระดับนิสิต นักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งอย่างน้อยน่าจะช่วยให้ภาคราชการมีความสามารถในการแข่งขันดึงตัวบุคลากรในตลาดแรงงาน สู้กับภาคเอกชนได้เพิ่มขึ้น

นอกจาก “ทุนรัฐบาลเพื่อดึงดูดผู้มีศักยภาพสูง” แล้วสำนักงาน ก.พ. ยังได้พัฒนารูปแบบการให้ทุนการศึกษาแบบใหม่ๆ ยกตัวอย่างเช่น ทุนสร้างสรรค์นวตกรรมภาครัฐ หรือเรียกกันภาษาชาวบ้านๆ ว่า “ทุนช้อนซื้อ” ที่เป็นทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ในสถาบันการศึกษาในต่างประเทศที่ ก.พ. รับรอง เพื่อดึงให้กลุ่มนักศึกษาเหล่านั้นกลับมาใช้ความรู้ความสามารถในการพัฒนาประเทศ

นอกเหนือจากการดำเนินการที่สำนักงาน ก.พ. ดำเนินการอยู่ หน่วยงานอื่นๆ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่างมีการพัฒนาโครงการที่จะช่วยดึงผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้าสู่ภาคราชการเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ก็ได้มีการพัฒนา ”โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่” ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับสถาบันการศึกษาที่จะพัฒนาผู้เข้าร่วมโครงการฯ ให้สามารถเป็นผู้นำในการบริหารการเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านความคิด ด้านวิชาการ และเทคนิคการบริหารจัดการองค์กร เข้าสู่ภาคราชการ โดยทำการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการจาก ผู้สมัครที่จบการศึกษาระดับปริญญาโท และ ปริญญาเอก ซึ่งหากศึกษาลงไปในโครงการต่างๆเหล่านี้ โครงการเหล่านี้มีการวางแผนพัฒนาผู้เข้าร่วมโครงการอย่างเป็นระบบ ซึ่งน่าจะทำให้มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า บุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่เข้ามาในระบบ จะสามารถใช้ความรู้ความสามารถได้อย่างเต็มที่ และไม่ถูกปล่อยให้เป็น Dead Wood อยู่ในระบบราชการ

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นสัญญาณอันดีว่าภาคราชการไทย ไม่ได้นิ่งนอนใจ หรือปล่อยปละละเลย การสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้าสู่ภาคราชการ และเชื่อมั่นว่า ในอนาคต รูปแบบการสรรหาและเลือกสรรบุคคลของภาครัฐ จะมีการพัฒนารูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อการแข่งขันของตลาดแรงงาน ที่ทวีความรุนแรงขึ้นตามสภาพเศรษฐกิ0 การสรรหาเชิกรุกเหล่านี้นั้นจะช่วยให้ เราได้ “คนเก่ง” และ “คนดี” เข้ามาทำงานให้กับประเทศชาติเพิ่มมากขึ้น

เวชยันต์ เอี่ยมสุธน

สำนักตรวจสอบและประเมินผลกำลังคน

สำนักงาน ก.พ.

เมษายน 2553

เพื่อให้ได้มาซึ่ง_คนเก่ง.txt · Last modified: 2018/05/22 11:20 by weshayun