มีหลักการสำคัญ คือ การเปลี่ยนระบบโครงสร้างของข้าราชการพลเรือนจากระบบชั้นยศ (Rank Classification) เป็นระบบจำแนกตำแหน่ง (Position Classification) ยกเลิกชั้นข้าราชการ และใช้ระดับตำแหน่งเป็นแกนสำหรับการบริหารงานบุคคลโดยมีมาตรฐานกลางในการกำหนดระดับตำแหน่งเพียงหนึ่งเดียว คือ การมี Common Level (C) ที่กำหนดร่วมกัน ๑๑ ระดับ
หน้าที่ของ ก.พ. จึงเปลี่ยนจาก “พิจารณากำหนดชั้นและอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งต่าง ๆ” เป็น “พิจารณากำหนดจำนวนตำแหน่งและระดับตำแหน่งแยกเป็นสายงาน พร้อมทั้งกำหนดคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้น ๆ ในส่วนราชการต่าง ๆ” ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น และจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่งไว้เป็นบรรทัดฐานในการกำหนดตำแหน่งด้วย มีการยกเลิก อ.ก.พ.ภาค และยกเลิกข้าราชการพลเรือนวิสามัญ ส่วนหน้าที่อื่น ๆ ที่เคยมีตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๙๗ ก็ยังคงมีอยู่ตามเดิม
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้มีการปรับปรุงสาระสำคัญบางประกาศของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช ๒๕๑๘ กล่าวคือ กฎ ก.พ. ต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี จากเดิมไม่ต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี การตีความและวินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน จึงจะใช้บังคับได้ จากเดิมที่ไม่ต้องให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก่อน และปรับปรุงผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งอธิบดี จากเดิมปลัดกระทรวง เป็นรัฐมนตรีเจ้าสังกัด เป็นต้น