พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช ๒๕๓๕ ได้มีการปรับเปลี่ยนหลักการสำคัญ โดยปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่จากการปกครองและควบคุมมาเป็นการกำกับดูแล ส่งเสริม อำนวยความสะดวก และติดตามประเมินผล อันต้องการประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการให้บริหาร พร้อม ๆ กับความจำเป็นที่จะต้องควบคุมกำลังคนให้มีขนาดเหมาะสมกับภารกิจและบทบาทดังกล่าว แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีขีดความสามารถสูงในการขับเคลื่อนภารกิจของรัฐบาล โดยมีการปรับปรุงหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการใช้ตำแหน่ง ด้านค่าตอบแทน ด้านการเสริมสร้างคุณธรรมของข้าราชการ ด้านการเสริมสร้างประสิทธิภาพของข้าราชการ รวมทั้งมีการปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการ ก.พ. ให้มีความชัดเจนขึ้น เพื่อให้หัวหน้าส่วนราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลเข้ามาเป็นกรรมการและทำให้เกิดการประสานกันระหว่างหน่วยงานด้านแผนงาน แผนเงิน และแผนคน
นอกจากนี้ ยังปรับปรุงบทบาทของ ก.พ. จากการ “ควบคุม” เป็น “กำกับ ดูแล ตรวจสอบ แนะนำ และชี้แจง เพื่อให้กระทรวง ทบวง กรม ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้” เพิ่มบทบาทหน้าที่ของ ก.พ. ที่เคยเป็นที่ปรึกษาของคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายการบริหารงานบุคคลและการจัดระบบราชการพลเรือน มาเป็นเสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรฐานการบริหารงานบุคคลของข้าราชการฝ่ายพลเรือน และเกี่ยวกับการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมฝ่ายพลเรือน อีกทั้งยังมีการปรับปรุงองค์ประกอบและบาทบาทหน้าที่ของ อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม และ อ.ก.พ. จังหวัด ที่มุ่งเน้นการกระจายอำนาจการบริหารงานบุคคลและสร้างความโปร่งใสในการบริหารงานบุคคลให้มากขึ้น