Assessment Center กับการสรรหาและพัฒนานักบริหารของราชการไทย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ราชการไทยมีการปรับปรุงและพัฒนาเครื่องมือในการประเมินความรู้ ความสามารถสำหรับผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนักบริหารและพัฒนาผู้ที่เป็นนักบริหารอยู่แล้วอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งรองอธิบดี อธิบดี หรือผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เครื่องมือนี้จะช่วยให้ราชการมีนักบริหารที่มีคุณภาพเป็นที่เชื่อถือและศรัทธาของประชาชน ซึ่งในการพัฒนาเครื่องมือเหล่านี้ นอกจากความเที่ยงตรง ความน่าเชื่อถือของผลการประเมินที่มาจากเครื่องมือต่าง ๆ แล้ว ยังต้องดูความคุ้มค่าในการลงทุนของงบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชนด้วย
ในส่วนของการเสาะหาเครื่องมือใหม่ๆ นั้น Assessment Center Method (ACM) เป็นวิธีการหนึ่งที่สำนักงาน ก.พ. ให้ความสนใจที่จะนำมาใช้กับการพัฒนา/สรรหานักบริหารACM นั้น เป็นวิธีประเมินที่วางอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า “พฤติกรรมที่ผ่านมาในอดีตสามารถทำนายพฤติกรรมในอนาคตได้” (past behavior predict future behavior) โดย ACM ถูกใช้เพื่อสรรหาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนักบริหารที่เป็น CEO หรือ MD ของบริษัทชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือใช้เพื่อการพัฒนานักบริหารหรือผู้ที่มีศักยภาพสูงขององค์กร (Talent) ก็ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่องค์กรกำหนดไว้
ACM มีความแตกต่างจากเครื่องมือการประเมินอื่นๆ ในแง่ของความเป็น บูรณาการ เพราะเป็นการประเมินหลายสมรรถนะโดยหลายวิธีการ (กิจกรรม) ซึ่งแต่ละกิจกรรมสามารถประเมินได้มากกว่าหนึ่งสมรรถนะ โดย ACM อาจประกอบด้วย การสัมภาษณ์ แบบทดสอบ สถานการณ์จำลอง (การแสดงบทบาทสมมุติ - role play) เป็นต้น กิจกรรมต่าง ๆ ใน ACM ได้ถูกออกแบบให้มีความใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกับบริบทของงานในตำแหน่งที่จะแต่งตั้งหรือตำแหน่งเป้าหมายเพื่อให้โอกาสผู้เข้าประเมินได้แสดงออกถึงพฤติกรรมที่จะบ่งชี้ถึงสมรรถนะที่จำเป็นต่อตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งแต่ละกิจกรรมใน ACM จะวัดสมรรถนะที่จำเป็นต่อตำแหน่งมากกว่าหนึ่งสมรรถนะเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าผู้ประเมิน (Assessee) จะสามารถแสดงพฤติกรรมที่บ่งชี้สมรรถนะที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานในอนาคตได้
จุดเด่นสำคัญอีกประการหนึ่งของ ACM คือ การมีผู้ประเมิน (Assessor) หลายคนคอยสังเกตพฤติกรรมของผู้เข้าประเมินหนึ่งคน ซึ่งผู้ประเมินดังกล่าวจะต้องผ่านการอบรมการเป็นผู้ประเมินและได้รับรองจากสถาบันที่เชื่อถือได้ ในการดำเนินการ ACM ส่วนใหญ่แล้วจะจัดให้ผู้เข้าประเมิน 1 คน ได้รับการประเมินโดยผู้ประเมิน 2 คน โดยเมื่อสิ้นสุดกิจกรรมแต่ละกิจกรรมผู้ประเมินแต่ละคนจะให้คะแนนสมรรถนะในแต่ละกิจกรรมและหลังจากนั้นผู้ประเมินจะอภิปรายเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้เข้ารับการประเมินและผลการให้คะแนน โดยผู้ประเมิน แต่ละคนจะต้องชี้แจงเหตุผลที่ให้คะแนน ซึ่งเราเรียกกระบวนการอภิปรายนี้ว่า “การซักฟอก” หรือ “wash up” สุดท้ายผลการประเมินจะจบลงที่คะแนนที่เป็นเอกฉันท์ (Consensus) มิใช่เป็นค่าเฉลี่ยแต่เป็นผลคะแนนที่ผ่านการพิจารณามาแล้วเป็นอย่างดี ซึ่งวิธีการนี้จะเป็นกระบวนการที่ลดอคติ (Bias) และนามธรรม (Subjective) ของผู้ประเมินได้ด้วย
สรุปได้ว่าการประเมินโดย ACM เป็นวิธีการประเมินสมรรถนะในลักษณะ บูรณาการผ่านกิจกรรมการประเมินที่หลากหลายและมีการให้คะแนนโดยผู้ประเมินหลายคน ซึ่งการประเมินโดยวิธีดังกล่าว มีค่าความแม่นยำในการทำนาย (Productive accuracy) สูง (ร้อยละ 68) ซึ่งถือว่าเป็นค่ามากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องมืออื่นๆ อย่างไรก็ดี ACM ก็มีข้อจำกัดในเรื่องระยะเวลาการประเมินที่นาน (1 – 2 วัน) รวมถึงมีค่าใช้จ่ายสูง
จากที่กล่าวข้างต้น AC M จึงเป็นตัวเลือกหนึ่งในการปรับปรุงและพัฒนาเครื่องมือการประเมินสมรรถนะ สำหรับผู้บริหารในราชการ อย่างไรก็ดี การนำ ACM มาใช้คงต้องคำนึงถึงระยะเวลาการประเมินและค่าใช้จ่ายด้วย แต่ทั้งนี้ หากเราคิดว่า ผู้บริหารของราชการไม่ว่าจะเป็นรองอธิบดี อธิบดี หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด จะทำประโยชน์ให้แก่ราชการและประเทศอย่างมากมาย ข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาการประเมินและค่าใช้จ่ายก็อาจจะเป็นประเด็นรองก็ได้
อย่างไรก็ดี การใช้ ACM เพื่อประเมินสมรรถนะคงมิใช่คำตอบสุดท้าย หากแต่เป็นเพียงตัวเลือกหนึ่งของเครื่องมือที่มีอยู่อย่างหลากหลาย เพราะจากรายละเอียดข้างต้นผู้อ่านคงพอเห็นว่าการประเมินโดยใช้ ACM ต่างจากการใช้เครื่องมือการประเมินอื่นๆ อย่างไร ต่อมาจะขอพูดถึงบทบาทหน้าที่ของผู้เข้ารับการประเมินว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร โดยทั่วไปการประเมินโดยใช้ ACM จะใช้เวลาในการประเมินประมาณ 1 – 2 วัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับจำนวนกิจกรรมและสมรรถนะที่ต้องการวัด โดยผู้เข้าประเมินจะต้องใช้ชีวิตอยู่ในศูนย์ประเมินและปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ที่กำหนด ยกตัวอย่างเช่น แสดงบทบาทสมมุติในสถานการณ์จำลองโดยผู้เข้ารับการประเมินจะต้องจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การจัดการกับลูกค้าจอมวีน ลูกน้องเจ้าปัญหา หรือการประชุมกลุ่ม เป็นต้น นอกจากนี้ อาจมีการทำแบบทดสอบ (in basket) ซึ่งจะมีเรื่องที่หลากหลายให้ตัดสินใจ อย่างไรก็ดี หากผู้อ่านจะต้องเข้ารับการประเมินโดยวิธี ACM ก็ไม่ต้องเครียดหรือกังวลใจมากนัก เนื่องจาก กิจกรรมจะมีความใกล้เคียงกับงานได้ปฏิบัติมาแล้ว โดยผู้เข้ารับการประเมินจะตัดสินโดยใช้ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่สั่งสมมา ทั้งนี้ หากหน่วยงานใดจะนำ ACM มาใช้คงจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์ ความต้องการ และทรัพยากรของหน่วยงานเป็นลำดับแรก
ศูนย์นักบริหารระดับสูง สำนักงาน ก.พ.
กรกฎาคม 2551