Could Your Personality Derail Your Career? Don’t Take These Traits to the Extreme.
Tomas Chamorro-Premuzic
การประสบความสำเร็จในการทำงานนั้น ควรพิจารณาบางแง่มุมของบุคลิกภาพด้วย เนื่องจากบางลักษณะที่อาจดูเหมือนไม่มีพิษมีภัยหรือแม้แต่เป็นประโยชน์ในบางสถานการณ์ แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ตรวจสอบก็อาจสร้างความเสียหายต่ออาชีพและองค์กรได้
สองทศวรรษที่ผ่านมา นักจิตวิทยาสองท่าน คือ โรเบิร์ตและจอยซ์ โฮแกน ได้ระบุลักษณะ 11 ประการที่เป็นอุปนิสัยด้านมืด (dark-side traits)
ซึ่งต่อมาได้มีการศึกษาพนักงาน ผู้จัดการ และผู้นำองค์กรหลายล้านคน พบว่า คนส่วนใหญ่แสดงอุปนิสัยด้านมืดเหล่านี้อย่างน้อย 3 อย่าง และราวร้อยละ 40 มีคะแนนของหนึ่งถึงสองอย่างสูงถึงระดับที่เสี่ยงต่อการขัดขวางความก้าวหน้าในอาชีพ
แม้ว่าการเปลี่ยนบุคลิกภาพด้านหลักๆ หลังจากอายุ 30 ปีเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่คุณสามารถควบคุมอุปนิสัยด้านมืดได้ในสถานการณ์ที่สำคัญ ผ่านการตระหนักรู้ตนเอง การตั้งเป้าหมายที่เหมาะสม และความเพียรพยายามในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
อุปนิสัยด้านมืดดังกล่าวนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1) กลุ่มอุปนิสัยปลีกตัว (Distancing Traits)
2) กลุ่มอุปนิสัยที่มีเสน่ห์ (Seductive Traits)
3) กลุ่มอุปนิสัยทำให้คนชอบ (Ingratiating Traits)
สำหรับกลุ่มอุปนิสัยปลีกตัว (Distancing Traits) นั้น คือกลุ่มอุปนิสัยของการปิดตัวที่ผลักไสผู้อื่นให้ออกไป ตัวอย่างเช่น อุปนิสัยถูกกระตุ้นได้ง่าย (Excitable) ที่มักอารมณ์เสียง่าย หรืออุปนิสัยขี้ระแวง (Skeptical) ที่ทำให้สร้างความเชื่อใจต่อกันได้ยาก รวมถึงอุปนิสัยสบายๆ (Leisurely) ที่ทำทีเหมือนผ่อนคลายและสุภาพ ทั้งที่จริงๆ แล้วต่อต้านความร่วมมือ เป็นต้น
ตรงข้ามกับกลุ่มแรก กลุ่มอุปนิสัยที่มีเสน่ห์ (Seductive Traits) กลับดึงดูดผู้คนให้เข้าหา อุปนิสัยในกลุ่มนี้มักพบในผู้นำที่แน่วแน่ (assertive leaders) และผู้นำที่มีบารมี (charismatic leaders) อย่างไรก็ตาม อุปนิสัยกลุ่มนี้อาจส่งผลเสียจากการนำให้คนอื่นๆ ประเมินตนเองสูงเกินไปและทำผิดพลาดได้ เช่น อุปนิสัยคึกคะนอง (Mischievous) ที่กระหายความเสี่ยงที่บ้าบิ่น
สุดท้าย กลุ่มอุปนิสัยทำให้คนชอบ (Ingratiating Traits) เป็นกลุ่มอุปนิสัยที่อาจฟังดูดีหากกล่าวถึงผู้ใต้บังคับบัญชา แต่สำหรับผู้นำนั้นอาจไม่ดีนัก ตัวอย่างเช่น คนที่ขยันขันแข็ง (Diligent) อาจพยายามทำให้หัวหน้าประทับใจด้วยการใส่ใจในรายละเอียดอย่างพิถีพิถัน แต่ก็อาจถูกแปลความเป็นการหมกมุ่นกับรายละเอียดที่ไม่สำคัญหรือเป็นการบริหารงานแบบจู้จี้จุกจิกกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้เช่นกัน
อุปนิสัยด้านมืดแต่ละกลุ่มอาจมีผลดีผลเสียแตกต่างกัน จากการศึกษาพนักงานจำนวน 4,372 คน จาก 256 สายงาน ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย พบว่า กลุ่มอุปนิสัยปลีกตัว (Distancing Traits) ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อทัศนคติในการทำงาน ภาวะผู้นำ การตัดสินใจ และทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ ในขณะที่กลุ่มอุปนิสัยที่มีเสน่ห์ (Seductive Traits) อาจมีผลเชิงบวกในบางครั้ง เช่น ผู้นำที่มีชีวิตชีวา (Colorful) มักได้รับการประเมินจากหัวหน้าในระดับที่ดีกว่าผู้นำที่สงวนท่าที (Reserved) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การขาดอุปนิสัยด้านมืดเหล่านี้โดยสิ้นเชิงก็อาจเป็นอันตรายได้เช่นกัน สิ่งสำคัญจึงไม่ใช่การกำจัดจุดอ่อนของบุคลิกภาพ แต่คือการจัดการและใช้ให้เหมาะสม การมีอุปนิสัยเหล่านี้ในระดับปานกลางเป็นระดับที่ดีที่สุด
ในการประเมินอุปนิสัยด้านมืดของตนเองนั้น คุณสามารถเข้าไปประเมินแบบทดสอบฉบับย่อได้ที่ www.hoganx.io (จำเป็นต้องลงทะเบียน) หรือเพียงแค่เปรียบเทียบรูปแบบพฤติกรรมของคุณกับคำนิยามในตารางหน้าสุดท้าย ถ้าจะให้ดีไปกว่านั้น ลองสอบถามแนวโน้มที่คุณแสดงลักษณะอุปนิสัยดังกล่าวจากผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา ลูกค้าของคุณ หรือแม้แต่คนที่สนิทกับคุณซึ่งรู้จักคุณดีกว่าเพื่อนร่วมงาน นอกจากนี้ คุณยังสามารถเพิ่มการตระหนักรู้ตนเองผ่านกลไกการให้ข้อมูลป้อนกลับแบบเป็นทางการ (formal feedback mechanisms) อาทิ การประเมินการดำเนินงาน และการประเมินแบบ 360 องศา การระบุเขตอันตราย (danger zones) ก็เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากบริบทเป็นตัวกำหนดว่าอุปนิสัยด้านมืดแต่ละตัวจะมีปัญหามากหรือน้อยกว่ากันในบริบทนั้น ตัวอย่างเช่น คนที่มีจินตนาการ (Imaginative) ก็อาจเป็นประโยชน์หากทำงานอยู่ในตำแหน่งทางนวัตกรรม หรือทำงานกับผู้บังคับบัญชาที่มีลักษณะเป็นผู้ประกอบการ แต่ก็อาจเป็นข้อเสียหากทำงานด้านการจัดการความเสี่ยง หรือมีผู้บังคับบัญชาที่หัวโบราณ เป็นต้น
ลำดับถัดไปคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมอุปนิสัยด้านมืดในสถานการณ์ที่สำคัญ โดยอาจพยายามสร้างอุปนิสัยใหม่ขึ้น เช่น หากคุณเป็นคนสงวนท่าที (Reserved) ที่มักปล่อยให้คนอื่นสงสัยว่าคุณคิดอะไร ก็อาจลุกขึ้นพูดในที่ประชุมสักครั้ง หรือใช้อีเมล์ในการสื่อสารความคิดในประเด็นสำคัญๆ นอกจากนี้ อาจพยายามกำจัดพฤติกรรมบางอย่าง เช่น หากคุณเป็นคนมีชีวิตชีวา (Colorful) ก็อาจหลีกเลี่ยงการคุยเล่นในที่ทำงาน หรืออดกลั้นไม่อาสาตนเองในการนำเสนองานที่สำคัญ เพื่อเปิดโอกาสให้เพื่อนร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาได้ขึ้นเวทีบ้าง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจทำได้ยากในตอนแรก แต่ยิ่งฝึกฝนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำได้อย่างเป็นธรรมชาติและยิ่งมีแนวโน้มที่จะทำได้จนเป็นนิสัยมากขึ้นเท่านั้น
ความก้าวหน้าในอาชีพขึ้นอยู่กับว่าผู้คนมองคุณอย่างไร เมื่ออุปนิสัยด้านมืดส่งผลกระทบในทางลบต่อมุมมองที่ผู้อื่นมีต่อคุณ สิ่งนี้ก็จะกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางความสำเร็จทางอาชีพและภาวะผู้นำที่ดีของคุณด้วย ดังนั้น แม้ว่าการควบคุมอุปนิสัยด้านมืดเป็นเรื่องยาก แต่หากคุณสามารถระบุอุปนิสัยดังกล่าวของตนเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง โดยปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องจากข้อมูลป้อนกลับที่ได้รับ ชื่อเสียงในทางที่ดีของคุณก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งตามด้วยความเป็นไปได้ทางอาชีพและภาวะผู้นำที่เพิ่มขึ้นด้วย
คำนิยามของอุปนิสัยด้านมืด (Dark Traits Defined)
หมายเหตุ คลิกที่รูปเพื่อขยายภาพ
ที่มา : Chamorro-Premuzic, T. (2017). Could Your Personality Derail Your Career?. Harvard Business Review, 138-141
ลักษมีกนิษฐ์ ศุขวัฒน์
นักทรัพยากรบุคคลปฏิบัติการ
สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงาน ก.พ.
มิถุนายน 2561